บาลีวันละคำ

ภิกฺขเว (บาลีวันละคำ 3,243)

ภิกฺขเว

ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีล

อ่านว่า พิก-ขะ-เว

ภิกฺขเว” เป็นรูปคำที่แจกวิภัตติแล้ว คำเดิมเป็น “ภิกฺขุ” (พิก-ขุ) มีรากศัพท์มาได้หลายทาง ดังนี้ –

(1) “ผู้ขอ” : ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภิกฺขฺ (ธาตุ = ขอ) + รู ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อู เป็น อุ

(2) “ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” : ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ = ภินฺนปฏ = ผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ, ธโร = ผู้ทรงไว้ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, รัสสะ อู เป็น อุ

(3) “ผู้เห็นภัยในการเวียนตายเวียนเกิด” : สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภย (ภัย) + อิกฺขฺ (ธาตุ = เห็น) + รู ปัจจัย, ลบ , ลบ , รัสสะ อู เป็น อุ

(4) “ผู้ทำลายบาปอกุศล” : ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อู เป็น อุ

(5) “ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน” : ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ = ภกฺขฺ (ธาตุ = บริโภค) + รู ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อู เป็น อุ

, แปลง อะ ที่ -(กฺขฺ) เป็น อิ (ภกฺขฺ > ภิกฺข)

ภิกฺขุ” (ปุงลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามหมวดอาลปนะ พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ภิกฺขเว” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ขยายความ :

โดยปกติ คำว่า “ภิกฺขเว” ที่พบในบาลีเป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกหมู่ภิกษุเท่านั้น ภิกษุเรียกภิกษุด้วยกันหรือผู้อื่นเรียกภิกษุยังไม่พบที่ใช้เรียกด้วยคำว่า “ภิกฺขเว

ท่านที่นิยมฟังเทศน์มหาชาติย่อมจะได้ยินคำว่า “ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีล…” แทรกอยู่ตรงขึ้นต้นแหล่แทบทุกครั้ง นั่นย่อมหมายความว่า มหาเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้ภิกษุสงฆ์ฟัง จึงมีคำว่า “ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีล…” แทรกอยู่เป็นระยะตลอดทั้งเรื่อง

แถม :

ภิกฺขเว” มาจาก “ภิกฺขุ” แล้ว “ภิกฺขุ” หมายถึงบุคคลเช่นไรได้บ้าง ขอนำคำจำกัดความในแง่วินัยปิฎกมาเสนอไว้เป็นอลังการแห่งความรู้ ดังนี้

…………..

ภิกฺขูติ 

คำว่า ภิกษุ หมายความว่า –

(1) ภิกฺขโกติ  ภิกฺขุ  ฯ

ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ

(2) ภิกฺขาจริยํ  อชฺฌูปคโตติ  ภิกฺขุ  ฯ

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าประพฤติภิกขาจริยวัตร (คือเที่ยวขอเขาเลี้ยงชีพ)

(3) ภินฺนปฏธโรติ  ภิกฺขุ  ฯ

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าทรงผืนผ้าที่ถูกตัดเป็นท่อนแล้ว

(4) สามญฺญาย  ภิกฺขุ  ฯ

ชื่อว่าภิกษุโดยสมญา (คือมีผู้เรียกขาน)

(5) ปฏิญฺญาย  ภิกฺขุ  ฯ

ชื่อว่าภิกษุโดยปฏิญญา (คือยืนยันตัวเอง)

(6) เอหิภิกฺขูติ  ภิกฺขุ  ฯ

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นเอหิภิกษุ

(7) ตีหิ  สรณคมเนหิ  อุปสมฺปนฺโนติ  ภิกฺขุ  ฯ

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์

(8) ภทฺโรติ  ภิกฺขุ  ฯ

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้เจริญ

(9) สาโรติ  ภิกฺขุ  ฯ

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่ามีสารธรรม

(10) เสโขติ  ภิกฺขุ  ฯ

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นพระเสขะ

(11) อเสโขติ  ภิกฺขุ  ฯ 

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นพระอเสขะ

(12) สมคฺเคน  สงฺเฆน  ญตฺติจตุตฺเถน  กมฺเมน  อกุปฺเปน  ฐานารเหน  อุปสมฺปนฺโนติ  ภิกฺขุ  ฯ

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมอันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ

ตตฺร  ยฺวายํ  ภิกฺขุ  สมคฺเคน  สงฺเฆน  ญตฺติจตุตฺเถน  กมฺเมน  อกุปฺเปน  ฐานารเหน  อุปสมฺปนฺโน  อยํ  อิมสฺมึ  อตฺเถ  อธิปฺเปโต  ภิกฺขูติ  ฯ 

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมอันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ นี้ชื่อว่าภิกษุที่ทรงประสงค์ในสิกขาบทนี้

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 26

…………..

ดูก่อนภราดา!

วิธีวินิจฉัยว่าภิกษุควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร

: อะไรที่ต้องบวชเป็นภิกษุเท่านั้นจึงจะทำได้ จงทำทันที

: อะไรที่แม้ไม่บวชเป็นภิกษุก็ทำได้ คิดให้ดีก่อนแล้วจึงทำ

#บาลีวันละคำ (3,243)

29-4-64

……………………………..

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3943939472366427

……………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *