บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กูว่าแล้ว

กูว่าแล้ว

——–

คนเรามีเหตุผล ๑๐ ข้อ ที่นิยมยกขึ้นมาอ้างเพื่อจะยืนยันว่าเรื่องที่เราเชื่อเป็นเรืองจริง

เหตุผลทั้ง ๑๐ ข้อ ท่านแสดงไว้ในกาลามสูตร 

ขออนุญาตพูดทิ้งๆ ไว้แค่นี้ ไม่ยกกาลามสูตรมาแสดง ทั้งนี้เพื่อล่อใจญาติมิตรให้มีอุตสาหะในการตรวจสอบศึกษาค้นคว้าหาความรู้เอาเอง 

สมัยนี้การเข้าถึงหลักวิชาในพระพุทธศาสนาทำได้ง่ายแสนง่าย พูดภาษานักเลงปากท่อว่า-นั่งกระดิกขาอยู่กับบ้าน คลิกเดียวเท่านั้นก็เจอแล้ว

ในที่นี้ขอยกมาเพียงข้อเดียวที่ประสงค์จะพูด นั่นคือ เวลาจะเชื่ออะไรคนเรามักอ้างเหตุผลข้อหนึ่งว่า “เพราะมันตรงกับที่ฉันคิด” 

พูดเป็นคำอุทานก็ว่า – นั่นยังไงล่ะ มันตรงกับที่ฉันคิดไว้ไม่ผิดเลย ใช่แน่แล้ว 

หรือถอดเป็นภาษานักเลงปากท่อว่า “กูว่าแล้ว

ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า สิ่งที่ตรงกับความคิดของเราจะไม่เป็นความจริง สิ่งนั้นอาจเป็นความจริงได้ เพียงแต่ท่านสอนว่า อย่าเพิ่งเชื่อว่ามันต้องจริงเพียงเพราะมันตรงกับที่เราคิดไว้ 

ขอยกตัวอย่างประกอบ ๒ กรณี 

๑ กรณีหลักวิชาความรู้: 

เช่น ความคิดเห็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีเรื่องหนึ่ง เราเห็นว่ามันควรจะเป็นอย่างนี้ๆ 

หรือ-ความหมายของนิพพานในพระพุทธศาสนา เราเข้าใจว่าเป็นเช่นนี้ๆ 

ต่อมา มีคนมาอธิบายประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีเรื่องนั้นตรงกับที่เราคิดพอดี หรืออธิบายนิพพานตรงกับที่เราเข้าใจอยู่ก่อน เราจึงเชื่อว่าคำอธิบายนั้นเป็นความจริง 

เหตุผลที่เชื่อมีเพียงอย่างเดียวคือ-เพราะมันตรงกับที่เราคิด 

อ้างเหตุผลแบบนี้ ภาษาต้นฉบับกาลามสูตรท่านใช้คำว่า “ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา” (ทิด-ถิ-นิด-ชา-นัก-ขัน-ติ-ยา) แปลโดยประสงค์ว่า “เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีคือความคิดเห็นของตน” 

นี่เป็นแบบหนึ่งของความหมายที่ว่า “กูว่าแล้ว

(๒) กรณีข้อเท็จจริงในเหตุการณ์: 

นายแดงบอกนายดำซึ่งเป็นเพื่อนรักกันว่า เขาจะลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดแห่งหนึ่ง นายดำก็บอกนายแดงไปว่า ถึงลงก็คงไม่ได้รับเลือก 

เมื่อประกาศผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่านายแดงไม่ได้รับเลือก นายดำจึงว่า “กูว่าแล้ว

กูว่าแล้ว” ของนายดำนี่ก็คือ “ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา” = ตรงกับที่เราคิดไว้-อีกแบบหนึ่ง

กรณีประวัติศาสตร์โบราณคดีหรือความหมายของนิพพาน ข้อเท็จจริงย่อมเป็นไปตามข้อมูลหลักฐาน ตรงหรือไม่ตรงกับที่เราเชื่อเราเข้าใจ ตัดสินกันที่ข้อมูลหลักฐาน

กรณีนายแดงนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายแดงเปลี่ยนใจ ไม่ได้ลงสมัครตามที่บอกกับนายดำ แต่นายดำไม่ทราบข้อเท็จจริงนี้ 

นายแดงไม่ได้รับเลือกเพราะไม่ได้ลงสมัคร ไม่ใช่ลงสมัครแต่ไม่ได้รับเลือกอย่างที่นายดำเข้าใจ 

นี่คือเหตุผลที่ท่านสอนไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ เพียงเพราะตรงกับที่ “กูว่าแล้ว

ไม่ใช่ว่า อะไรที่ “กูว่าแล้ว” มันจะไม่เป็นจริง

มันอาจเป็นจริงก็ได้ มันอาจเป็นจริงได้ทั้งนั้น

แต่ท่านเตือนสติว่า อย่าไปยึดมั่นว่า อะไรที่ “กูว่าแล้ว” จะต้องเป็นตามนั้นทุกอย่างไป

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ มกราคม ๒๕๖๕

๑๘:๓๖

………………………………………..

กูว่าแล้ว

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *