สิกฺขา (บาลีวันละคำ 113)
สิกฺขา
อ่านว่า สิก-ขา
ในภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤต คือ “ศิกฺษา” แล้วเสียงกลายเป็น “ศึกษา” และพูดทับศัพท์ว่า “ศึกษา” จนเข้าใจกันทั่วไป
“สิกฺขา” มีรากศัพท์ คือ สิกฺข (ธาตุ = ศึกษา, เรียนรู้) + อ (ปัจจัย) + อา (ทำศัพท์ให้เป็นอิตถีลิงค์) = สิกฺขา
อีกรูปหนึ่งของ สิกฺขา คือ “สิกฺขน” (สิก-ขะ-นะ)
“ศึกษา” ในความเข้าใจทั่วไป มักหมายความเพียงแค่ “เรียนวิชาความรู้”
แต่ “สิกฺขา” ในภาษาบาลีมีความหมายกว้างและลึกซึ้งมากกว่าเรียนวิชาความรู้ คือหมายถึงการสำเหนียก, การเรียนรู้, การฝึกฝนปฏิบัติ, การเล่าเรียนให้รู้เข้าใจและฝึกหัดปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติที่เกิดมีขึ้นในตนหรือให้ทำได้ทำเป็น ตลอดจนแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปจนถึงความสมบูรณ์
หลัก “สิกฺขา” ที่สำคัญในพระพุทธศาสนามี 3 อย่าง เรียกว่า “ไตรสิกขา” สำหรับบรรพชิต คือ “ศีล สมาธิ ปัญญา” สำหรับคฤหัสถ์ คือ “ทาน ศีล ภาวนา”
สำหรับบรรพชิต “สิกฺขา” หมายถึงระบบวิถีชีวิตทั้งชีวิต เมื่อไม่สามารถอยู่ในวิถีชีวิตเช่นนั้นได้ ก็ต้องออกไป เรียกว่า “ลาสิกขา”
“ลาสิกขา” ออกเสียงตามคำที่ใช้ในภาษาไทยคือ “ลาศึกษา” แล้วกร่อนเป็น “ลาศึกษ์” แล้วเลยเขียนเป็น “ลาสึก”
คำว่า “ลาสึก” หรือ “สึก” จึงหมายถึงออกจากเพศบรรพชิตไปเป็นคฤหัสถ์ตามเดิม
เรียนรู้วิชาการมาก แต่ไม่ได้ฝึกฝนอบรมตนให้เป็นคนดี
ก็เป็นแค่เรียนสูง แต่ไม่มีการศึกษา
บาลีวันละคำ (113)
28-8-55
ศึกษา
น. การเล่าเรียน ฝึกฝน และอบรม. (ส. ศิกฺษา; ป. สิกฺขา).
สิกฺขา
การศึกษา การเล่าเรียน การเรียนรู้ ข้อที่ควรศึกษา
สิกฺขนํ สิกฺขา การศึกษา
สิกฺข ธาตุ ในความหมายว่าศึกษา, การเรียนรู้ อ ปัจจัย อา อิตถีลิงค์
สิกฺขิยเตติ สิกขา ข้อปฏิบัติอันบุคคลศึกษา
สิกฺขิตพฺพาติ สิกขา ข้อปฏิบัติอันบุคคลพึงศึกษา
สิกฺขนฺเต อชฺฌายนฺเต เอตายาติ สิกฺขา ข้อเป็นเครื่องศึกษา
(ศัพท์วิเคราะห์)
สิกขา
การศึกษา, การสำเหนียก, การเรียน, การฝึกฝนปฏิบัติ, การเล่าเรียนให้รู้เข้าใจ และฝึกหัดปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติที่เกิดมีขึ้นในตนหรือให้ทำได้ทำเป็น ตลอดจนแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปจนถึงความสมบูรณ์; ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมพัฒนาบุคคล;
สิกขา ๓ คือ
๑. อธิสีลสิกขา สิกขาคือศีลอันยิ่ง, อธิศีลอันเป็นข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาศีลอย่างสูง (ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เป็นศีล, ปาฏิโมกขสังวรศีล เป็นอธิศีล; แต่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ที่รักษาด้วยความเข้าใจ ให้เป็นเครื่องหนุนนำออกจากวัฏฏะ ก็เป็นอธิศีล)
๒. อธิจิตตสิกขา สิกขาคือจิตอันยิ่ง, อธิจิตอันเป็นข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจให้มีสมาธิเป็นต้นอย่างสูง (กุศลจิตทั้งหลายจนถึงสมาบัติ ๘ เป็นจิต, ฌานสมาบัติที่เป็นบาทแห่งวิปัสสนา เป็นอธิจิต; แต่สมาบัติ ๘ นั้นแหละ ถ้าปฏิบัติด้วยความเข้าใจ มุ่งให้เป็นเครื่องหนุนนำออกจากวัฏฏะ ก็เป็นอธิจิต)
๓. อธิปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญาอันยิ่ง, อธิปัญญาอันเป็นข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาปัญญาอย่างสูง (ความรู้เข้าใจหลักเหตุผลถูกต้องอย่างสามัญ อันเป็นกัมมัสสกตาญาณคือความรู้จักว่าทุกคนเป็นเจ้าของแห่งกรรมของตน เป็นปัญญา, วิปัสสนาปัญญาที่กำหนดรู้ความจริงแห่งไตรลักษณ์ เป็นอธิปัญญา;
แต่โดยนัยอย่างเพลา กัมมัสสกตาปัญญาที่โยงไปให้มองเห็นทุกข์ที่เนื่องด้วยวัฏฏะ หรือแม้กระทั่งความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ก้าวไปในมรรค ก็เป็นอธิปัญญา); สิกขา ๓ นี้ นิยมเรียกว่า ไตรสิกขา และเรียกข้อย่อยทั้งสามง่ายๆ สั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
(ประมวลศัพท์)