บาลีวันละคำ

สังวาล (บาลีวันละคำ 4,358)

สังวาล

ไม่ต้องมี ย์

อ่านว่า สัง-วาน

สังวาล” เป็นอีกคำหนึ่งที่มักจะมีคนเขียนเป็น “สังวาลย์” มี ย การันต์

สังวาลย์” มี ย การันต์ เป็นคำผิด อย่าเขียนตาม

คำถูกคือ “สังวาล” ไม่ต้องมีอะไรตามหลัง

ใครจะตั้งชื่อลูกหลาน หรือนักตั้งชื่อจะเอาคำนี้ไปตั้งชื่อให้ใคร ควรเขียนให้ถูกต้องตามนี้

จะอ้างว่า คนเกิดวันนี้ชื่อ “สังวาล” เป็นชื่อดี แต่ต้องมี ย ยักษ์ เป็นบริวาร อายุ เดช ศรี มนตรี อุตสาหะ เติมเข้าไปด้วยจึงจะดี ว่าแล้วก็ตั้งชื่อให้ว่า “สังวาลย์” มี ย การันต์

ขอความกรุณาอย่าทำแบบนี้เลย เขียนผิด สะกดผิด ทำให้ภาษาวิปริต อ้างว่าเป็นสิริมงคลอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น 

อยากได้ ย ยักษ์ การันต์ มีคำอื่น ๆ อีกเป็นอเนกอนันต์ที่มี ย ยักษ์ การันต์ด้วยและถูกต้องด้วย แต่ไม่ใช่ “สังวาล

คำว่า “สังวาล” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สังวาล : (คำนาม) สร้อยเครื่องประดับชนิดหนึ่งใช้คล้องเฉวียงบ่า. (ป. เสวาล; ส. เศวาล, ไศวาล ว่า สาหร่าย).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ป. เสวาล; ส. เศวาล, ไศวาล ว่า สาหร่าย” ดังจะให้เข้าใจว่า “สังวาล” มาจากคำบาลีว่า “เสวาล” คำสันสกฤตว่า “เศวาล” และ “ไศวาล

ขยายความ :

เสวาล” บาลีอ่านว่า เส-วา-ละ รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + อล ปัจจัย, ลง ว อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (สิ + + อล), แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส), ทีฆะ อะ ที่ เป็น อา

: สิ + + อล = สิวล > เสวล > เสวาล แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่ดูดน้ำ

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “เสวาล” ว่า สาหร่าย, ตะไคร้น้ำ 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสวาล” ว่า the plant (สาหร่าย)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เศวาล” “เศปาล” “เศวล” “ไศวล” และ “ไศวาล” บอกไว้ดังนี้ –

(1) เศวาล, เศปาล, เศวล, ไศวล : (คำนาม) ชลลดา, ไม้น้ำ; an aquatic plant.

(2) ไศวล, เศวาล : (คำนาม) ชลพฤกษ์, ไม้น้ำ; an aquatic plant.

(3) ไศวาล, ไศวล : (คำนาม) ชลลดา, ไม้น้ำ; an aquatic plant.

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ยกตัวอย่างคำว่า “เสวาลมาลก” (เส-วา-ละ-มา-ละ-กะ) แปลไว้ว่า who makes garlands of Blyxa octandra (ผู้ทำมาลัยสาหร่าย) แสดงว่า มนุษย์รู้จักเอา “เสวาล” มาทำเป็นเครื่องประดับร่างกาย

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เศวาล” ไว้ บอกไว้ว่า – 

เศวาล : (คำนาม) สาหร่าย. (ส.; ป. เสวาล).”

เสวาล” หรือ “เศวาล” อ่านแบบไทยว่า เส-วาน ถ้า “สังวาล” มาจากคำบาลีว่า “เสวาล” คำสันสกฤตว่า “เศวาล” และ “ไศวาล” ดังที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ ก็แปลว่า เราออกเสียงเพี้ยนไปเอง เพื่อความสะดวกปาก ไม่ใช่เพราะเปลี่ยนรูปแปลงเสียงตามหลักไวยากรณ์

อย่างไรก็ตาม ขอสรุปย้ำให้ช่วยกันจำไว้ว่า “สังวาล” เขียนแบบนี้ถูกต้อง ไม่ต้องมี ย์ ตามหลัง

ส่วนชื่อคนเก่า ๆ ที่สะกดเป็น “สังวาลย์” ก่อนที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจะเกิด ก็ให้เข้าใจว่า เป็นสิทธิพิเศษของวิสามานยนาม (proper name) นั่นคือ สะกดอย่างไร อ่านอย่างไร และจะให้มีความหมายอย่างไร เป็นไปตามเจตนาของผู้ตั้งชื่อ

แต่ปัจจุบันวันนี้ เรามีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นมาตรฐานในการสะกดคำในภาษาไทยแล้ว จึงควรสะกดให้ถูกตามมาตรฐาน

…………..

ดูก่อนภราดา!

ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ

ในหมู่มนุษย์ ผู้ฝึกตนแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด

: ถ้าฝึกให้เคยในทางผิดได้

: ก็ต้องฝึกให้เคยในทางถูกได้

#บาลีวันละคำ (4,358)

18-5-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *