บทความเรื่อง กรรมของภาษาไทย
กรรมของภาษาไทย
———————
การอ่านอักษร –ทร มีข้อถกแถลงกันมาตั้งแต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ แล้วมีการอ่านพระปรมาภิไธยออกสื่อกันทุกวัน
พระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ ๙ ว่าดังนี้ –
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี
จักรีนฤบดินทร
สยามินทราธิราช
บรมนาถบพิตร
มีอักษร –ทร อยู่ ๓ แห่ง คือ ตรงคำว่า
ปรมินทร
บดินทร
สยามินทร
โจทย์ก็คือ ทั้ง ๓ แห่งนี้
จะต้องอ่าน –ทร หรือไม่อ่าน
ถ้าอ่าน อ่านออกเสียงว่าอย่างไร
ควรรู้ที่มาก่อนว่า –ทร ในที่นี้มาจาก “อินฺทฺร” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งตรงกับ “อินฺท” (อิน-ทะ) ในบาลี แปลว่า ผู้เป็นใหญ่
โปรดสังเกตว่า “อินฺทฺร” มีจุดใต้ ทฺ ด้วย อันเป็นเหตุให้ต้องอ่าน ทฺ กึ่งเสียง
ขออนุญาตถกแถลงที่คำว่า “สยามินทร” ก่อน เพราะไม่มีปัญหา เนื่องจากไปสนธิอยู่กับคำว่า “อธิราช” คือ –
สยามินทร + อธิราช = สยามินทราธิราช
ดังนั้น –ทร ตรงนี้จึงไม่อ่านไม่ได้ ต้องอ่าน และออกเสียงว่า -ทฺรา- (ทฺ- ออกเสียงสระ อะ กึ่งเสียง อันที่จริงออกเสียง ทะ- เต็มเสียงตามแบบไทยๆ ก็น่าจะได้ แต่พจนานุกรมท่านให้ออกกึ่งเสียง)