บาลีวันละคำ

ปรโตโฆสะ (บาลีวันละคำ 536)

ปรโตโฆสะ

(ศัพท์วิชาการ)

อ่านว่า ปะ-ระ-โต-โค-สะ

ประกอบด้วย ปร + โต +โฆส

ปร” แปลว่า อื่น, อื่นอีก, อีกอันหนึ่ง, อีกข้างหนึ่ง, โพ้น, เหนือ

โต” เป็นปัจจัย ใช้ประกอบท้ายคำนาม แปลว่า ข้าง-, แต่-, จาก- (เครื่องหมาย คือ แปลเดี่ยวๆ ไม่ได้ ต้องมีคำนามมาแปลต่อ)

ปร + โต = ปรโต แปลว่า (ยืนอยู่) ข้างอื่น, (ได้มา) แต่สิ่งอื่น, (ฟังมา) จากคนอื่น

โฆส” แปลว่า เสียง, การส่งเสียง, การเปล่งเสียง, เสียงตะโกน, เสียงดัง

ปรโต + โฆส = ปรโตโฆส เขียนแบบไทยเป็น “ปรโตโฆสะ” แปลว่า “เสียงจากคนอื่น” “เสียงจากฝ่ายอื่น” หมายถึง คำที่คนอื่นพูด การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก (คือ-นอกจากที่ตัวคิดเอง) เช่น การสั่งสอน แนะนำ การถ่ายทอด การโฆษณา คำบอกเล่า การชักชวน ข่าวสาร ข้อมูล ข้อเขียน คำชี้แจง การอธิบาย การเรียนรู้จากผู้อื่นหรือจากสื่อต่างๆ เสียงเตือน เสียงร้องบอก เสียงทักท้วงจากฝ่ายอื่น

พระพุทธศาสนาสอนว่า คนจะมีแนวความคิด มีทัศนคติ มีมุมมอง หรือมี “หัว” ไปในทางถูกต้อง เกิดจากปัจจัย 2 อย่าง คือ (1) ปรโตโฆสะ (ที่ถูกต้อง) และ (2) โยนิโสมนสิการ (โย-นิ-โส-มะ-นะ-สิ-กาน) คือกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย หรือความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี, คิดไปให้ถึงรากเหง้าของเรื่อง

ปรโตโฆสะ” มีทั้งที่ดีที่ถูกต้อง และที่ไม่ดี ที่ผิด

ท่านว่าปัจจัยที่จะให้ได้ปรโตโฆสะที่ถูกต้องก็คือ “กัลยาณมิตร” หรือ “เพื่อนดี” ถ้าได้ “ปาปมิตร” หรือ “เพื่อนเลว” ก็จะได้ปรโตโฆสะที่ผิด

ปรโตโฆสะจากบาลีวันละคำ :

ถ้าไม่ฟังคำเตือนของเพื่อนร่วมชาติ

ก็จะพากันพินาศไปทั้งแผ่นดิน

——————

(จากคำรบกวนของ Kiattisak Nitikool)

บาลีวันละคำ (536)

3-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย