ปาติโมกฺข (บาลีวันละคำ 102)
ปาติโมกฺข
อ่านว่า ปา-ติ-โมก-ขะ
ในภาษาไทยใช้ว่า “ปาติโมกข์” (ปา-ติ-โมก)
คำนี้เขียน “ปาฏิโมกฺข – ปาฏิโมกข์” (ใช้ ฏ ปฏัก) ก็มี
“ปาติโมกฺข” มีรากศัพท์มาหลายทาง เช่น –
1- ป (ทั้งปวง) + อติ (เกิน, ล่วง) + โมกฺข (พ้น) = ปาติโมกฺข แปลว่า “ธรรมที่เป็นเหตุให้ล่วงพ้นจากทุกข์ได้ด้วยประการทั้งปวง”
2- ปฏิ (มุ่งเฉพาะ) + มุข (ต้นทาง) = ปาติโมกฺข แปลว่า “หลักธรรมที่เป็นต้นทาง หรือเป็นประธานมุ่งหน้าไปสู่ความพ้นทุกข์”
3- ปาติ (กิเลสที่ทำให้ตกนรก) + โมกฺข (ธาตุ = หลุดพ้น) = ปาติโมกฺข แปลว่า “ธรรมที่ยังบุคคลผู้รักษาให้หลุดพ้นจากนรก”
“ปาติโมกข์” ที่เราคุ้นกันดีเป็นคัมภีร์รวบรวมพระวินัยที่เป็นหลักของภิกษุ ที่รู้กันว่า ศีล 227 ข้อ และมีบัญญัติให้สวดในที่ชุมนุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน (วันกลางเดือน และสิ้นเดือนตามจันทรคติ) เพื่อทบทวนข้อปฏิบัติและสำรวจตนเองว่าได้ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติครบถ้วนถูกต้องแล้วหรือไม่
“ปาติโมกข์” จัดเป็นสังฆกรรมสำคัญอย่างหนึ่ง เรียกว่า “อุโบสถกรรม” หรือที่รู้จักกันในคำว่า “ลงโบสถ์” แสดงนัยว่าพระสงฆ์ในวัดนั้นยังตั้งใจรักษาสิกขาวินัยและสมัครสมานกันดี
คนที่เป็นสมาชิกอยู่ในสังคมเดียวกัน แต่ไม่ถูกกัน จึงมีสำนวนพูดว่า “คู่นี้เขาไม่ลงโบสถ์กัน”
บาลีวันละคำ (102)
18-8-55
คำว่า ปาฏิโมกข์ นี้เป็นมุข และเป็นประมุข. พึงทราบพิสดารดังต่อไปนี้.
อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า ป ใช้ในอรรถว่า ปการะ
ศัพท์ว่า อติ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่า อัจจันตะ.
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าปาฏิโมกข์เพราะพ้นล่วงส่วน โดยทุกประการ.
จริงอยู่ ศีลนี้ ชื่อว่าปาฏิโมกข์ เพราะ
ตัวศีลทำให้หลุดพ้นได้จริง
ปาติโมกฺข , ปาฎิ- = ปาติโมกข์ (ศัพท์วิเคราะห์)
– อวิชฺชาทินา เหตุนา สํสาเร ปตติ คจฺฉติ ปวตฺตตีติ ปาตี, ตสฺส ปาติโน สตฺตสฺส ตณฺหาทิสงฺกิเลสตฺตยโต โมกฺโข เอเตนาติ ปาติโมกฺโข ธรรมเป็นเครื่องพ้นจากกองกิเลสของสัตวโลกผู้ตกไปในสังสารวัฏเพราะอวิชชาเป็นต้น
ปาตี + โมกฺข, รัสสะ อี เป็น อิ
– ปาเตติ วินิปาเตติ ทุกฺเขหีติ ปาติ (จิตฺตํ), ตสฺส ปาติโน โมกฺโข เอเตนาติ ปาติโมกฺโข ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นแห่งจิตที่ยังสัตวโลกให้ตกไปจากทุกข์
ปาติ + โมกฺข
– ปตติ เอเตน อปายทุกฺเข สํสารทุกฺเขติ ปาติ (ตณฺหาทิสงฺกิเลสา), ตโต ปาติโต โมกฺโข ปาติโมกฺโข ธรรมที่หลุดพ้นจากสังกิเลสอันเป็นเหตุตกไปในอบายทุกข์และสังสารทุกข์แห่งสัตวโลก
ปาติ + โมกฺข
– โย นํ ปาติ รกฺขติ, ตํ โมกฺเขติ โมเจติ อาปายิกาทีหิ ทุกฺเขหีติ ปาติโมกฺโข ธรรมที่ยังบุคคลผู้รักษาให้หลุดพ้นจากทุกข์ในอบายเป็นต้น
ปาติ บทหน้า โมกฺข ธาตุ ในความหมายว่าหลุดพ้น อ ปัจจัย
– พหุกฺขตฺตุํ อปาเยสุ ปตนสีโลติ ปาตี (ปุถุชฺชโน), ตํ ปาตึ สํสารทุกฺขโต โมกฺเขตีติ ปาติโมกฺโข ธรรมที่ยังปุถุชนผู้มีปกติตกไปในอบายมากครั้งให้หลุดพ้นจากสังสารทุกข์
ปาตี บทหน้า โมกฺข ธาตุ ในความหมายว่าหลุดพ้น อ ปัจจัย
ปาฏิโมกฺข , (ปาติ-) (บาลี-อังกฤษ)
(นปุง.) (กล่าวไว้อย่างมีเหตุผลว่า เป็น ปฏิ + โมกฺข, ณฺย ปัจจัย ของ มุจฺ (เหตุ. โมกฺษ) ด้วยการทีฆะ ปฏิ เหมือนนามกิตก์คำอื่นๆ เช่น ปาฏิเทสนีย. ดังนั้นตามความเป็นจริงแล้วเหมือนกับ ปฏิโมกฺข๒ ในความหมายว่า ผูกพัน, พึงปฏิบัติ, พันธกรณี สัน. ปฺราฏิโมกฺษ เป็นการดัดแปลงอย่างผิดๆจาก บา. ปาติโมกฺข, อันที่จริงควรเป็น ปฺรติโมกฺษย “สิ่งที่ควรทำให้ผูกพัน” คำอธิบายคำนี้ตามรากศัพท์ที่ยอมรับกันแพร่หลายปรากฏใน วิ.ม.๑๖ with Childers plausibly as paṭi+ mokkha, grd. of muc (Caus. mokṣ˚) with lengthening of paṭi as in other grd. like pāṭidesaniya. Thus in reality the same as paṭimokkha 2 in sense of binding, obligatory, obligation, cp. J v.25. The spelling is freq. pāti˚ (BB pāṭi˚). The Sk. prāṭimokṣa is a wrong adaptation fr. P. pātimokkha, it should really be pratimokṣya “that which should be made binding.” An expln of the word after the style of a popular etym. is to be found at Vism 16)
ชื่อของสิกขาบทต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในพระวินัย ซึ่งพระสงฆ์สวดในวันอุโบสถเพื่อสารภาพความผิด a name given to a collection of various precepts contained in the Vinaya (forming the foundation of the Suttavibhanga, Vin vols. iii & iv., ed. Oldenberg), as they were recited on Uposatha days for the purpose of confession.
ปาติโมกฺข ปุ., นป.(พจนานุกรมบาลี-ไทย.มหิดล.)
พระปาฏิโมกข์, ธรรมเป็นที่อาศัยให้พ้นจากอาบัติ; พระคัมภีร์รวบรวมพระวินัยที่เป็นหลักของภิกษุไว้และต้องสวดในที่ชุมนุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เพื่อทบทวนข้อปฏิบัติและสำรวจตนเองว่าได้ปฏิบัติตนเองตามพุทธบัญญัติหรือไม่
ปาฏิโมกข์ (ประมวลศัพท์)
ชื่อคัมภีร์ที่ประมวลพุทธบัญญัติอันทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา ได้แก่อาทิพรหมจริยกาสิกขา มีพระพุทธานุญาต ให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เรียกกันว่า พระสงฆ์ทำอุโบสถ, คัมภีร์ที่รวมวินัยของสงฆ์ สำหรับภิกษุ เรียก ภิกขุปาฏิโมกข์ มีสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ และสำหรับภิกษุณี เรียก ภิกขุนีปาฏิโมกข์ มีสิกขาบท ๓๑๑ ข้อ; ปาฏิโมกข์ ๒ คือ ๑.อาณาปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์ที่เป็นพระพุทธอาณา ได้แก่ ภิกขุปาฏิโมกข์ และภิกขุนีปาฏิโมกข์ ๒.โอวาทปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์ที่เป็นพระพุทธโอวาท ได้แก่ พุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ดังที่ได้ตรัสในที่ประชุมพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ในวันมาฆปุณมี หลังตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน, อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในที่ประชุมพระสงฆ์เป็นประจำตลอด ๒๐ พรรษาแรก ต่อจากนั้น จึงได้รับสั่งให้พระสงฆ์สวดอาณาปาฏิโมกข์กันเองสืบต่อมา; (พจนานุกรมเขียน ปาติโมกข์); ดู โอวาทปาฏิโมกข์
ปาติโมกข์
น. คัมภีร์ว่าด้วยวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ, ชื่อบาลีที่ประมวลพุทธบัญญัติอันทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา ได้แก่ อาทิพรหมจริยกาสิกขา มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกวันอุโบสถ. (ป.).