บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส (๒)

คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส (๒)

—————————

สรุปว่า –

อาบัติปาราชิก ทำผิดเข้าแล้วหมดสภาพความเป็นพระทันที แม้จะไม่มีใครรู้เห็น และยังนุ่งห่มจีวรอยู่ ก็เข้าลักษณะ “ลักเพศ” คือตัวเองไม่มีสิทธิ์เป็นพระต่อไปอีกแล้ว แต่ขโมยเพศพระมาใช้ อยู่ในฐานะหลอกลวงชาวบ้านเท่านั้นเอง

อาบัติสังฆาทิเสส เป็นอาบัติหนักก็จริง แต่ทำผิดเข้าแล้วยังไม่หมดสภาพความเป็นพระ คือยังพอแก้ไขได้ โดยพระที่ทำผิดต้องทำตามระเบียบปฏิบัติหรือตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระวินัย ที่ท่านใช้คำว่า “ต้องอยู่กรรมจึงพ้นได้” 

ระเบียบปฏิบัตินี้ เรียกเป็นคำพระว่า “วุฏฐานวิธี” (วุด-ถา-นะ-วิ-ที) เป็นกระบวนการลงโทษเยี่ยงอารยชนต่อผู้ทำผิดฐานครุโทษ คือโทษหนัก 

พระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าสารภาพผิดทันทีที่ทำผิด ก็จะเข้าสู่กระบวนการลงโทษ มีขั้นตอน คือ –

……………….

มานัต 

……………….

มานัต แปลตามศัพท์ว่า “นับ” 

หมายถึงเริ่มนับวันที่ต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเองในความควบคุมของสงฆ์ นิยมพูดว่า “ประพฤติมานัต

จำนวนวันที่จะต้องประพฤติมานัตคือ ๖ วัน

ประพฤติมานัตคือทำอะไร?

ประพฤติมานัตคือการลงโทษตัวเอง เช่น

– นั่งนอนร่วมกับภิกษุอื่นไม่ได้ ต้องแยกบริเวณอยู่ต่างหาก มีฐานะคล้ายคนเป็นโรคที่อาจติดต่อไปยังคนอื่นได้ จึงต้องแยกไม่ให้อยู่ปนกับใครๆ

– ถูกตัดสิทธิ์ เช่นระหว่างประพฤติมานัต มีกิจนิมนต์ และพระที่ประพฤติมานัตนั้นอยู่ในลำดับที่จะต้องได้ไปในกิจนิมนต์นั้น ก็จะถูกตัดออกจากลำดับการรับนิมนต์ 

– ลดฐานะตัวเอง เช่น หากจะต้องมารวมในที่ชุมนุมสงฆ์ ถ้าเป็นพระผู้ใหญ่ ก็ต้องไปนั่งท้ายแถว รับไหว้จากพระด้วยกันไม่ได้ เป็นต้น

– ประจานตัว เช่น ถ้ามีพระอาคันตุกะเข้ามาในวัด พระที่ประพฤติมานัตต้องไปรายงานตัวว่า ตนต้องอาบัติหนัก อยู่ในระหว่างถูกลงโทษ

ถ้าจะเปรียบ “ประพฤติมานัต” ก็คล้ายกับที่เรียกว่า “คุมประพฤติ” นั่นเอง

……………….

อัพภาน 

……………….

อัพภาน แปลว่า “การเรียกเข้า” “การรับกลับเข้าหมู่” 

คือเมื่อภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสได้ประพฤติมานัตอันเป็นการทำโทษตนเองตามเวลาที่กำหนดเสร็จแล้ว สงฆ์จะประชุมกันเพื่อพิจารณาให้กลับคืนเป็นผู้บริสุทธิ์ดังเดิม 

ตามพระวินัยกำหนดไว้ว่า ในการทำกรรมวิธีหรือ “สังฆกรรม” ที่เรียกว่า “อัพภาน” นี้ ต้องมีภิกษุอย่างต่ำ ๒๐ รูปเข้าร่วมจึงจะถือว่าเป็นองค์ประชุม

ถึงตรงนี้ บางท่านคงจะพอนึกออกว่า ในการสร้างโบสถ์นั้นมีข้อกำหนดข้อหนึ่ง คือภายในโบสถ์ต้องมีความกว้างที่สามารถจุภิกษุได้อย่างน้อย ๒๐ รูป

ตัวเลขจำนวน ๒๐ รูปมาจากไหน? ก็มาจากจำนวนภิกษุที่เป็นองค์ประชุมในสังฆกรรมที่ชื่อ “อัพภาน” นี้เอง

กระบวนการตามปกติเพื่อพ้นจากอาบัติสังฆาทิเสสก็มี ๒ ขั้นตอน คือ มานัต และอัพภาน เท่านี้

……………….

ปริวาส 

……………….

ปริวาส มีความหมายว่า “การอยู่ค้างคืน” “การอยู่แรมคืน

พึงเข้าใจว่า สังคมสงฆ์เป็นสังคมแห่งอารยชน ผู้เข้ามาเป็นสมาชิกเข้ามาด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ อยู่กันด้วยกฎกติกาคือศีลหรือระเบียบวินัย ให้เกียรติกันบนพื้นฐานแห่งสัญญาสุภาพบุรุษ ใครละเมิดกติกา ก็ต้องหน้าบางพอที่จะสารภาพผิดได้ทันที

แต่ถ้าพระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ ไม่สารภาพผิดทันทีที่รู้ตัวว่าทำผิด เรื่องมาแดงขึ้นทีหลังจะโดยนึกละอายใจจึงสารภาพออกมาเองหรือถูกจับได้ก็ตาม จะต้องถูกลงโทษด้วยการ “อยู่ปริวาส” ก่อน จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขตามปกติที่เริ่มต้นด้วย “มานัต” ได้

ลักษณะที่เรียกว่า “อยู่ปริวาส” ก็คือต้องปฏิบัติตนเช่นเดียวกับ “ประพฤติมานัต” นั่นเอง

ปกปิดไว้กี่วัน ก็ต้องอยู่ปริวาสตามจำนวนวันที่ปกปิดไว้ เมื่อครบวันแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนปกติ คือ “มานัต” ต่อไป

อุปมาอาจจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

เหมือนการเสียภาษีอะไรสักอย่างที่ให้ชำระภายในเวลาที่กำหนด ถ้าเกินเวลาก็ต้องถูกปรับ คือต้องเสียค่าปรับด้วย และเสียภาษีตามปกติด้วย

ปริวาส” เปรียบเหมือนค่าปรับ 

มานัต” เหมือนเสียภาษีตามปกติ

อยู่ปริวาส” ก็เหมือนเสียค่าปรับก่อนที่จะเสียภาษีนั่นเอง 

ถ้าชำระภาษีตรงตามเวลาที่กำหนด ก็ไม่ต้องเสียค่าปรับ

ถ้าต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ยอมรับโดยเปิดเผยทันที ไม่ได้ปกปิดไว้ ก็ไม่ต้องอยู่ปริวาส

ฉันใดก็ฉันนั้น

……………….

ปฏิกัสสนา 

……………….

ปฏิกัสสนา แปลว่า “ถอยกลับ” “กลับไปตั้งต้นใหม่

คือในระหว่างอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตนั้น หากไปประพฤติผิด คือต้องอาบัติสังฆาทิเสสซ้ำเข้าอีก จะต้องนับหนึ่งกันใหม่ คือกลับไปอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตตั้งแต่เริ่มต้นไปใหม่

มานัต  อัพภาน  ปริวาส  ปฏิกัสสนา  เป็นศัพท์เทคนิคทางวินัยสงฆ์

คำเหล่านี้เพียงฟังไว้ ถ้าสนใจก็หาความรู้เพิ่มเติมต่อไป 

ในที่นี้จะว่าเฉพาะ “ปริวาส” อันเป็นที่มาของปัญหา

………….

(มีต่อ)

………….

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๗:๑๑

…………………………………………..

คิดเฟื่องเรื่องอยู่ปริวาส (๒)

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *