บาลีวันละคำ

ชาตก (1) (บาลีวันละคำ 127)

ชาตก (1)

อ่านว่า ชา-ตะ-กะ

ภาษาไทยใช้ว่า “ชาดก” อ่านว่า ชา-ดก (ต เต่า เป็น ด เด็ก)

คำว่า “ชาตก” ประกอบด้วย ชาต (เรื่องที่เกิดแล้ว) + เก (ธาตุ แปลง เอ เป็น อ = เก เป็น ก = ส่งเสียง, กล่าว, บอกเล่า) + อ (ปัจจัย) = ชาตก แปลตามศัพท์ว่า “กล่าวถึงเรื่องอันเกิดมีในภพชาติก่อน”

อีกนัยหนึ่ง ประกอบด้วย ชา (ธาตุ = เกิด) + ต (ปัจจัย แปลว่า “แล้ว”) + ณฺวุ (ปัจจัย แปลงเป็น อก [อะกะ]) = ชาตก แปลตามศัพท์ว่า “(เรื่องหรือบุคคล) อันเกิดขึ้นแล้ว”

“ชาตก – ชาดก” เป็นชื่อคัมภีร์ในพระไตรปิฎก เล่าเรื่องพระชาติในอดีตของพระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งกำลังทรงบำเพ็ญบารมี มีชาดกทั้งหมด 547 เรื่อง หรือมักพูดเป็นตัวเลขกลมๆ ว่า 550 เรื่อง แต่คนไทยมักพูดตัดเลขแค่หลักร้อยว่า “พระเจ้า 500 ชาติ”

ระวังอย่าสับสน :

เรื่องราวบางเรื่องในพุทธประวัติ เช่น เรื่องพระองคุลีมาล เรื่องนางวิสาขา เป็นต้น ไม่ใช่ “ชาดก” แต่เป็นเรื่องในประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 2600 ปีที่ล่วงมา

ชาดก เป็นเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ใชเรื่องในประวัติศาสตร์ชาติปัจจุบัน

บาลีวันละคำ (127)

12-9-55

ชาตก

ชาตํ ปุพฺพภเว ภูตํ ปุพฺพํ ขนฺธปญฺจกํ ตปฺปฏิพทฺธญฺจ กยติ กเถตีติ ชาตกํ

ชาต บทหน้า เก ธาตุ ในความหมายว่าส่งเสียง, กล่าว อ ปัจจัย แปลง เอ เป็น อ

(ศัพท์วิเคราะห์)

ชาตก ค.

ลูกชาย; อันเกิดขึ้นแล้ว, อันอุบัติขึ้นแล้ว.

นป.

ชาดก, เรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่มีมาในอดีต.

ป.

อันเกิดขึ้นแล้ว, อันอุบัติขึ้นแล้ว.

(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ชาดก

  [ชา-ดก] น. เรื่องพระพุทธเจ้าที่มีมาในชาติก่อน ๆ ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ชื่อนี้, ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาส่วน ๑ ใน ๙ ส่วนที่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์. (ป. ชาตก).

ชาดก

“เครื่องเล่าเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเกิดมาแล้ว”, ชื่อคัมภีร์ในพระไตรปิฎก อันเล่าเรื่องพระชาติในอดีตของพระพุทธเจ้า เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งกำลังทรงบำเพ็ญบารมี มีจำนวนทั้งหมดตามตัวเลขถ้วนที่กล่าวในอรรถกถาทั้งหลายว่า ๕๕๐ ชาดก (นับตรงเลขว่า ๕๔๗ ชาดก แต่คนไทยมักพูดตัดเลขแค่หลักร้อยว่า พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ) ทั้งหมดนี้จัดเป็นพระไตรปิฎก ๒ เล่ม (ฉบับอักษรไทยคือเล่ม ๒๗ และ ๒๘), อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาดกทั้งหมดในพระไตรปิฎกเป็นคาถาล้วนๆ (เว้นชาดกหนึ่งที่เป็นความร้อยแก้ว คือกุณาลชาดก) และโดยมากเป็นเพียงคำกล่าวโต้ตอบกันของบุคคลในเรื่อง พร้อมทั้งพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสรุปหรือแสดงคติธรรม อันเรียกว่าอภิสัมพุทธคาถาเท่านั้น ไม่ได้เล่าเรื่องโดยละเอียด ผู้อ่านเข้าใจได้ยาก จึงมีอรรถกถาขึ้นมาช่วยอธิบาย เรียกว่า “ชาตกัฏฐกถา” (เรียกให้ง่ายว่า อรรถกถาชาดก) ซึ่งขยายความออกไปมาก จัดเป็นเล่มหนังสือฉบับบาลีอักษรไทยรวม ๑๐ เล่ม เรื่องชาดกที่เรียนและเล่ากันทั่วไป ก็คือเล่าตามชาตกัฏฐกถานี้ แต่นักศึกษาพึงรู้จักแยกระหว่างส่วนที่มีในพระไตรปิฎก กับส่วนที่เป็นอรรถกถา; ดู ไตรปิฎก,  อภิสัมพุทธคาถา

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย