สตฺตปฺปกรณ (บาลีวันละคำ 121)
สตฺตปฺปกรณ
อ่านว่า สัด-ตับ-ปะ-กะ-ระ-นะ
ประกอบด้วยคำว่า สตฺต (จำนวนเจ็ด) + ปกรณ (คัมภีร์) = สตฺตปฺปกรณ แปลว่า “คัมภีร์เจ็ดเล่ม” หรือ “เจ็ดคัมภีร์” ซึ่งหมายถึงพระอภิธรรมปิฎก 7 คัมภีร์ คือ
1 สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภทๆ
2 วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
3 ธาตุกถา จัดข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ
4 ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ
5 กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ 3
6 ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
7 ปัฏฐาน อธิบายปัจจัย 24 แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร
พระสงฆ์นำพระอภิธรรม 7 คัมภีร์นี้มาสวดในพิธีศพ เรียกว่า “พิธีสัตตปกรณ์” อ่านว่า สัด-ตะ-ปะ-กอน เขียนตามรูปสันสกฤตว่า “สัปตปกรณ์” อ่านว่า สับ-ตะ-ปะ-กอน ในที่สุดเพี้ยนมาเป็น “สดับปกรณ์”
“สดับปกรณ์” จึงหมายถึงพิธีสวดมาติกาบังสุกุลเนื่องด้วยศพ ปัจจุบันใช้คำนี้เฉพาะศพเจ้านาย
ผู้รู้เอาคำแรกของทั้ง 7 ปกรณ์นี้มาเรียกรวมกันเพื่อจำง่าย ว่า “สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ” เรียกกันว่า “หัวใจพระอภิธรรมปิฎก”
บาลีวันละคำ (121)
6-9-55
สดับปกรณ์
[สะดับปะกอน] ก. บังสุกุล (ใช้แก่ศพเจ้านาย).น. พิธีสวดมาติกาบังสุกุลเนื่องด้วยศพ ปัจจุบันใช้เฉพาะเจ้านาย. (ป. สตฺตปฺปกรณ; ส. สปฺตปฺรกรณ หมายถึง พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์).
สดับปกรณ์
“เจ็ดคัมภีร์” หมายถึงคัมภีร์พระอภิธรรมทั้ง ๗ ในพระอภิธรรมปิฎก เขียนเต็มว่า สัตตัปปกรณ์ (ดู ไตรปิฎก) แต่ในภาษาไทยคำนี้มีความหมายกร่อนลงมา เป็นคำสำหรับใช้ในพิธีกรรม เรียกกิริยาที่พระภิกษุกล่าวคำพิจารณาสังขารเมื่อจะชักผ้าบังสุกุลในพิธีศพเจ้านายว่า สดับปกรณ์ ตรงกับที่เรียกในพิธีศพทั่วๆ ไปว่า บังสุกุล (ซึ่งก็เป็นศัพท์ที่มีความหมายกร่อนเช่นเดียวกัน); ใช้เป็นคำนาม หมายถึง พิธีสวดมาติกาบังสุกุลในงานศพ ปัจจุบันใช้เฉพาะศพเจ้านาย (ประมวลศัพท์)
๓. พระอภิธรรมปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ
๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภทๆ
๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ
๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ
๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓
๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
๗. ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย ๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร
(ประมวลศัพท์)