บาลีวันละคำ

ธูป (บาลีวันละคำ 125)

ธูป

อ่านว่า ทู-ปะ

ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ธูป” อ่านว่า ทูบ

คำว่า “ธูป” นี้ บางท่านอาจเข้าใจว่า “ไม่ใช่ภาษาบาลี”

แต่ความจริงคือ “ธูป” เป็นภาษาบาลีแท้ๆ ตั้งวิเคราะห์ (หมายถึงกระบวนการปรุงศัพท์ขึ้นให้เป็นคำ) ว่า –

ธูเปตีติ ธูโป = สิ่งใดส่องแสง สิ่งนั้นเรียกว่า ธูป

“ธูป” เป็นเครื่องสักการะในชุดที่เรียกว่า “ดอกไม้ธูปเทียน” ในคัมภีร์บาลีพบศัพท์ที่มาเป็นชุดว่า “ทีปธูปปุปฺผ” เท่ากับคำไทย แต่เรียงลำดับต่างกัน คือ ทีป = เทียน, ธูป = ธูป, ปุปฺผ = ดอกไม้  = เทียนธูปดอกไม้

หลายปีมานี้ มีผู้ (อุตริ) พูดว่า “ขอเชิญท่านประธานจุดเทียนธูป” โดยอ้างว่า เวลาจุด จุดเทียนก่อน

ตามธรรมชาติของการเปล่งเสียง อู-เอีย ออกเสียงได้ถนัดปากกว่า เอีย-อู เช่นเราพูดว่า “ลูกเมีย” ไม่ใช่ “เมียลูก” “นัวเนีย” ไม่ใช่ “เนียนัว” (มีตัวอย่างอีกมากมาย)

ดังนั้นเราจึงพูดว่า “จุดธูปเทียน” ไม่ใช่ “จุดเทียนธูป”

คำ (ที่ถูกต้อง) ว่า “ขอเชิญท่านประธานจุดธูปเทียน” เป็นการบอกให้รู้ว่าประธานจะต้องไปทำอะไร แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติ จะต้องทำอะไรก่อน ทำอะไรทีหลัง เป็นรายละเอียดที่ผู้ปฏิบัติต้องศึกษาเรียนรู้ ไม่ใช่เอามาพูดไว้ในคำเชิญให้ผิดหลักภาษา

พึงตระหนัก :

ภาษาไทยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตามภาษาบาลีเสมอไป

ภาษาบาลีพูดว่า “มาตาปิตา” (แม่พ่อ) แต่ภาษาไทยพูดว่า “พ่อแม่”

ภาษาบาลีพูดว่า “ทีปธูปปุปฺผ” (เทียนธูปดอกไม้) แต่ภาษาไทยพูดว่า “ดอกไม้ธูปเทียน”

บาลีวันละคำ (125)

10-9-55

ธูเปตีติ ธูโป สิ่งที่สว่าง

ธูป ธาตุ ในความหมายว่า สว่าง, รุ่งเรือง อ ปัจจัย

(ศัพท์วิเคราะห์)

ธูป ในคัมภีร์

– เอกาทสนหุเตเนว          ปริวารา มหา อหุ 

ทีปคนฺธธูปมาลาทีนิ          ภควนฺตมภิปูชยิ ฯ 

– คนฺธมาลาทีปธูปหตฺถา 

– ทีปธูปปุปฺผาทีหิ  สชฺเชตฺวา 

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย