บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าเอาแต่ร้องถาม

แต่จงช่วยกันติดตามหาคำตอบด้วย

คนเป็นอันมากเมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรทำอะไรที่ตนสงสัยว่าจะผิด มักจะร้องถามในที่สาธารณะว่า พระเณรทำอย่างนั้นได้หรือ ไม่ผิดหรือ

ถามจบแล้วก็เข้าใจว่าตนได้ทำหน้าที่ของชาวพุทธที่ดีเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ทางที่ถูก เมื่อร้องถามเช่นนั้นแล้วควรจะช่วยกันศึกษาสืบค้นหลักปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ ต่อไป เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง

จะสอบถามตัวบุคคลที่ตนนับถือก็ได้ แต่ไม่ควรยุติอยู่แค่คำตอบของท่านผู้นั้น ดังที่มักมีผู้นิยมอ้าง-คืออ้างว่า –

ท่านเจ้าคุณนั่นท่านว่าไม่ได้ 

ท่านมหานั่นท่านว่าได้ 

ขอประทานโทษ ผมเองเวลานี้ก็ถูกอ้างบ่อย-อาจารย์ทองย้อยท่านว่า…

หลักการที่ถูกต้องนั้น ไม่ว่าท่านเจ้าคุณไหน ท่านมหาไหน หรืออาจารย์ไหน จะตอบอย่างไร ก็ให้ถือว่าเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่จบแค่นั้น ข้อมูลเบื้องต้นเป็นเพียงป้ายชี้ทางว่า-ถ้าจะหาคำตอบละก็ไปทางนี้ๆ

ได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว เห็นป้ายบอกทางแล้ว ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะตามไปศึกษาสืบค้นให้ถึงต้นน้ำต้นตอจริงๆ ของเรื่องนั้นที่ถือว่าเป็นที่สุด เช่นพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา 

เมื่อได้คำตอบตรงนั้นแล้ว ก็ปล่อยวางคำตอบของท่านเจ้าคุณ ท่านมหา หรืออาจารย์ ไม่ต้องอ้างอีกต่อไป คงมีคำตอบเดียวที่อ้างได้ คือคำตอบที่ได้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อันเป็นต้นน้ำต้นทางจริงๆ ของเรื่องนั้น 

แล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลว่า ถ้าเกิดท่านเจ้าคุณ ท่านมหา หรืออาจารย์ล่วงลับไปแล้วจะไม่มีพยานหลักฐานไว้ยืนยัน เพราะพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ไม่มีวันตาย-ตราบเท่าที่ยังมีผู้ศึกษาสอดส่องเรียนรู้และปฏิบัติตามอยู่

กรณีที่พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา มีข้อเยื้องแย้งกัน ก็มีหลักปฏิบัติที่ท่านแนะนำไว้ในตัวพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกานั้นเองว่า –

………………………………..

ตตฺถ  สพฺเพเหว  สมคฺเคหิ  สมฺโมทมาเนหิ  อวิวทมาเนหิ  สิกฺขิตพฺพํ. 

พวกเราทั้งหมดนี้แลพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ขัดแย้งกัน ศึกษาในเรื่องนั้น 

ที่มา: 

– วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๘๘๑

– กินติสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๔๔

………………………………..

นั่นคือไม่เอาคำตอบของบุคคลเป็นหลัก หากแต่ยึดถือพระไตรปิฎกเป็นหลัก แม้หลักในพระไตรปิฎกนั่นเองถ้ามีประเด็นไหนที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน หรือยังข้องใจสงสัย เช่นสงสัยว่า เป็นพระพุทธพจน์จริงหรือ คำสอนเช่นนั้นมีจริงหรือ ใช่หรือ ถูกต้องหรือ ก็ต้องช่วยกันศึกษาสอบสวนจนกระจ่างแจ้งและยอมรับร่วมกัน แล้วพร้อมใจกันดำเนินตาม ไม่ใช่ต่างคนต่างถือ ต่างคนต่างทำ

ถ้ายึดหลักอย่างที่ว่ามานี้ เมื่อเห็นวัด เห็นสำนัก เห็นพระภิกษุสามเณร หรือเห็นชาวพุทธเราทำอะไรที่สงสัยว่าจะผิด ก็จะไม่เอาแต่ร้องถาม หากแต่จะช่วยกันหาคำตอบ 

เห็นอะไรที่สงสัยว่าจะผิดก็เท่ากับได้เห็นโอกาสที่จะช่วยกันศึกษาสอบสวนสอดส่องให้รู้หลักที่ถูกต้องชัดเจน ไม่ไปหลงสนับสนุนเรื่องที่ผิด หรือปล่อยปละละเลยเฉยเมินในเรื่องที่ถูกต้อง 

ทำได้ดั่งนี้เท่ากับได้ช่วยกันธำรงรักษาพระศาสนาให้อยู่ยั่งยืนเพื่ออำนวยสันติสุขให้แก่สังคมและแก่ชาวโลกไปตลอดกาลนาน

………………

ถ้าญาติมิตรอ่านจนจบแล้วและรู้สึกว่า-เหมือนพระเทศน์ ก็ขออนุโมทนาสาธุครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๗:๒๘

………………………………..

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *