บาลีวันละคำ

พุทธเกษตร (บาลีวันละคำ 3,241)

พุทธเกษตร

ไม่ใช่เกษตรเชิงพุทธ

อ่านว่า พุด-ทะ-กะ-เสด

ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + เกษตร

(๑) “พุทธ

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

บาลี “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) ภาษาไทยใช้เป็น “พุทธ” (ไม่มีจุดใต้ ทฺ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”

(๒) “เกษตร

บาลีเป็น “เขตฺต” (เขด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ขิปฺ (ธาตุ = หว่าน, กระจายออก) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ปฺ) เป็น เอ, ลบ ปฺ ที่สุดธาตุ, ซ้อน

: ขิปฺ > เขป + = เขปต > เขต + = เขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่หว่านพืช

(2) ขิตฺต (เมล็ดพืชที่หว่านไป) + ตา (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ตฺต) เป็น เอ, ลบ ที่ (ขิตฺ)- (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบที่สุดบทหน้า”), ลบสระที่สุดธาตุ: ตา >

: ขิตฺต + ตา = ขิตฺตตา > ขิตฺตต + = ขิตฺตต > ขิตฺต > เขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่รักษาพืชที่หว่านไว้

เขตฺต” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) นา, ที่ดินแปลงหนึ่ง, ที่ดินอันเหมาะสมแก่การเพาะปลูก, ที่ตั้ง (a field, a plot of land, arable land, a site)

(2) ที่อันเป็นเนื้อนาบุญ, กองแห่งกุศลกรรม (the soil of merit, the deposit of good deeds)

เขตฺต” ภาษาไทยปัจจุบันใช้เป็น “เขต” (ตัด ออกตัวหนึ่ง) อ่านว่า เขด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เขต : (คำนาม) แดนที่กําหนดขีดคั่นไว้ เช่น เขตป่า เขตบ้าน, เวลาที่กําหนดขีดคั่นไว้ เช่น หมดเขตวันที่ ๑๕. (ป. เขตฺต). (โบราณเขียนว่า เขตร).”

บาลี “เขตฺต” สันสกฤตเป็น “เกฺษตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เกฺษตฺร : (คำนาม) ‘เกษตร์,’ ทุ่ง, นา; ตัว, ร่างกาย; ชายา; บุณยสถานหรือที่ศักดิ์สิทธิ์ (ดุจพาราณสี, ฯลฯ); เรขาคณิต; จิตร์หรือรูปเส้นขอบ, รูปสังเขป, แผนเส้นขอบ; a field; the body; a wife; a place of pilgrimage or sacred spot (as Benares, &c.); geometry; a diagram, a plan drawn in outline.”

บาลี “เขตฺต” สันสกฤต “เกฺษตฺร” ภาษาไทยที่ใช้เป็น “เกษตร” (กะ-เสด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

เกษตร : (คำนาม) ที่ดิน, ทุ่ง, นา, ไร่; (คำโบราณ) แดน เช่น พุทธเกษตร. (ส. เกฺษตฺร; ป. เขตฺต).”

ข้อสังเกต : พจนานุกรมฯ บอกว่า คำโบราณ “เกษตร” หมายถึง “แดน” และยกตัวอย่าง เช่น “พุทธเกษตร

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “พุทธ-” ที่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายไว้หลายคำ แต่ไม่มีคำว่า “พุทธเกษตร” ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุลอันใด

พุทธ + เกษตร = พุทธเกษตร แปลว่า “แดนแห่งพระพุทธเจ้า

พุทธเกษตร” แปลงกลับเป็นบาลีเป็น “พุทฺธกฺเขตฺต” (พุด-ทัก-เขด-ตะ)

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎกและอรรถกถามีคำว่า “พุทฺธกฺเขตฺต” ปรากฏอยู่หลายแห่ง ขอนำคำอธิบายว่าด้วย “พุทธเกษตร” ในอรรถกถามาเสนอดังนี้

…………..

พุทฺธกฺเขตฺตนฺนาม  ติวิธํ  โหติ  ชาติกฺเขตฺตํ  อาณกฺเขตฺตํ  วิสยกฺเขตฺตญฺจ  ฯ 

อันพุทธเกษตรนั้นมี 3 อย่าง คือ ชาติเกษตร อาณาเกษตร และวิสัยเกษตร

ตตฺถ  ชาติกฺเขตฺตํ  ทสสหสฺสจกฺกวาฬปริยนฺตํ  โหติ  ยํ  ตถาคตสฺส  ปฏิสนฺธิอาทีสุ  กมฺปติ  ฯ 

ในพุทธเกษตรทั้ง 3 นั้น ชาติเกษตรมีขอบเขตหมื่นจักรวาล เมื่อมีเหตุอัศจรรย์เป็นต้นว่าองค์พระตถาคตเจ้าทรงถือปฏิสนธิ ชาติเกษตรก็จะหวั่นไหว

อาณกฺเขตฺตํ  โกฏิสตสหสฺสจกฺกวาฬปริยนฺตํ  ยตฺถ  รตนปริตฺตํ  เมตฺตปริตฺตํ  ขนฺธปริตฺตํ  ธชคฺคปริตฺตํ  อาฏานาฏิยปริตฺตํ  โมรปริตฺตนฺติ  อิเมสํ  ปริตฺตานํ  อานุภาโว  ปวตฺตติ  ฯ 

อาณาเกษตรมีขอบเขตแสนโกฏิจักรวาฬ เป็นเขตที่อานุภาพแห่งพระปริตรเหล่านี้แผ่ไป คือ รตนปริตร ขันธปริตร ธชัคคปริตร อาฏานาฏิยปริตร และโมรปริตร

วิสยกฺเขตฺตํ  อนนฺตมปริมาณํ  ยํ  ยาวตา  วา  ปน  อากงฺเขยฺยาติ  วุตฺตํ  ยตฺถ  ยํ  ยํ  อากงฺขติ  ตํ  ตํ  อนุสฺสรติ  ฯ 

วิสัยเกษตรไม่มีที่สุด ไม่มีปริมาณ เป็นเขตที่พระตถาคตเจ้าทรงจำนงจะทรงทราบสิ่งใดๆ ก็ย่อมทราบสิ่งนั้นๆ ได้ ดังที่ตรัสไว้ว่า “ก็หรือว่าตถาคตพึงจำนงจะรู้โดยที่เท่าใด (ก็ย่อมรู้ได้โดยที่เท่านั้น)” ดังนี้เป็นต้น

เอวเมเตสุ  ตีสุ  พุทฺธกฺเขตฺเตสุ  เอกํ  อาณกฺเขตฺตํ  วินสฺสติ  ฯ  ตสฺมึ  ปน  วินสฺสนฺเต  ชาติกฺเขตฺตํ  วินฏฺฐเมว  โหติ  ฯ  วินสฺสนฺตญฺจ  เอกโตว  วินสฺสติ  ฯ  สณฺฐหนฺตมฺปิ  เอกโต  สณฺฐหติ  ฯ 

ในพุทธเกษตรทั้ง 3 ดังกล่าวมานี้ อาณาเกษตรเป็นเกษตรเดียวที่พินาศไปได้ แต่เมื่ออาณาเกษตรนั้นพินาศไป แม้ชาติเกษตรก็ย่อมเป็นอันพินาศด้วยอยู่เอง อันพุทธเกษตรทั้งสองนั้นเมื่อพินาศย่อมพินาศด้วยกัน เมื่อตั้งขึ้นใหม่เล่าก็ตั้งขึ้นด้วยกัน

ที่มา:

– สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ภาค 1 หน้า 212

– สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ภาค 1 หน้า 586

– วิสุทธิมรรค ภาค 2 (อภิญญานิทเทส) หน้า 258

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ท่านพร้อมที่รักษาเมืองไทยให้เป็นพุทธเกษตร

: หรือว่าพร้อมที่จะหาประเทศให้พระพุทธเจ้าอยู่ใหม่

อาจเป็นรูปภาพของ ดอกไม้, อนุสาวรีย์ และกลางแจ้ง

#บาลีวันละคำ (3,241)

27-4-64

ดูโพสในเฟสบุ๊คของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *