ชยนาท (บาลีวันละคำ 124)
ชยนาท
อ่านว่า ชะ-ยะ-นา-ทะ
ประกอบด้วยคำว่า ชย + นาท = ชยนาท
“ชย” แปลว่า ความชนะ, ความมีชัย, การปราบ, การพิชิต, ชัยชนะ (รากศัพท์ คือ “ชิ” แปลง อิ เป็น เอ = เช, แปลง เอ เป็น อย = ชย)
“นาท” แปลว่า ความบันลือ, เสียงบันลือ, เสียงร้อง, เสียงดัง, เสียงร้องคำราม, เสียงโห่ร้อง (รากศัพท์คือ “นท” ยืดเสียง น เป็น นา)
“ชยนาท” แปลรวมกันว่า “เสียงบันลือในการที่มีชัยชนะ” หรือจะแปลสั้นๆ ว่า “โห่ร้องฉลองชัย” ก็ได้
ข้อสังเกตในคำนี้ คือ –
1 “ชย” เราใช้ในภาษาไทยว่า “ชัย” (ไช) และมักพูดควบคำแปลว่า “ชัยชนะ” (ชัย = ชนะ, ชนะ = ชัย)
2 ชย + นาท เขียนแบบไทยว่า “ชัยนาท” อ่านตามหลักภาษาว่า ไช-ยะ-นาด
3 “ชัยนาท” ที่เป็นชื่อจังหวัดหนึ่งของไทย ควรจะออกเสียงว่า ไช-ยะ-นาด แต่ก็เรียกกันทั่วไปว่า ไช-นาด (ทำให้น่าสงสัยว่า ชื่อนี้เดิมอาจจะเป็นคำในภาษาอื่น แต่เอาเสียงมาเขียนให้เข้ากับคำบาลี) อย่างไรก็ตาม เมื่อเขียนเป็นบาลีแล้ว ก็เป็นชื่อที่มีความหมายดี เป็นมงคลนาม
บาลีวันละคำ (124)
9-9-55
ชย
การปราบ, การพิชิต, ชัยชนะ
(บาลี-อังกฤษ)
ชย ป.
ความชนะ, ความมีชัย; ชัยพฤกษ์; ธงชัย.
(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
นาท
น. ความบันลือ; เสียงบันลือ, เสียงร้อง. (ป., ส.).
นาท ป.
บันลือ, ร้อง, แผดเสียง, เสียงร้อง.
(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
นาท
เสียงดัง, เสียงร้องคำราม, คำราม
(บาลี-อังกฤษ)
ชัย, ชัย-
[ไช, ไชยะ-] น. การชนะ, ความชนะ. (ป., ส.).
ชัยบาน
[ไชยะ-] น. เครื่องดื่มในการมีชัย. (ป.).
ชัยภูมิ
[ไชยะพูม] น. ทําเลที่เหมาะ. (ป., ส.).
ชัยเภรี
[ไชยะ-] น. ชื่อกลองชนิดหนึ่ง. (ส.).
ชัยศรี
[ไชสี] น. ความสง่าผ่าเผยด้วยความชนะ (ใช้ประกอบกับชื่อต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นมงคล) เช่น พระขรรค์ชัยศรี นครชัยศรี.