บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จะวิ่งตามชาวบ้าน หรือจะวิ่งนำชาวบ้าน

วันนี้ (๒๖ เมษายน ๒๕๖๔) มีคุณครูเกษียณแล้วท่านหนึ่งท่านจำเป็นจะต้องทำหน้าที่พิธีกรในงานศพ ถามผมว่า เวลาเชิญท่านผู้เป็นประธานขึ้นไปทอดผ้าควรจะเรียกผ้าผืนนั้นว่า ผ้าไตรบังสุกุล หรือผ้ามหาบังสุกุล

ผมตอบท่านไปว่า ถ้าผมเป็นพิธีกรผมจะเรียกผ้าทุกผืนเหมือนกันหมดว่า “ผ้าบังสุกุล” เพราะชื่อผ้าชนิดนั้นคือ “ผ้าบังสุกุล” 

คำว่า “ผ้าไตรบังสุกุล” หรือ “ผ้ามหาบังสุกุล” เป็นคำที่เกิดจากเหตุผลบางประการของพิธีกรบางคน ซึ่งผมไม่ความประสงค์จะถกเถียงด้วย แต่ผมเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ไม่จำเป็น แต่ใครจะใช้คำเช่นนั้นก็เชิญตามสบาย

ผมยังได้ขออนุญาตคุณครูท่านนั้น-ขอเสนอแนะเพิ่มเติมไปว่า คำที่นิมนต์พระขึ้นไป “ทำอะไรกับผ้า” นั้น ผมขอเสนอให้ใช้คำว่า –

“ขอนิมนต์…ชักผ้าบังสุกุล” 

เลิกใช้คำว่า “ขอนิมนต์…พิจารณาผ้าบังสุกุล” กันได้แล้ว

เหตุผลมีเป็นประการใด ผมเคยเขียนไว้แล้ว ตามลิงก์นี้ครับ

………………………….

ชักผ้า-วัฒนธรรมทางภาษาของชาติ

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/2616428111784243

………………………….

คุยกับคุณครูท่านไปแล้ว ผมก็มานั่งคิดคนเดียวต่อ – เป็นการคิดต่อออกไปจากเรื่องที่คุยกัน

ผมคิดยังงี้ครับ

งานศพในบางภูมิภาคในเมืองไทย จะมีนักการเมืองมาทอดผ้าบังสุกุลเป็นร้อยๆ

เจ้าภาพจะถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีนักการเมืองมาทอดผ้า

เขาบอกว่าเป็นความประสงค์ของเจ้าภาพ 

บางศพผู้ตายสั่งลูกหลานไว้เลยว่า ตอนทอดผ้าให้เชิญนักการเมืองมากันให้มากๆ

ยิ่งมากันมาก ยิ่งมีเกียรติมาก 

การที่ชาวบ้านถือกันว่า-การทำเช่นนั้นเป็นเกียรติ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะไม่เป็นความจริง

แต่ควรสงสัยว่า นักการเมือง-ซึ่งเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้นำประชาชน-ควรจะวิ่งตามชาวบ้าน หรือจะวิ่งนำชาวบ้าน

—————–

เวลานี้แม้แต่นักเผยแผ่พระศาสนารุ่นใหม่ๆ ในบ้านเราก็เริ่มจะมีทัศนะว่า ในการสอนธรรมะแก่ชาวบ้าน ไม่จำเป็นต้องยกคำบาลี ไม่จำเป็นต้องอ้างคัมภีร์ 

พูดอะไรก็ได้ และทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ชาวบ้านชอบและมีความสุขก็พอแล้ว 

นักเทศน์ควรยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?

นักเผยแผ่พระศาสนา-ควรจะวิ่งตามชาวบ้าน หรือจะวิ่งนำชาวบ้าน?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ เมษายน ๒๕๖๔

๑๘:๑๖

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *