พระจาริก
พระจาริก
———–
ไม่ใช่ “พระธุดงค์”
ในบรรดาเรื่องที่คนไทยเข้าใจผิดอย่างชนิดฝังรากลึก ถึงขั้นหลงผิด ก็คือเรื่องพระธุดงค์
พอเห็นพระแบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม เดินไปตามถนนหนทางหรือตามที่ไหนๆ คนไทยจะบอกกันทันทีว่า “พระธุดงค์”
โปรดทราบทั่วกันว่า อาการเช่นว่านั้นไม่ใช่ลักษณะของ “พระธุดงค์”
ธุดงค์ในพระพุทธศาสนามี ๑๓ ลักษณะ
พูดอย่างสั้นที่สุดมีดังนี้ –
…………………….
๑ ใช้ผ้าบังสุกุล ไม่ใช้จีวรสำเร็จรูป
๒ ใช้ผ้าเฉพาะไตรจีวร ๓ ผืน ไม่ใช้ผ้าอื่นอีก
๓ ฉันเฉพาะอาหารที่ไปบิณฑบาตได้มา
๔ เดินบิณฑบาตและไม่เลือกรับ
๕ นั่งฉันครั้งเดียว ลุกแล้วไม่ฉันอีก
๖ ฉันในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่น
๗ กำหนดชนิดและปริมาณของอาหารก่อนจะลงมือฉัน และฉันเฉพาะที่กำหนดไว้เท่านั้น
๘ อยู่ป่า
๙ อยู่โคนไม้
๑๐ อยู่กลางแจ้ง ไม่เข้าร่ม
๑๑ อยู่ป่าช้า
๑๒ กรณีไปพักหรือไปอยู่ต่างถิ่น เขาจัดให้พักอย่างไร (อันสมควรแก่สมณบริโภค) ก็อยู่ตามนั้น ไม่เกี่ยง ไม่เลือก ไม่เรื่องมาก
๑๓ ไม่นอน
…………………….
ประพฤติหรือปฏิบัติตาม ๑๓ ลักษณะเหล่านี้ ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ นี่คือ “พระธุดงค์” ในพระพุทธศาสนา
จะเห็นได้ว่า ทั้ง ๑๓ ลักษณะนั้นไม่มีข้อไหนเลยที่บอกว่า การแบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม เดินไปตามถนนหนทางหรือตามที่ไหนๆ นั้นเป็นธุดงค์
วัดดังในเมืองไทยที่ควรจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการให้ความรู้ที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาแก่ประชาชน กลับเป็นหัวหอกตอกย้ำทำให้ผู้คนหลงผิดเรื่องธุดงค์หนักเข้าไปอีก
พระที่แบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม เดินไปตามถนนหนทางหรือตามที่ไหนๆ ที่มักพบเห็นกันนั้น ถ้าอยากจะเรียก ผมขอให้เรียกว่า “พระจาริก”
เรียกว่า “พระจาริก” ครับ
อย่าเรียกว่าพระธุดงค์ เพราะไม่ตรงกับความเป็นจริง
เห็นพระลักษณะเช่นนั้นแล้วไปเรียกว่าพระธุดงค์ ก็เท่ากับย้ำให้คนหลงผิดลึกลงไปอีก ไม่ยอมเลิกเข้าใจผิดกันสักที
ขออนุญาตย้ำ – ถ้าอยากเรียกให้ถูก เรียก “พระจาริก” ครับ
“พระจาริก” มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เนื่องมาจากคนสมัยพุทธกาลมีศรัทธาบวชปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์จากการเวียนตายเวียนเกิด พอบวชแล้ว เรียนรู้วิธีปฏิบัติเข้าใจถูกต้องแล้วก็จะลาพระพุทธเจ้าหรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์ไปหาสถานที่เหมาะๆ เพื่อปฏิบัติธรรม ไปรูปเดียวก็มี ไปเป็นคณะก็มาก
กับอีกประเภทหนึ่ง ตัวพระเองบรรลุธรรมแล้วก็ออกเดินทางไปประกาศพระศาสนาตามสถานที่ต่างๆ ตามพระพุทธดำรัสว่า –
………………………….
“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ.”
แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย จงเที่ยวจาริกไปเถิดเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ทวยเทพและมนุษย์
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๓๒ เป็นต้น
………………………….
ช่วงเวลาที่ออกเดินทางไปแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมหรือประกาศธรรมนั่นแหละครับเรียกว่า “เที่ยวจาริกไป” ซึ่งจะต้องมีอัฐบริขารและอุปกรณ์ในการดำรงชีพตามสมณวิสัยติดตัวไปด้วย และนั่นเองคือภาพพระแบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม เดินไปตามท้องถิ่นต่างๆ
ท่านไม่ได้ปฏิบัติธุดงค์ด้วยการเดินแต่อย่างใดทั้งสิ้น ท่านเดินไปหาที่ปฏิบัติธรรมและเดินไปประกาศธรรม ไม่ใช่เดินปฏิบัติธุดงค์
เดินไปถึงที่อันพึงประสงค์แล้ว ท่านอาจจะปฏิบัติธุดงค์ข้อไหนก็เป็นเรื่องของท่าน เป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่ต้องเอามาเกี่ยวกับการเดินแบกกลดเลย และธุดงค์ทั้ง ๑๓ ข้อนั้นก็ไม่มีข้อไหนเลยที่ต้องปฏิบัติด้วยการเดินแบกกลด หรือต้องเริ่มต้นโดยวิธีแบกกลดเหมือนเป็นบุรพภาคหรือเตรียมอุ่นเครื่องก่อนจากนั้นจึงจะปฏิบัติธุดงค์ข้อนั้นๆ ต่อไป-ไม่ใช่อย่างนี้เลย
ธุดงค์บางข้อ อยู่กับวัดนั่นเองก็สามารถปฏิบัติได้ ไม่ต้องเที่ยวแบกกลดเดินไปไหนๆ เลย
ทุกครั้งที่เห็นพระเดินแบกกลดแล้วเรียกว่า “พระธุดงค์” โปรดทราบว่าเรากำลังตอกย้ำตัวเองให้หลงผิด
หากเอาคำนั้นไปเรียกไปบอกให้ใครฟังอีก ก็คือตอกย้ำให้คนอื่นหลงผิดต่อไปอีก
และที่ต้องกราบขอร้องอีกอย่างหนึ่งก็คือ กรุณาอย่าพยายามอธิบายผิดให้เป็นถูก เช่นอธิบายว่า การแบกกลดเดินอนุโลมเข้ากับธุดงค์ข้อนั้น หรือสงเคราะห์เข้าได้กับธุดงค์ข้อนี้ หรือเป็นการบริหารร่างกายนับเข้าในธุดงค์ข้อโน้น หรือไม่รู้จะพูดอย่างไรก็พยายามอธิบายประโยชน์ของการแบกกลดเดินว่าดีอย่างนั้นๆ
เคยได้ยินท่านผู้หนึ่งแก้แทนให้ว่า การได้เห็นพระมาเดินอยู่เช่นนี้นับเข้าในมงคลข้อว่า สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง การได้เห็นสมณะเป็นมงคล – แถออกไปโน่น
ช่วยกันแก้ผิดให้ถูกง่ายกว่ากันเยอะเลย ถูกคืออย่างไรท่านก็สอนไว้ชัด ช่วยกันศึกษาให้เข้าใจ แล้วเอาถูกมาชี้ให้ดูว่าอย่างนี้คือถูก อย่างนี้คือธุดงค์ แบบนั้นผิด แบบนั้นไม่ใช่ธุดงค์ ตรงไปตรงมาแค่นี้
ใครจะเห็นประโยชน์ของการแบกกลดเดินว่าดีอย่างไร ก็ว่าไปตรงๆ แต่อย่าอ้างว่าแบบนั้นคือธุดงค์
เรื่องธุดงค์นั้นมีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก แต่ที่มีคำอธิบายละเอียดครบถ้วนมีแสดงไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค ๑ ธุดงคนิเทศ
คัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นแบบเรียนบาลีชั้นประโยค ๘ วิชาแปลมคธเป็นไทย และชั้นประโยค ๙ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใครจบบาลีต้องผ่านคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาแล้ว
ศึกษาเรื่องธุดงค์ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคให้ดีๆ จะพบนัยที่สำคัญข้อหนึ่ง นั่นคือภิกษุผู้ปฏิบัติธุดงค์โดยปกติแล้วจะปฏิบัติไปเงียบๆ ไม่แสดงตัว ไม่โฆษณาบอกใครๆ ไม่ติดป้ายว่าอาตมาปฏิบัติธุดงค์ ตรงกันข้าม บางทีปฏิบัติไปเงียบๆ พอมีใครแอบรู้ว่าท่านปฏิบัติธุดงค์ท่านกลับกลบเกลื่อนเหมือนกับว่าไม่ได้ปฏิบัติ
ธุดงค์เป็นข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลาตนเอง ทำไปเงียบๆ ตามลำพังตัวใครตัวมันดีที่สุด การประกาศแสดงตัวว่าข้าพเจ้าปฏิบัติธุดงค์ ไม่ได้ช่วยให้ขัดเกลาตัวเองได้ดีขึ้นแต่ประการใดทั้งสิ้น
และการที่คนอื่นไม่รู้ว่าเราปฏิบัติธุดงค์ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคให้ปฏิบัติธุดงค์ได้ลำบากยากขึ้นแต่ประการใด
การขัดเกลาตนเองด้วยธุดงค์เป็นวิธีขัดเกลาตนด้วยตน อุปมาเหมือนคนที่ตั้งใจแบกขนสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปด้วยตนเอง เป็นการออกกำลังหรือฝึกทำงานด้วยตัวเอง ก็ไม่ต้องเรียกให้ใครมาช่วย ถ้าเรียกให้ใครมาช่วย ก็เท่ากับเสียความตั้งใจ
ปฏิบัติขัดเกลาตนเอง แต่ไปเที่ยวบอกให้คนอื่นรู้โดยหวังว่าเขาจะได้มาช่วยอำนวยความสะดวกให้เราขัดเกลาตนเองได้ดีขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลย ใครจะรู้หรือไม่รู้ ใครจะมาช่วยอำนวยความสะดวกหรือไม่ช่วย เราก็ขัดเกลาตนเองของเราไปตามปกติ
ถ้าใครจะอ้างว่า-ควรประกาศ เพื่อให้คนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็พึงตระหนักเถิดว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของผู้สอน
พระพุทธศาสนาสอนให้ผู้ฟังนับถือเลื่อมใสคำสอน แล้วเอาคำสอนไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง ไม่ใช่สอนเพื่อให้เลื่อมใสตัวผู้สอนแล้วเอาลาภสักการะมาให้ผู้สอน – ตรงนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่เรามักจะพลาดกันมาก
การเอาธุดงค์มาแสดงกันผิดๆ นี่แหละคือตัวอย่างที่ชัดเจนตัวอย่างหนึ่งของการ-เรียนบาลี แต่ไม่เข้าถึงพระไตรปิฎก
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๐ เมษายน ๒๕๖๔
๑๑:๒๙
……………………….
พระจาริก: ไม่ใช่ “พระธุดงค์”
https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3945734342186940
……………………….
———-
ธุตงฺคนิทฺเทส
วิสุทธิมคฺคสฺส นาม ปกรณวิเสสสฺล (ปฐโม ภาโค) หน้า 73-104
ธุดงคนิเทศ
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ หน้า 120-180