บาลีวันละคำ

สุโขทย (บาลีวันละคำ 103)

สุโขทย

อ่านว่า สุ-โข-ทะ-ยะ

ประกอบด้วยศัพท์ว่า สุข + อุทย (แผลง อุ เป็น โอ = สุข + โอทย) = สุโขทย

ภาษาไทยใช้ว่า “สุโขทัย” (สุ-โข-ไท)

“สุข” แปลว่า “ความสุข” “อุทย” แปลว่า “การเกิดขึ้น”

“สุโขทย” จึงแปลตามตัวว่า “การเกิดขึ้นแห่งความสุข” หรือ “การเกิดขึ้นอันเป็นความสุข”

“อุทย” เมื่อประสมกับคำอื่น ก็มีความหมายเฉพาะลงไป เช่น อรุณ + อุทย = อรุโณทัย “การตั้งขึ้นแห่งอรุณ”

หรือหมายถึง “เริ่มส่องแสง” ในคำว่า อาทิตย์อุทัย

ดังนั้น “สุโขทย – สุโขทัย” ที่เป็นชื่อเมืองในประวัติศาสตร์ และเป็นชื่อจังหวัดหนึ่งของไทย จึงมีความหมายว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข”

“อุทย” ยังมีความหมายอีกหลาย เช่น การขึ้น, การโผล่ขึ้น, ความเจริญ, การเพิ่มพูน, รายได้, ผลประโยชน์

“อุทย” ถ้ารวมกับ “วย” (วะ-ยะ) ที่แปลว่า “ความเสื่อม” จะได้ศัพท์ใหม่ว่า “อุทยพฺพย” (อุ-ทะ-ยับ-พะ-ยะ) แปลว่า “การเกิดและการดับ”

เมื่อมี “สุโขทัย – รุ่งอรุณแห่งความสุข” จึงเท่ากับเตือนสติไปด้วยว่า อย่าประมาท เพราะ “เกิด” เป็นของคู่กับ “ดับ”

พระท่านว่า : คนที่เห็นสัจธรรมคือ “เกิด-ดับ” มีชีวิตอยู่แค่วันเดียว ประเสริฐกว่าคนอายุยืนตั้งร้อยปี แต่ไม่รู้ว่า “เกิด-ดับ” คืออะไร

บาลีวันละคำ (103)

19-8-55

อุทัย

  น. การเกิดขึ้น เช่น สุโขทัย = การเกิดขึ้นแห่งความสุข, การตั้งขึ้น เช่น อรุโณทัย = การตั้งขึ้นแห่งอรุณ.ก. เริ่มส่องแสง ในคำว่า อาทิตย์อุทัย. (ป., ส.).

อุทย ป.

การโผล่ขึ้น, รายได้.

การขึ้น, ความเจริญ, การเพิ่มพูน, รายได้, ผลประโยชน์

อุทยพฺพย ป.

การเจริญขึ้นและเสื่อมลง.

อุทยพฺพยานุปสฺสี ค.

ผู้มีปกติเห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไป.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย