บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง กรรมของภาษาไทย

มาถึง –ทร ที่เป็นปัญหามาก คือ “ปรมินทร” จะเห็นว่า ตรงนี้ –ทร เป็นอิสระ ไม่ถูกบังคับให้ต้องรับสัมผัสหรือส่งสัมผัสไปที่คำอื่น คงเป็นปัญหาเพียงว่าจะออกเสียงหรือไม่ออกเสียง

วิธีคิดของผมก็คือ เมื่อไม่มีเหตุบังคับให้ต้องงดออกเสียง ก็ควรออก

เหตุบังคับให้ต้องงดออกเสียงก็อย่างคำว่า “บดินทร” ในที่นี้นั่นเอง ไม่ต้องออกเสียง –ทร เพราะวรรคต่อไปมีคำว่า -มิน- รับสัมผัส บังคับให้พยางค์สุดท้ายของวรรคนี้ต้องเป็น -ดิน- จึงไม่ต้องออกเสียง –ทร

แต่ตรงคำว่า “ปรมินทร” นี้ไม่มีเหตุจำเป็นเช่นว่านั้น ก็จึงควรออกเสียง –ทร ด้วย และควรอ่านว่า –ทฺระ ตามเสียงเดิม ไม่ใช่ ปรมิน-ทอน- เพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งบังคับให้รับหรือส่งสัมผัสไปยังคำอื่นที่ออกเสียงสระ -ออน-

ที่ว่ามานี้ผมไม่ได้เอาข้อมูลในอดีตมาเป็นฐานการคิด เช่นข้อมูลที่ว่าเอกสารสมัยรัชกาลก่อนๆ เคยสะกดคำนี้เป็น “ปรมินทร์” ซึ่งแสดงเจตนาว่าต้องการไม่ให้ออกเสียง –ทร

และไม่ได้เอาเหตุผลที่บอกว่าคำนี้เป็นภาษาแขกมาตัดสิน คือที่บอกว่า แขกออกเสียง –ทฺระ ก็เป็นไปตามลิ้นแขก เราไม่ใช่แขกควรอ่านแบบไทย คือไม่ต้องออกเสียง –ทร

เหตุผลในแง่เป็นภาษาแขกนี้ เคยได้ยินว่ามีผู้ยกเอาคำว่า “จันทรคติ” มาเทียบ โดยชี้ให้เห็นว่า คำนี้เราก็ออกเสียงกันว่า จัน-ทฺระ-คะ-ติ ไม่ใช่ จัน-คะ-ติ

แล้วทำไม “ปรมินทรมหาภูมิพล” จึงจะออกเสียงว่า –มิน-มะ-หา- เล่า

อนึ่ง ตามความเห็นของผม เรื่องนี้คำอ่านของอาลักษณ์ควรเป็นเสมือนศาลฎีกา

แต่ดูเหมือนว่าแทบจะไม่มีใครยกคำอ่านของอาลักษณ์ขึ้นมาอ้าง นับว่าแปลกอยู่

กรณีคำอ่านพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ ๙ ควรจะยุติเพียงนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *