บาลีวันละคำ

อายุวัฒนมงคล (บาลีวันละคำ 1,349)

อายุวัฒนมงคล

อ่านว่า อา-ยุ-วัด-ทะ-นะ-มง-คน

ประกอบด้วย อายุ + วัฒน + มงคล

(๑) “อายุ

รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น อา, แปลง ที่ ณุ เป็น อย (ณุ : + อุ : > อย + อุ = อยุ)

: อิ > อา + ณุ > อยุ : อา + อยุ = อายุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุดำเนินไปแห่งสัตวโลก” หมายความว่า สัตวโลกดำเนินไปได้ด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นหมดลง การดำเนินไปของสัตวโลกก็หยุดลงเพียงนั้น

อายุ” หมายถึง ชีวิต, ความสามารถดำรงชีวิต, การกำหนดอายุ, ความมีอายุยืน (life, vitality, duration of life, longevity)

(๒) “วัฒน

บาลีเป็น “วฑฺฒน” (วัด-ทะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วฑฺฒฺ (ธาตุ = เจริญ, เพิ่มขึ้น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วฑฺฒฺ + ยุ > อน = วฑฺฒน แปลตามศัพท์ว่า “การเจริญ” หมายถึง การเพิ่มขึ้น, การยกให้สูง, การบำรุง, การเพิ่มเติม, การทำให้เจริญขึ้น, การทำให้ยาวออกไป (increasing, augmenting, fostering; increase, enlargement, prolongation) ความหมายที่เราคุ้นกันก็คือ “ความเจริญ

วฑฺฒน ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตามหลักนิยม ใช้เป็น “วัฒน-” (วัด-ทะ-นะ-, มีคำอื่นสมาสท้าย) หรือ “วัฒน์” (วัด, อยู่ท้ายคำ)

(๓) “มงคล

บาลีเป็น “มงฺคล” (มัง-คะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –

1) มคิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อล ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (มคิ > มํคิ > มงฺคิ), ลบสระหน้า คือ อิ ที่ มคิ (มคิ > มค)

: มคิ > มํคิ > มงฺคิ > มงฺค + อล = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า (1) “เหตุให้ถึงความเจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์

2) มงฺค (บาป) + ลุ (ธาตุ = ตัด) + ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อุ ที่ ลุ (ลุ > )

: มงฺค + ลุ = มงฺคลุ > มงฺคล + = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องตัดบาป

มงฺคล” หมายถึง เหตุที่นํามาซึ่งความเจริญ, สิ่งซึ่งถือว่าจะนำสิริและความเจริญมาสู่และป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายมากล้ำกราย

ความหมายที่เข้าใจกัน คือ :

(1) มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มีมหกรรมหรืองานฉลอง (auspicious, prosperous, lucky, festive)

(2) ลางดี, ศุภมงคล, งานรื่นเริง (good omen, auspices, festivity)

การประสมคำ :

๑) อายุ + วัฒน = อายุวัฒน (อา-ยุ-วัด-ทะ-นะ-) แปลว่า ความเจริญอายุ, การมีอายุยืน

ในภาษาไทยมีคำว่า “อายุวัฒนะ” หมายถึง ยาที่ถือว่ากินแล้วมีอายุยืน เรียกว่า ยาอายุวัฒนะ

๒) อายุวัฒน + มงคล = อายุวัฒนมงคล แปลว่า งานฉลอง (ปรารภเหตุ) ที่มีอายุยืนต่อไป

ความเห็น :

คำว่า “อายุวัฒนมงคล” เป็นคำที่คิดขึ้นใช้เรียกงานฉลองอายุหรือทำบุญอายุของผู้ที่มีอายุยืนยาว (เจ้าตัวจัดเอง) หรือทำบุญให้ผู้ใหญ่ที่มีอายุยืนยาว (ผู้อื่นจัดให้)

ยังไม่พบหลักเกณฑ์หรือหลักการว่า จัดงานฉลองเมื่ออายุเท่าไรจึงจะเรียกว่างาน “อายุวัฒนมงคล” ได้

ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า ในยุคสมัยนี้ควรเรียกงาน “อายุวัฒนมงคล” สำหรับตัวเจ้าของงานที่มีอายุเกิน 75 ปีไปแล้ว

เหตุผลคือ 75 ปีเป็นอายุขัยของมนุษย์ในช่วงเวลานี้ ถ้าตายภายในอายุ 75 ปี ถือว่าอายุปกติ หลังจาก 75 ปีถ้ายังมีชีวิตอยู่ได้จึงควรถือว่าเป็น “อายุวัฒนมงคล” ซึ่งอาจแปลความง่ายๆ ตรงกับความเป็นจริงว่า-งานฉลองโชคดีที่ยังไม่ตาย

: ใครอยากอายุยืน

: จงหมั่นถามทุกวันคืนว่าจะยืนไปทำไม

8-2-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย