บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กามนิตฉบับภาษาบาลี

กามนิตฉบับภาษาบาลี

ผมเคยถามคนหนุ่มคนสาวอายุราว ๓๐ ขึ้นว่า เคยอ่าน “กามนิต” ไหม?

คำตอบที่ได้รับคือ ไม่เคย

ถามว่าเคยได้ยินชื่อไหม

คำตอบ (หลังจากทำท่านึก) คือ น่าจะแว่วๆ อยู่บ้าง

ถ้าเอา ๓๐ มาลบอายุปัจจุบันของผม ผลลัพธ์คือ ๔๐ 

ผมมักจะลืมไปว่ามันตั้ง ๔๐ ปีมาแล้ว และเวลา ๔๐ ปีย่อมเปลี่ยนอะไรๆ ได้มาก โดยเฉพาะ-ค่านิยม

เมื่อผมอายุ ๓๐ ผมอ่านกามนิตจบแล้วหลายเที่ยว 

ถอยไปตอนอายุ ๑๖-๑๗ ผมได้ฟังเพลง… กามนิตยอดชายจะไปค้าขายที่โกสัมพี … 

และเคยได้ยินได้ฟังวลีที่คนทั่วไปเอามาพูดกันติดปากว่า … รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม … 

ตอนอายุ ๑๘-๑๙ ผมได้อ่านกามนิตจากหนังสือของคนอื่น ก่อนที่จะมีสตางค์ซื้อกามนิตเป็นของตัวเอง

ว่ากันตามแนวทางการศึกษา ผมเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ตามระบบการศึกษาในสมัยนั้นเมื่ออายุย่าง ๑๒ ขวบ แล้วผมก็ไม่มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในสถาบันใดๆ ของรัฐอีกเลย

สภาพสังคม-สิ่งแวดล้อมของผมในสมัยนั้นก็คือชนบท บ้านนอก ทุ่งนา แล้วก็วัด

แล้วผมอ่านกามนิตได้อย่างไร ผมซาบซึ้งกับสำนวนภาษาไทยอันละเมียดละไมในกามนิตได้อย่างไร

คนหนุ่มสาวสมัยนี้เขาไม่เคยอ่านกามนิต แล้วเขาอ่านอะไรกัน สภาพแวดล้อมของเขาเป็นอย่างไรเขาจึงไม่ได้อ่านกามนิต

อาจเป็นได้ที่-สมัยโน้นหนังสือเรื่องกามนิตถูกมองว่าเป็น “นิยาย” ดังนั้นใครที่ชอบอ่านนิยายก็มีโอกาสที่จะได้อ่านกามนิตกันทั้งนั้น

แต่คนรุ่นผม อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกับผม ก็ใช่ว่าจะอ่านกามนิตกันทุกคน เพื่อนรุ่นเดียวกันหลายคนก็ไม่เคยอ่านกามนิต

แล้วตกลงว่า-เราจะมองเรื่องนี้กันอย่างไรดี 

เด็กไทยจะได้อ่านหนังสือดีขึ้นอยู่กับการจัดสิ่งแวดล้อมให้พวกเขาดีๆ 

หรือว่าไม่ต้องไปทำอะไรให้เป็นพิเศษเลย ปล่อยไปตามปกติธรรมดานั่นแหละ บุญใครทำมาอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น

ใครจะดีมันก็ดีได้เอง ไม่ต้องไปทำอะไรให้เขา

แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น ระบบการศึกษาต่างๆ ที่เราคิดอ่านจัดทำกันขึ้นมาก็ไม่จำเป็นนะสิ

คำที่ว่า-มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก ก็ใช้ไม่ได้นะสิ

ประเด็นนี้หยุดไว้แค่นี้ก่อน ใครจะเอาไปคิดต่อก็เชิญตามอัธยาศัย

—————-

มาจับบทเรื่อง กามนิต กันต่อ

เมื่อแรกอ่านกามนิต ผมอ่านเพราะอยากรู้เรื่อง ก็คงจะเหมือนกับอ่านนิยาย สำนวนภาษาเป็นเพียงผลพลอยได้

แต่เมื่อรู้เรื่องหมดแล้ว สำนวนภาษา-ซึ่งเคยคิดว่าเป็นเพียงผลพลอยได้-กลายเป็นเนื้อเป็นตัวของหนังสือกามนิต 

เป็นเนื้อตัวที่มีเสน่ห์ งดงาม อลังการ 

ต่างจากนิยายธรรมดาทั่วไปที่-เมื่อรู้เรื่องหมดแล้วก็ไม่มีอะไรน่าสนใจอีกต่อไป

ต่อจากนั้น ผมก็อ่านกามนิตแบบซึมซับเอาโอชะ หรือเหมือนกับท่องเที่ยวชมอุทยานอันอุดมไปด้วยอเนกนานาปิยารมณ์

เมื่อแรกอ่านกามนิต ผมไม่ได้สนใจความจริงที่ว่ากามนิตเป็นหนังสือแปลจากภาษาอังกฤษ

แต่เมื่อจับอ่านในรอบหลังๆ จึงได้เริ่มสังเกตเห็นว่า กามนิตเป็นหนังสือแปล-ที่เหมือนไม่ใช่หนังสือแปล แต่เหมือนหนังสือที่เขียนขึ้นเองในภาษาไทย

หนังสือแปลจากภาษาอังกฤษส่วนมากจะเป็นอย่างที่พูดกันว่า-กลิ่นนมกลิ่นเนยยังติดมาเป็นอันมาก คืออ่านสำนวนฝรั่ง เพียงแต่เปลี่ยนคำพูดเป็นไทย 

– จับรถไฟ

– พลาดรถไฟ

– ยืนบนขาของตัวเอง

– ข้าพเจ้าพบตัวเองเดินอยู่บนถนน

สำนวนแบบนี้คนรุ่นใหม่คงจะไม่รู้สึก เพราะเกิดมาก็ได้ยินคนไทยพูดกันอย่างนี้จนเข้าใจไปว่านี่แหละเป็นภาษาไทย

แต่คนรุ่นเก่าจะรู้สึกได้ทันทีว่า นี่มันสำนวนฝรั่งชัดๆ ไทยแท้เขาไม่พูดแบบนี้

อ่านหนังสือแปลรุ่นใหม่ๆ เราจะไม่ได้อ่านภาษาไทย แต่จะได้อ่านภาษาอังกฤษที่พูดเป็นคำไทยเท่านั้น

แต่กามนิตไม่เป็นเช่นนั้นเลย กามนิตไม่ใช่หนังสือที่เพียงแปลภาษาอังกฤษออกมาเป็นคำไทย หากแต่แปลภาษาอังกฤษออกมาเป็นภาษาไทย เป็นสำนวนไทยที่ไม่มีกลิ่นนมเนยใดๆ ติดมาด้วยเลยแม้แต่น้อย

…………..

วรรณกรรมเรื่องกามนิต ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาเยอรมัน ชื่อ Der Pilger Kamanita กวีและนักเขียนชาวเดนมาร์กชื่อ Karl Adolph Gjellerup (ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดีปี พ.ศ.๒๔๖๐) เป็นผู้เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙

ต่อมา นาย John E. Logie ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ (๕ ปีหลังจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน) ให้ชื่อว่า The Pilgrim Kamanita

“เสฐียรโกเศศ” (พระยาอนุมานราชธน) และ “นาคะประทีป” (พระสารประเสริฐ) แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ และพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ (๑๙ ปีหลังจากฉบับภาษาอังกฤษ และ ๒๔ ปีหลังจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน) ให้ชื่อในภาษาไทยว่า “กามนิต

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการนำไปพิมพ์เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียน เปลี่ยนชื่อเป็น “วาสิฏฐี” ตามชื่อนางเอก (ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ผมเห็นว่าเป็นการทำลายประวัติของหนังสือโดยไม่ฉลาดเลย)

…………..

“เสฐียรโกเศศ” ถนัดภาษาอังกฤษ

“นาคะประทีป” ถนัดภาษาบาลี

ทั้ง ๒ ท่านเป็นเอกในภาษาไทย

กามนิตฉบับแปลเป็นไทยจึงออกมาเป็นภาษาไทยที่งดงาม

ใครอยากรู้ว่าภาษาไทยที่งดงามสุดอลังการที่คนรุ่นก่อนหน้าเรารังสรรค์ออกมาเป็นอย่างไร ขอให้อ่านกามนิต

ผู้รู้ในวงวรรณกรรมท่านหนึ่งบอกผมเมื่อหลายปีมาแล้วว่า เดี๋ยวนี้คนเยอรมันไม่อ่าน Der Pilger Kamanita ของ Karl Adolph Gjellerup กันแล้ว

คนอังกฤษหรืออเมริกาก็ไม่อ่าน The Pilgrim Kamanita ของ John E. Logie

เหมือนกับที่เด็กไทยรุ่นใหม่ก็ไม่อ่าน กามนิต ของ เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป

แต่ผมอยากทำในสิ่งที่ทวนกระแส คือขอเชิญชวนให้คนไทยทุกรุ่นลองอ่าน กามนิต

ถ้าจะแต่งเป็นคำโฆษณาก็อยากจะบอกว่า –

อ่านกามนิต ท่านจะได้ความบันเทิงเริงรมย์ในฐานะเป็นนิยาย

ได้ความรู้หลากหลายในทางพระศาสนา

ได้สัมผัสอลังการแห่งภาษาอันวิจิตรบรรจง

—————-

ผมอ่านกามนิตตั้งแต่ยังไม่ได้เรียนบาลี 

พอมาเรียนบาลีแล้วกลับไปอ่านอีกหลายเที่ยว จึงได้ประจักษ์ใจว่า เรื่องราวในกามนิตมีที่มาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โวหารในกามนิตฉบับภาษาไทยหลายต่อหลายตอน-หรืออาจกล่าวได้ว่าตลอดทั้งเรื่อง เป็นโวหารที่มาจากสำนวนภาษาบาลี แต่ผ่านการขัดเกลาจนเป็นภาษาไทยที่สละสลวยเพริศพริ้งหาที่ติมิได้

ระยะหลัง ผมอ่านกามนิตพร้อมไปกับตั้งข้อสังเกตหลายอย่าง-โดยเฉพาะเรื่องราวของตัวละครที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา อย่างเช่นองคุลิมาลเป็นต้น 

องคุลิมาลเป็นโจรปล้นฆ่าผู้คน จนพระเจ้าแผ่นต้องยกกำลังไปปราบ ในพุทธประวัติปรากฏว่าเหตุการณ์ตอนนี้เกิดในเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล พระเจ้าแผ่นดินคือประเจ้าปเสนทิโกศล 

แต่ในเรื่องกามนิต เหตุการณ์เรื่ององคุลิมาลเกิดขึ้นในเมืองโกสัมพี พระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าอุเทน

ในเรื่องกามนิต องคุลิมาลถูกจับติดคุก

แต่ในพุทธประวัติ องคุลิมาลไม่เคยถูกจับ

ความเยื้องแย้งเช่นนี้คือโอชารสอีกชนิดหนึ่งที่-ถ้ารักที่จะศึกษาสืบค้น ก็จะได้ความรู้พร้อมไปกับความบันเทิงในธรรม 

ผมเคยคิดจะแปลกามนิตเป็นภาษาบาลีด้วย-จะบอกให้

ไม่ได้แค่คิด แต่ได้ลงมือเก็บข้อมูลไปบ้างแล้ว เป็นต้นว่า ค้นดูในคัมภีร์ว่ามีสตรีที่ชื่อ “วาสิฏฐี” บ้างหรือไม่ ก็พบว่าในคัมภีร์เถรีคาถามีภิกษุณีชื่อวาสิฏฐี แต่วิถีชีวิตไม่เหมือนวาสิฏฐีในเรื่องกามนิต

หรือชื่อ “สาตาเคียร” ถ้าเป็นบาลีจะชื่ออะไร ก็แน่ใจว่าต้องเป็น “สาตาคิร” (สา-ตา-คิ-ระ) และชื่อนี้ก็มีในคัมภีร์ เป็นชื่อยักษ์ตนหนึ่ง ก็ดูจะสอดคล้องกับลักษณะของสาตาเคียรในเรื่องกามนิต

อย่างที่บอกแล้วว่า ข้อความหลายตอนในกามนิตเป็นโวหารที่ถอดมาจากสำนวนบาลี เรื่องราวหลายตอนก็เป็นเรื่องที่มีปรากฏในคัมภีร์บาลี เพราะฉะนั้น กามนิตจึงเป็นวรรณกรรมที่ควรแปลเป็นภาษาบาลีเป็นที่สุด

ผมฝันไว้ว่าจะมีกามนิตฉบับภาษาบาลีเกิดขึ้นในวงวรรณกรรม

เป็นความฝันที่ท้าทาย แต่ไม่รู้ว่าจะไปท้าทายกับใครได้ เพราะนักเรียนบาลีในเมืองไทยดูเหมือนจะไม่ได้ถูกสอนมาให้คิดแบบนี้

ดั้งเดิมก็พอได้เห็นร่องรอยว่าเราถูกสอนมาให้เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้

นักเรียนบาลีรุ่นเก่าความรู้มักแน่นและแม่น 

แค่ประโยค ๖ สามารถค้นคว้าพระไตรปิฎกได้อย่างสบาย

แต่แล้วความเบี่ยงเบนก็เข้ามาครอบงำ

เวลานี้ นักเรียนบาลีของเราถูกสอนให้เรียนเพื่อสอบได้เป็นหลัก

แต่ไม่ได้ปลูกฝังให้เรียนเพื่อให้ได้ความรู้ แล้วเอาความรู้ไปเป็นหลักแห่งความประพฤติสำหรับตัวเอง ต่อจากนั้นก็เอาความรู้ไปสืบสวนค้นคว้าพระไตรปิฎกอันเป็นแหล่งคำสอนในพระพุทธศาสนา แล้วเอาหลักคำสอนที่ถูกต้องมาประกาศเผยแผ่แก่สังคม – นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนบาลี

แต่เวลานี้เป้าหมายมีเพียงแค่-เรียนเพื่อให้สอบได้

สอบได้แล้วก็จบแค่นั้น 

ชื่นชมยินดีกันแค่นั้น 

ซ้ำเป็นการจบแบบตัวใครตัวมัน นั่นคือ เราไม่มีระบบหรือหลักการว่าจะเอาผู้ที่จบแล้วทั้งหลายไปใช้งานอะไรบ้าง

ดังนั้น ผู้ที่เรียนบาลีจบแล้วจึงไม่มีอนาคตที่ชัดเจนแน่นอน 

ใครมีช่องทางไหนก็เลือกเดินกันเอาเอง 

ไปทางไหนได้ ก็ไปกันเอง 

ไปไหนไม่ได้ ก็อยู่กันไปเอง

เป็นวิธีจัดการศึกษาที่น่าวังเวงใจเป็นที่สุด

ประเด็นนี้ก็ต้องขอหยุดไว้แค่นี้อีกเหมือนกัน 

ผมอยากให้ผู้บริหารการพระศาสนาของเราเอาไปคิดต่อ เอาไปหาคำตอบให้ได้-หวังว่าการพระศาสนาบ้านเรายังมีผู้บริหารรับผิดชอบอยู่นะขอรับ

—————-

กลับมาที่-ความฝันที่จะแปลกามนิตเป็นภาษาบาลี

คนรุ่นใหม่คงอยากจะถามว่า-แล้วจะแปลให้ใครอ่าน? เหมือนคำถามในระบบธุรกิจ-ผลิตแล้วจะเอาไปขายที่ไหน

ภาษาเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของมนุษย์ ที่เรียกเป็นคำรวมว่า “อารยธรรม”

มนุษย์ไม่ได้สร้างอารยธรรมขึ้นเพียงเพื่อตอบคำถามว่า ผลิตแล้วจะเอาไปขายที่ไหน

เหมือนอย่างที่ท่านว่า-คนมิใช่เพียงเกิดมากินๆ นอนๆ สืบพันธุ์ แล้วก็ตายไป 

สาระของชีวิตมีมากกว่านั้น

หนึ่งในสาระของชีวิตคือภาษา

หนึ่งในภาษา-สำหรับสังคมไทยสังคมพุทธ-คือบาลีในฐานะภาษาที่บันทึกคำสอน

รู้บาลีคือโอกาสดีที่จะเข้าถึงหลักคำสอนที่ถูกต้องโดยไม่ต้องถูกใครหลอก

ผมยังไม่เลิกล้มความตั้งใจที่จะแปลกามนิตเป็นภาษาบาลี 

แต่ถ้ามีนักเลงบาลีเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันทำ ก็น่าจะสนุก

ขอส่งคำเชิญมา ณ ที่นี้

—————

อนึ่ง สำนวนภาษาไทยในกามนิตนั้นเหมาะอย่างยิ่งที่จะเอาไปออกข้อสอบวิชาแต่งไทยเป็นมคธในชั้น ป.ธ.๙ 

ถ้าผมเป็นแม่กองบาลีสนามหลวง ผมจะประกาศล่วงหน้าเลยว่า วิชาแต่งไทยเป็นมคธในชั้น ป.ธ.๙ ปีนี้จะออกเรื่องกามนิต ข้อความมีดังต่อไปนี้ 

………………

หนึ่ง

พระพุทธเจ้าเสด็จกลับเบญจคิรีนคร

“ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จลงมาตรัสในมนุษยโลกแล้ว ถึงวาระอันควรจะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ได้เสด็จสู่ที่จาริกไปในคามชนบทราชธานีต่าง ๆ แห่งแคว้นมคธจนบรรลุกรุงราชคฤห์มหานคร”

ข้อความในพระสูตรเป็นดั่งนี้

ขณะพระองค์เสด็จมาใกล้เบญจคิรีนครคือราชคฤห์ เป็นเวลาจวนสิ้นทิวาวารแดดในยามเย็นกำลังอ่อนลงสู่สมัยใกล้วิกาล ทอแสงแผ่ซ่านไปยังสาลีเกษตร แลละลิ่วเห็นเป็นทางสว่างไปทั่วประเทศสุดสายตา ดูประหนึ่งมีหัตถ์ทิพย์มาปกแผ่อำนวยสวัสดี เบื้องบนมีกลุ่มเมฆเป็นคลื่นซ้อนซับสลับกันเป็นทิวแถว ต้องแสงแดดจับเป็นสีระยับวะวับแววประหนึ่งเอาทรายทองไปโปรยปราย เลื่อนลอยลิ่ว ๆ เรี่ย ๆ รายลงจดขอบฟ้า ชาวนาและโคก็เมื่อยล้าด้วยตรากตรำทำงาน ต่างพากันดุ่ม ๆ เดินกลับเคหสถานเห็นไร ๆ เงาหมู่ไม้อันโดดเดี่ยวอยู่กอเดียว ก็ยืดยาวออกทุกที ๆ มีขอบปริมณฑลเป็นรัศมีแห่งสีรุ้ง อันกำแพงเชิงเทินป้อมปราการที่ล้อมกรุงรวมทั้งทวารบถทางเข้านครเล่า มองดูในขณะนั้นเห็นรูปเค้าได้ชัดถนัดแจ้งดั่งว่านิรมิตไว้ มีสุมทุมพุ่มไม้ดอกออกดกโอบอ้อมล้อมแน่นเป็นขนัด ถัดไปเป็นทิวเขาสูงตระหง่าน มีสีในเวลาตะวันยอแสงปานจะฉาบเอาไว้เพื่อแข่งกับแสงสีมณีวิเศษ มีบุษยราคบัณฑรวรรณและก่องแก้วโกเมน แม้รวมกันให้พ่ายแพ้ฉะนั้น 

พระตถาคตเจ้าทอดพระเนตรภูมิประเทศดั่งนี้ พลางรอพระบาทยุคลหยุดเสด็จพระดำเนิน มีพระหฤทัยเปี่ยมด้วยโสมนัสอินทรีย์ในภูมิภาพที่ทรงจำมาได้แต่กาลก่อน เช่นยอดเขากาฬกูฏไวบูลยบรรพต อิสิคิลิและคิชฌกูฏ ซึ่งสูงตระหง่านกว่ายอดอื่น ยิ่งกว่านี้ทรงทอดทัศนาเห็นเขาเวภาระอันมีกระแสธารน้ำร้อน ก็ทรงระลึกถึงคูหาใต้ต้นสัตตบรรณอันอยู่เชิงเขานั้น ว่าเมื่อพระองค์ยังเสด็จสัญจรร่อนเร่แต่โดยเดียว แสวงหาพระอภิสัมโพธิญาณ ได้เคยประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ในที่นั้นเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะเสด็จออกจากสังสารวัฏเข้าสู่แดนศิวโมกษปรินิพพาน

สมัยเมื่อล่วงแล้วแต่ปางหลัง ครั้งยังมีพระชนมายุในพระเยาวกาล เมื่อพระเกศายังดำเป็นมันขลับ เสวยอิฏฐารมณ์ผงมต่อความบันเทิงสุขโดยอุดมอันควรแก่ผู้อยู่ในวัยหนุ่มนั้น พระองค์ยังทรงสละสรรพสุขศฤงคารเสียได้ แล้วเสด็จออกจากพระราชสกุลวงศ์แห่งศากยชนบทในอุตรประเทศ เข้าสู่เขตลุ่มแม่น้ำคงคา บรรลุถึงเชิงเวภารบรรพตอันสูงลิ่ว ได้เสด็จประทับอยู่ที่นั้นเป็นปฐมกาลตลอดเวลาได้ช้านาน และเสด็จภิกขาจารในกรุงราชคฤห์ทุกบุพพัณหเวลา

สมัยนั้น และในคูหานั้น พระเจ้าพิมพิสาร ท้าวพญาแห่งมคธราษฏร์ได้เสด็จมาเฝ้าเยี่ยมพระองค์ ทรงอ้อนวอนอัญเชิญเสด็จให้กลับคืนแคว้นศากยะ เพื่อเสวยความสุขแห่งโลก แต่พระตถาคตมิทรงหวั่นไหว กลับประทานพระธรรมเทศนา จนพระเจ้าพิมพิสารบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระสัทธรรม ต่อมาได้เป็นอุบาสกสำคัญของพระพุทธองค์เจ้า

นับแต่นั้นมาจนถึงเวลาที่กล่าวนี้ ล่วงได้ ๕๐ ปีบริบูรณ์ และระวาง ๕๐ ปีนั้นมิใช่จะเพียงทรงเปลี่ยนแปลงพระองค์จากความเป็นผู้แสวงหาความจริง จนได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ ยังทรงบันดาลให้ความมีความเป็นแห่งสังสารโลก เปลี่ยนแปลงไปด้วยอดีตกาล เมื่อเสด็จประทับอาศัยอยู่ในถ้ำใต้ต้นสัตตบรรณครั้งกระโน้น ถ้าเทียบครั้งกระนี้ดูผิดกันห่างไกลนักหนา ครั้งกระโน้น พระองค์เป็นผู้แสวงหาความหลุดพ้นทุกข์ ต้องต่อสู้กับกิเลสมารอันหนาแน่น ต้องกระทำทุกรกิริยา ซึ่งมนุษย์อื่นที่แกล้วกล้าสามารถก็ย่อท้อทำไม่ได้ จนภายหลังทรงเห็นแจ้งซึ่งสังสารทุกข์ เสด็จออกจากทุกข์แล้ว ได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันความเป็นไปของพระองค์ครั้งกระโน้น ตลอดมาจนครั้งกระนี้ ก็เหมือนดั่งกลางวันในฤดูฝน พอรุ่งเช้ามีแสงแดดแผดจ้า แล้วนภากาศพยับอับแสงเกิดพายุแรงฟ้าคะนองก้องสะท้านซ่านด้วยเม็ดฝน ครั้นแล้วท้องฟ้าก็หายมืดมนกลับสว่างสงบเงียบ มีวิเวกเหมือนภูมิประเทศในยามเย็นที่กล่าวแล้ว จนกว่าพระอาทิตย์จะอัสดงดิ่งหายไปในขอบฟ้า

อันว่าพระอาทิตย์จะอัสดงลงฉันใด สำหรับพระตถาคตในขณะนี้ก็มีฉันนั้น พระองค์ได้ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้เห็นแจ้งซึ่งกองทุกข์ ทรงแสดงพระธรรมอันแท้จริงให้เห็นประจักษ์ และประทานหลักความหลุดพ้นจากทุกข์แก่มนุษยนิกรทั่วโลกธาตุ มีบริษัทสี่เป็นผู้สืบศาสโนวาทเผยแผ่พระธรรมของพระองค์ให้แพร่หลาย และประพฤติปฏิบัติด้วยกายวาจาใจ รักษาไว้ตลอดจิรกาลาวสาน

………….

………….

ระวางนั้น ขอบฟ้าทางเบื้องตะวันตก เปลี่ยนจากสีทองเป็นสีดำหลัวขมุกขมัวลง ภูมิประเทศโดยรอบมืดตามลงทุกที ค้างคาวที่เกี่ยวเกาะบนต้นรังเห็นดำทะมึนทึน ตกใจด้วยได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดินมา ก็ปล่อยเท้าที่เกาะแล้วกางปีกถลาร้องเสียงแหลมหายไปทางสวนผลไม้ในแถวนั้น

เมื่อพระตถาคตเสด็จบทจรมากว่าจะถึงละแวกพระนครก็มืดค่ำลงแล้ว ด้วยประการฉะนี้

………………

ให้เวลา ๔ ชั่วนาฬิกากับ ๑๕ นาที

………………

การสอบบาลีสนามหลวงประจำศกนี้ 

ชั้น ป.ธ.๖ – ป.ธ.๗ สอบในวันที่ ๑๘ – ๑๙ มกราคม ๒๕๖๑ 

ชั้น ป.ธ.๘ – ป.ธ.๙ สอบในวันที่ ๒๐ – ๒๑ – ๒๒ มกราคม ๒๕๖๑

———————

ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นลีลาสำนวนบาลีที่หลากหลาย เป็นการจุดประกายให้นักเรียนบาลีมีความคิด มีจินตนาการที่จะสร้างสรรค์วรรณกรรมบาลีขึ้นไว้ในวงการพระศาสนาในโอกาสต่อไป

แล้วมอบหมายให้ผู้ที่สอบ ป.ธ.๙ ได้ในศกนี้ช่วยกันแปลกามนิตฉบับภาษาไทยให้เป็นภาษาบาลีต่อไป

ไม่ใช่-สอบได้แล้วก็ปล่อยให้เดินหายเข้าไปในอนาคตอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ มกราคม ๒๕๖๑

๑๒:๐๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *