บาลีวันละคำ

อรหนฺต (2) (บาลีวันละคำ 123)

อรหนฺต (2)

อ่านว่า อะ-ระ-หัน-ตะ

แปลทับศัพท์ว่า “พระอรหันต์” คือพระอริยบุคคลชั้นสูงสุด หมดกิเลสสิ้นเชิง เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เมื่อดับขันธนิพพานแล้วไม่เกิดในภพภูมิใดๆ อีก (ดู บาลีวันละคำ (63) 7-7-55)

พระอรหันต์ 4 ประเภทที่ควรทราบ คือ –

1 พระสุกขวิปัสสก (-สุก-ขะ-วิ-ปัด-สก) = “ผู้เห็นแจ้งกิเลสแห้งจากใจ” คือผู้เจริญวิปัสสนาล้วน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่นอีก เช่นไม่ได้ฌานสมาบัติ ไม่ได้อภิญญา เป็นต้น

2 พระเตวิชชะ (-เต-วิด-ชะ) = “ผู้ได้วิชชาสาม” คือ [1] ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ระลึกชาติได้ [2] จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย (รู้ว่าใครตายไปเกิดเป็นอะไรที่ไหน) [3] อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น

3 พระฉฬภิญญะ (-ฉะ-ละ-พิน-ยะ) = “ผู้ได้อภิญญาหก” คือ [1] อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ [2] ทิพพโสต หูทิพย์ [3] เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้ [4] ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ [5] ทิพพจักขุ ตาทิพย์ [6] อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป

4 พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ (-ปะ-ติ-สำ-พิ-ทับ-ปัด-ตะ) = “ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา” ปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานใน 4 ทาง คือ [1] อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ [2] ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม [3] นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในทางนิรุกติ คือภาษา [4] ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ

หลักพื้นฐานที่ควรทราบเกี่ยวกับพระอรหันต์

– พระอรหันต์ไม่หัวเราะ ไม่ยิ้ม

– พระอรหันต์ไม่ฝัน

– พระอรหันต์ไม่เกิดอีก

บาลีวันละคำ (123)

8-9-55

พระอรหันต์ 4 คือ

1 พระสุกขวิปัสสก

2 พระเตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา 3)

3 พระฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา 6)

4 พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4)

พระอรหันต์ ๕ คือ

๑. พระปัญญาวิมุต

๒. พระอุภโตภาควิมุต

๓. พระเตวิชชะ

๔. พระฉฬภิญญะ

๕. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ;

ดู อริยบุคคล

พระสุกขวิปัสสก

พระผู้เจริญวิปัสสนาล้วน สำเร็จพระอรหัต มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่นอีก เช่นไม่ได้ฌานสมาบัติ ไม่ได้อภิญญา เป็นต้น; ดู อรหันต์

วิชชา

ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ; วิชชา ๓ คือ

๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ระลึกชาติได้

๒. จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย

๓. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น

วิชชา ๘ คือ

๑. วิปัสสนาญาณ ญาณในวิปัสสนา

๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ

๓. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ

๔. ทิพพโสต หูทิพย์

๕. เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้

๖. ปุพเพนิวาสานุสติ

๗. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ (= จุตูปปาตญาณ)

๘. อาสวักขยญาณ

(ประมวลศัพท์)

อภิญญา

ความรู้ยิ่ง, ความรู้เจาะตรงยวดยิ่ง, ความรู้ชั้นสูง มี ๖ อย่างคือ

๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้

๒. ทิพพโสต หูทิพย์

๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้

๔. ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้

๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์

๖. อาสวักขยญาณ ญาณทำให้อาสวะสิ้นไป,

๕ อย่างแรกเป็นโลกียอภิญญา ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา

(ประมวลศัพท์)

ปฏิสัมภิทา

ความแตกฉาน, ความรู้แตกฉาน, ปัญญาแตกฉาน มี ๔ คือ

๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในทางนิรุกติ คือ ภาษา

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ

(ประมวลศัพท์)\

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย