บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง กรอบของพระสงฆ์ไทย

พระเดชพระคุณพระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ราชบุรี และเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ท่านพูดอยู่เสมอว่า พระสงฆ์ไทยต้องปฏิบัติตามกรอบถึง ๔ ชั้น คือ

๑ พระธรรมวินัย

๒ กฎหมายบ้านเมือง

๓ กฎ-ระเบียบของคณะสงฆ์ไทย และ

๔ จารีตประเพณี

มองย้อนขึ้นไปตั้งแต่จารีต

พูดด้วยตัวอย่างน่าจะเข้าใจชัดและเร็วกว่า

ตัวอย่างเช่น พระสงฆ์เถรวาทในไทยต้องโกนคิ้ว – นี่คือจารีต

เวลาถกเถียงกันเรื่องนี้ มักจะมีผู้อ้างว่า พระธรรมวินัยบอกแต่ว่าภิกษุต้องปลงผมและหนวด ไม่ได้บอกว่าต้องโกนคิ้ว เพราะฉะนั้นพระจึงไม่จำเป็นต้องโกนคิ้ว และการไม่โกนคิ้วก็ไม่ผิดพระธรรมวินัย

คำอ้างนี้ถูกต้องสำหรับพระในประเทศอื่น หรือพระในประเทศไทย แต่สังกัดนิกายอื่น

แต่ถ้าเป็นพระเถรวาทสังกัดคณะสงฆ์ไทย ท่านต้องโกนคิ้วด้วยครับเพราะนี่เป็นจารีตของพระไทย

และจารีตนี้ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย

ถ้าอ้างว่าพระธรรมวินัยไม่ได้บอกให้โกนคิ้ว

ก็อ้างได้เช่นกันว่า พระธรรมวินัยก็ไม่ได้บอกว่าห้ามโกนคิ้ว

อีกเรื่องหนึ่งคือรับของจากสตรีต้องมีผ้ารอง-คือไม่รับจากมือโดยตรง-นี่ก็เป็นจารีต

ก็คงมีผู้อ้างเช่นเคยว่า พระธรรมวินัยไม่ได้ห้ามรับจากมือสตรีโดยตรง

แต่พระธรรมวินัยก็ไม่ได้บังคับไว้ว่าต้องรับจากมือโดยตรง-ไม่ใช่หรือ

เพราะฉะนั้น พระประเทศไหนจะรับจากมือสตรีโดยตรง ก็รับไป แต่ถ้าเป็นพระไทย ต้องใช้ผ้ารอง

เพราะฉะนั้น เวลาเถียงกันเรื่องนี้ ขอความกรุณาอย่าอ้างแต่พระธรรมวินัย ต้องดูจารีตด้วย มิเช่นนั้นจะพูดกันไม่จบ

จะเป็นพระไทยด้วย แต่ไม่ปฏิบัติตามจารีตไทยด้วย อย่างนี้ไม่เป็นการยุติธรรมต่อจารีตไทย

ในเมื่อจารีตนั้นไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย ต้องถือจารีตเป็นสำคัญ

ถ้าไม่อยากปฏิบัติตามจารีตไทย ก็อย่ามาเป็นพระไทย-พูดกันตรงๆ แบบนี้แหละ

สมควรย้ำว่า ต้องเป็นจารีตที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยเท่านั้น จารีตที่ขัดต่อพระธรรมวินัย เอามาอ้างไม่ได้

เช่น-สมมุติว่า-บางพื้นถิ่น ประชาชนนิยมถวายข้าวค่ำแก่พระสงฆ์ แบบนี้ขัดต่อพระธรรมวินัย จะยกมาอ้างว่าเป็นจารีตไม่ได้

จารีตประเพณีแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน อย่าว่าถึงแต่ละประเทศเลย ในประเทศเดียวกันเอง-เช่นเมืองไทยของเรา-ก็ยังยักเยื้องกันไปในแต่ละพื้นถิ่น

แต่หลักสำคัญ-ต้องไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *