บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ศึกษาโลกธรรมสูตร เพื่อปลดสมณศักดิ์

ศึกษาโลกธรรมสูตร เพื่อปลดสมณศักดิ์ (๓)

————————————–

ในเมื่อพระราชาเป็นผู้พระราชทานสมณศักดิ์

ถ้าอยากจะเลิกสมณศักดิ์ก็ต้องให้พระราชาทรงเลิก

ไม่ใช่มาเรียกร้องให้พระสงฆ์เลิก

หรือโฆษณาเรียกร้องไปในหมู่ประชาชนซึ่งไม่ตรงเป้าหมาย เพราะประชาชนไม่ใช่ผู้ตั้งสมณศักดิ์ให้พระสงฆ์

พระสงฆ์อยากเลิก

พระราชามีพระราชศรัทธาอยากตั้ง

จะทำอย่างไร

ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาว่าด้วยเรื่องพระราชากับพระสงฆ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลก่อน

ได้ความรู้มาว่าอย่างไรบ้าง

เอาความรู้นั้นมาเป็นหลักเป็นพื้นฐานในการพิจารณาก่อนเป็นเบื้องต้น

อย่าเพิ่งตัดสินด้วยทัศนคติส่วนตัวทันที

เวลานี้คนชอบประพฤติอย่างนี้กันมาก

ตัดสินปัญหาในพระพุทธศาสนาด้วยความเห็นส่วนตัว

หลักพระธรรมวินัยว่าไว้อย่างไรไม่รู้ ไม่รับรู้

อันตรายของพระพุทธศาสนาเกิดจากการกระทำแบบนี้แหละ

………………….

คิดมาถึงตรงนี้ ผมรู้สึกทะแม่งๆ กับแนวคิดล้มสถาบัน (ที่แก้ตัวไปว่าไม่ใช่ล้ม แต่ต้องการให้ปฏิรูป)

ถ้าเมืองไทยไม่มีพระราชา

ก็เลิกสมณศักดิ์ได้สบายมาก

หรือมองอีกมุมหนึ่ง

จะเลิกสมณศักดิ์ได้

ก็ต้องทำให้เมืองไทยไม่มีพระราชาก่อน

สอดรับกันอย่างมีนัยะสำคัญชอบกลจริงๆ

คิดแบบนี้อาจถูกมองว่า-คิดแบบหาเรื่องกันนี่หว่า

เพราะฉะนั้น จบแค่นี้

ถือว่านี่เป็นการคิดเล่นๆ

ใครอย่าได้เอาไปสอดรับกันจริงๆ เป็นอันขาด

………………….

ทางออกของปัญหานี้ (สมณศักดิ์-พระอยากเลิก พระราชาอยากตั้ง) ผมขอเชิญชวนให้ศึกษาโลกธรรมสูตร

ขออนุญาตอัญเชิญพระพุทธพจน์จากพระไตรปิฎกมาให้สดับกันตรงนี้เลย ภาษาไทยปรับแต่งเพื่อให้อ่านง่ายขึ้นเท่าที่จะสามารถทำได้ แต่สาระใจความคงไว้ครบถ้วน

โปรดวัดใจตัวเองด้วย เวลาขอให้ศึกษาพระธรรมวินัย

ถ้ารู้สึกเบื่อหน่าย

ไม่สนุก

ไม่อยากอ่าน

ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องอ่าน

ไปหาเรื่องสนุกๆ ตื่นเต้นเร้าใจอ่านดีกว่า

ถ้าเป็นแบบนี้ละก็ โปรดแข็งใจหน่อย

ฝืนใจอ่านไปเถอะครับ

โปรดเชื่อเถิดว่า เราเป็นคนหนึ่งที่กำลังช่วยกันสืบต่ออายุพระศาสนาให้ดำรงอยู่จนถึง ๕,๐๐๐ ปี

เชิญสดับ –

………………….

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แลย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ

๘ ประการเป็นไฉน?

คือ –

ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑

ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑

นินทา ๑ สรรเสริญ ๑

สุข ๑ ทุกข์ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แลย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภก็ดี ความเสื่อมลาภก็ดี ยศก็ดี ความเสื่อมยศก็ดี นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่อริยสาวกผู้ได้สดับ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้มีอะไรแปลกกัน มีอะไรผิดกัน มีอะไรเป็นข้อแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้ เมื่อเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า โลกธรรมเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าโลกธรรมนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ฉะนี้ โลกธรรมย่อมครอบงำจิตของเขาได้

เขาย่อมยินดีลาภที่เกิดขึ้น

ย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ

ย่อมยินดียศที่เกิดขึ้น

ย่อมยินร้ายในความเสื่อมยศ

ย่อมยินดีสรรเสริญที่เกิดขึ้น

ย่อมยินร้ายในนินทา

ย่อมยินดีสุขที่เกิดขึ้น

ย่อมยินร้ายในทุกข์

เขาประกอบด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่าไม่พ้นไปจากทุกข์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้ เมื่อเกิดแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ อริยสาวกนั้นย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า โลกธรรมเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าโลกธรรมนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ฉะนี้ โลกธรรมย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้

ท่านย่อมไม่ยินดีลาภที่เกิดขึ้น

ไม่ยินร้ายในความเสื่อมลาภ

ไม่ยินดียศที่เกิดขึ้นแล้ว

ไม่ยินร้ายในความเสื่อมยศ

ไม่ยินดีความสรรเสริญที่เกิดขึ้น

ไม่ยินร้ายในนินทา

ไม่ยินดีสุขที่เกิดขึ้น

ไม่ยินร้ายในทุกข์

ท่านละความยินดียินร้ายได้แล้วเด็ดขาดอย่างนี้ ย่อมพ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่าย่อมพ้นไปจากทุกข์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความแปลกกัน ผิดกัน แตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ.

ที่มา: โลกธรรมสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ ข้อ ๙๖

………………….

หมายเหตุ :

คำว่า “ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ” (อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน) หมายถึง คนที่ไม่ได้ศึกษาสังเกตเรียนรู้หลักความจริงของโลก (one who has not heard, ignorant)

คำว่า “อริยสาวกผู้ได้สดับ” (สุตวา อริยสาวโก) หมายถึง ผู้หมั่นศึกษาสังเกตเรียนรู้หลักความจริงของโลก คงแก่เรียนในความรู้ทางธรรม (one who is learned in religious knowledge)

(ยังมีต่อ)

………………….

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

๑๒:๐๕

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *