บาลีวันละคำ

อยุธยา (บาลีวันละคำ 126)

อยุธยา

(บาลีแปลง)

เรามักเข้าใจว่า “อยุธยา” เป็นภาษาบาลี แต่ความจริงแล้วคำนี้ไม่มีในภาษาบาลี มีคำที่คล้ายที่สุดคือ “ยุทฺธ” (ยุด-ทะ) แปลว่า การรบ, ศึกสงคราม, การต่อสู้

ยุทฺธ เติม “อ” (อะ) เข้าข้างหน้าเป็น “อยุทฺธ” ก็แปลว่า “ไม่รบ” ซึ่งไม่ใช่ความหมายของคำว่า “อยุธยา”

คำบาลีที่ความหมายตรงกับ “อยุธยา” ต้องเป็น “อโยชฺฌิย”

ประกอบด้วย อ + ยุธฺ + อิ + ณฺย = อโยชฺฌิย

“อ” แปลงมาจาก “น” (นะ) แปลว่า ไม่, ไม่ใช่

“ยุธฺ” เป็นธาตุ (รากศัพท์) แปลงเป็น “โยชฺฌ” มีความหมายว่า รบ, ต่อสู้

“อิ” เป็นศัพท์จำพวกทำให้คำมีเสียงสละสลวย ไม่มีความหมาย

“ณฺย” เป็นปัจจัย ปกติแปลว่า การ-, ความ- แต่ในที่นี้แปลว่า “ควร, พึง”

“อโยชฺฌิย” อ่านว่า อะ-โยด-ชิ-ยะ ใช้เป็นชื่อเมือง แปลตามศัพท์ว่า “เมืองอันใครๆ ไม่ควรรบ” หมายความว่า เมืองที่ข้าศึกจะมารบชนะไม่ได้ หรือเมืองที่ตีไม่แตก

“อโยชฺฌิย” ออกเสียงเลือนเป็น อะ-โยด-ทิ-ยะ, อะ-โย-ทะ-ยะ, อะ-ยุด-ทะ-ยะ และในที่สุดก็เป็น อะ-ยุด-ทะ-ยา แล้วก็เลยเขียนเป็นยุติแบบไทยว่า “อยุธยา”

“อยุธยา” เป็นมงคลนาม ตั้งชื่อนี้เพื่อให้ชาวเมืองเกิดกำลังใจ สร้างเมืองให้เข้มแข็ง ไม่ให้ข้าศึกมาเอาชนะได้

แต่เมื่อตกอยู่ในความประมาท ขาดสามัคคี “เมืองที่ตีไม่แตก” ก็แหลกไม่มีชิ้นดี

บาลีวันละคำ (126)

11-9-55

ยุชฺฌติ ต่อสู้, รบ, ทำสงคราม

ยุชฺฌิสฺสาม

อยุชฺฌิ ได้รบแล้ว

ยุชฺฌนฺโต, ยุชฺฌมาโน

โยเธติ, โยเธถ โจมตี, ต่อสู้หรือรบกัน

ยุทฺธ

สงคราม, การรบ, การต่อสู้

(บาลี-อังกฤษ)

ยุทฺธ การรบ, ศึกสงคราม

ยุชฺฌตีติ ยุทฺโธ การต่อสู่กัน

ยุธ ธาตุ ในความหมายว่ารบ, ต่อสู้ ต ปัจจัย แปลง ธ กับ ต เป็น ทฺธ

(ศัพท์วิเคราะห์)

Thirayu Jintanawisetkul , SiRi KittiSak , Chanin Chunharatchapun และ คนอื่นอีก 26 คน ถูกใจสิ่งนี้.

เมตตา สาธารณประโยชน์ โอโฮ นามเพราะมากครับ เสียงสวยจัง

เมื่อวานนี้ เวลา 20:43 น. · ถูกใจ..

มหายุทธ ธิติชยางกูร แจ่มแจ้งมากครับอาจารย์

เมื่อวานนี้ เวลา 20:46 น. · ถูกใจ..

Wanwisa Wanchana ชื่ออยุธยา คำนี้เสียงไพเราะ ยิ่งทราบความหมายที่อาจารย์กรุณาอธิบายไว้ ยิ่งชอบคำนี้มากเลยค่ะ แล้วชอบที่อาจารย์ทิ้งท้ายให้ข้อคิดที่ว่า “…แต่เมื่อตกอยู่ในความประมาท ขาดสามัคคี “เมืองที่ตีไม่แตก” ก็แหลกไม่มีชิ้นดี ” ขอบพระคุณค่ะ

เมื่อวานนี้ เวลา 20:47 น. · ถูกใจ · 3..

Somlak Phollajan สาธุ

เมื่อวานนี้ เวลา 21:05 น. · ถูกใจ..

อ้น พัศยศ เมืองอู่ข้าว อู่น้ำ งามล้ำกานต์กวี คนดีศรีอธุยา

เมื่อวานนี้ เวลา 21:21 น. · เลิกชอบ · 1..

Navyblue Abhakara ครูครับ อะ แปลงมาจาก นะ แปลว่า ไม่,ไม่ใช่ และ ยุทธ มีความหมายว่า รบ,ต่อสู้ ถ้าตีความหมายที่ไม่ห่างจากคําแปลเดิมมากจนเกินไป หมายถึง สงบ หรือ สันติ ซึ่งก็ประมาณว่าไม่รบเหมือนกัน

ถ้า “ตีความ” นัยยะหลังนี้ ในรูปแบบของภาษาไทยกึ่งๆบาลี ถือว่าผิดเพี้ยนมากหรือไม่ครับ เพราะผมเข้าใจว่ามีนัยยะหลังแบบนี้ตลอดเลย

22 ชั่วโมงที่แล้ว · ถูกใจ..

Thanyakij Aquapatindra มีความเห็นดังนี้ครับ

1. รูป -ธย มันเป็นรูปสันสกฤต ไม่ใช่บาลีอยู่แล้ว ดังนั้นการที่ อยุธยา ไม่มีความหมายในภาษาบาลี จึงไม่แปลก และ -ชฌ ในบาลี ส่วนใหญ่ก็มาจาก -ธย ในสันสกฤต อยู่แล้ว เช่น sa: มธยม (ไทยเขียน มัธยม) ก็คือ pl: มชฺฌม/มชฺฌิม (ไทยใช้ มัชฌิมา) ดังนั้น อโยธยา อยุธยา อาจจะมาจากภาษาสันสกฤต มากกว่าที่จะมาจากบาลี

2. ตามท้องเรื่องรามายณะ อโยธยา เป็นเมืองของพระราม / ซึ่งกษัตริย์ที่ปกครองอยุธยา โดยเฉพาะราชวงศ์ผู้สถาปนาอโยธยา ก็เป็นกลุ่มรามวงศ์ (พุทธผสมไวศณพนิกาย) อยู่แล้ว การที่มีเมือง อโยธยา ตามคอนเซปท์รามเกียรติ จึงเป็นวิสัยที่กษัตริย์รามวงศ์พึงกระทำ (แม้ต่อมา ได้สถาปนาพระพิษณุโลกสองแคว ก็ยังเป็นชื่อแบบไวษณพ คือโลกของพระวิษณุ ซึ่งเป็นต้นอวตารของพระราม) ทั้งนี้ รามายณะ เป็นวรรณกรรมที่มาจากทางฮินดู ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก ดังนั้น อโยธยาจากรามเกียรติ ก็ควรมีรากศัพท์มาจากสันสกฤต มากกว่าจากบาลี

3. แต่เก่าก่อน ภาษาสันสกฤตเข้ามาพร้อมกับพุทธมหายาน(และฮินดู) ก่อนที่บาลีจะตามมากับหินยาน แต่คนในอดีตประเทศแถวๆนี้ ก็ใช้คำแบบผสม คือคำไหนบาลีอ่านง่ายเอาบาลี สันสกฤตอ่านแล้วเพราะเอาสันสกฤต ดังนั้น บางครั้งจึงยังเห็นการใช้คำที่ผสมกันทั้งบาลีและสันสฤต ในวลีหรือประโยคเดียวกันได้ (แม้แต่คำเดียวกัน เช่น pl:กิตฺติสทฺท sa:กีรติศพฺท ยังกลายเป็น th:กิตติศัพท์)

4. ดังนั้นที่คุณท่านกล่าวว่า อยุธยา เป็นการเลือนเสียง จาก อโยชฌิยะ นั้นเรานี้มิเห็นสม กลับเห็นว่าการที่เมืองนี้ชื่อ อโยธยา/อยุธยา เหตุเพราะเป็นชื่อที่ลอกมาจากรามเกียรติเสียมากกว่า แล้วสร้อยนามความหมายมาแต่งเสริมเพิ่มเติมภายหลัง

13 ชั่วโมงที่แล้ว · เลิกชอบ · 2..

SiRi KittiSak แล้วที่ต่างชาติเรียกว่า โยเดีย นี่มาจากเสียงที่เพี้ยนไป หรือมาจากไหนครับ

12 ชั่วโมงที่แล้ว · ถูกใจ · 1..Thirayu Jintanawisetkul ขอบคุณความร็ทั้ง อาจารย์ และท่านธันยกิจ คนละแนวแต่เพราะเมืองแห่งเทพและเมืองแห่งชัยชนะ ซึ่งชื่อใครว่าไม่สำคัญเป็นนัยยะต่อว่าชื่อดีเป็นศรีแก่ตัว…คนโบราณท่านชาญฉลาดทั้งศาสตร์และศิลป เค้าถึงผูกต่อว่าวันเดือนปี ต้องใช้ชื่อสระตัวน้อักษรตัวนั้น ห้ามสระตัวนี้อักษรตัวนั้น จึงเรียงลำดับ บริวาร อายุ เดช มูละ อุตสาหะ มนตรี และ กาลกิณี….ฉนั้นชื่อดี มีชัยไปกว่าครึ่ง ^^ ขอบคุณความรู้ขอรับ

11 ชั่วโมงที่แล้ว · ถูกใจ · 2..

อ้น พัศยศ ท่านพูดโดนใจผมยิ่งนัก

11 ชั่วโมงที่แล้ว · ถูกใจ · 1..

อ้น พัศยศ ผู้ทีผ่านการเรียนบาลี และสันสกฤต ( ย่อมเข้าใจ และเข้าถึง) / โปรดอ่านคำว่า บาลีแปลง ครับท่าน เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ ( ผมไม่จบเปรียญเก้า แต่ก็จัดอยู่ในเปรียญเอก ก็เลยเข้าใจที่อาจารย์อธิบายครับ )

10 ชั่วโมงที่แล้ว · ที่ถูกแก้ไข · ถูกใจ · 2..

Navyblue Abhakara สาธุเก่งกันทุกทานเลยครับ มีประโยชน์มากมายมหาศาลในงานเขียนครับ

10 ชั่วโมงที่แล้ว · ถูกใจ · 2

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย