บาลีวันละคำ

อิสริยาภรณ์ (บาลีวันละคำ 3,248)

อิสริยาภรณ์

เพราะเป็นใหญ่จึงได้ประดับ

หรือเพราะประดับจึงได้เป็นใหญ่

อ่านว่า อิด-สะ-ริ-ยา-พอน

ประกอบด้วยคำว่า อิสริย” + อาภรณ์

(๑) “อิสริย

บาลีเป็น “อิสฺสริย” อ่านว่า อิด-สะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก อิสฺสร + อิย ปัจจัย

(ก) “อิสฺสร” รากศัพท์มาจาก –

(1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ

: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)

(2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย

: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่

(3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)

: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง

อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)

(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)

อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้ว่า “อิสร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”

(ข) อิสฺสร + อิย ปัจจัย

: อิสฺสร + อิย = อิสฺสริย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้เป็นใหญ่” หมายถึง ความเป็นผู้ปกครอง, ความเป็นนาย, ความเป็นใหญ่, อำนาจปกครอง (rulership, mastership, supremacy, dominion)

อิสฺสริย” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อิสริย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิสริย-, อิสริยะ : (คำนาม) ความเป็นใหญ่, ความเป็นเจ้า, ความยิ่งใหญ่. (ป. อิสฺสริย; ส. ไอศฺวรฺย).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อิสริยะ” สันสกฤตเป็น “ไอศฺวรฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ไอศฺวรฺยฺย, ไอศฺวรฺย : (คำนาม) ‘ไอศวรรย์,’ เทวานุภาพ, สรรพสมรรถศักดิ์, ความแลไม่เห็น, ฯลฯ; ความเปนใหญ่, พลศักดิ์, กำลัง; divine power, omnipotence, invisibility, etc.; supremacy, power, might.”

โปรดสังเกตคำแปลเป็นอังกฤษ ระหว่าง “อิสฺสริย” ในบาลี ซึ่งฝรั่งแปล กับ “ไอศฺวรฺย” ในสันสกฤต ซึ่งไทย (นายร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) ผู้จัดทำ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) แปล มีตรงกันคำเดียวคือ supremacy

(๒) “อาภรณ์

บาลีเป็น “อาภรณ” (อา-พะ-ระ-นะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ภรฺ (ธาตุ = ทรงไว้, ประดับ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น (ยุ > อน > อณ)

: อา + ภรฺ = อาภรฺ + ยุ > อน = อาภรน > อาภรณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลทรงไว้” หรือ “สิ่งอันบุคคลประดับไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาภรณ” ตามศัพท์ว่า “that which is taken up or put on” (สิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาหรือสวมใส่)

อาภรณ” หมายถึง การประดับ, เครื่องประดับ, เครื่องเพชรพลอย (ornament, decoration, trinkets)

อาภรณ” ในภาษาไทย ใส่การันต์ที่ เป็น “อาภรณ์” อ่านว่า อา-พอน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาภรณ์ : (คำนาม) เครื่องประดับ, บางทีก็ใช้เป็นส่วนท้ายของคําสมาส เช่น พัสตราภรณ์ = เครื่องประดับคือเสื้อผ้า สิราภรณ์ = เครื่องประดับศีรษะ คชาภรณ์ = เครื่องประดับช้าง พิมพาภรณ์ = เครื่องประดับร่างกาย ในคําว่า ถนิมพิมพาภรณ์ ธรรมาภรณ์ = มีธรรมะเป็นเครื่องประดับ. (ป., ส.).”

อิสริย + อาภรณ์ = อิสริยาภรณ์ แปลว่า “เครื่องประดับอันแสดงถึงความเป็นใหญ่หรือเป็นเกียรติยศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิสริยาภรณ์ : (คำนาม) ตราเครื่องประดับเกียรติยศ เรียกเป็นสามัญว่า เหรียญตรา.”

ดูเพิ่มเติม: “เครื่องราชอิสริยาภรณ์” บาลีวันละคำ (1,815) 28-5-60

แถม : ขบธรรมะเชิงจินตนาการ

อิสริยาภรณ์” ประกอบด้วยคำบาลี 2 คำ คือ “อิสริย” และ “อาภรณ์” ถ้าให้นึกถึงคำว่า “อิสริย” และ “อาภรณ์” ที่ติดตามาตั้งแต่สมัยเรียนนักธรรม นักเรียนบาลีน่าจะนึกถึงพุทธศาสนสุภาษิต 2 บทนี้ คือ –

วโส  อิสฺสริยํ  โลเก.

อำนาจเป็นใหญ่ในโลก

ที่มา: อิสสรสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 212

อ้างในพุทธศาสนสุภาษิตเล่ม 1

สีลํ  อาภรณํ  เสฏฺฐํ.

ศีลเป็นเครื่องประดับอย่างประเสริฐสุด

ที่มา: สีวลีเถระ เถรคาถา ทวาทสกนิบาต

พระไตรปิฎกเล่ม 26 ข้อ 378

อ้างในพุทธศาสนสุภาษิตเล่ม 3

ถ้าเอาธรรมะ 2 ข้อ คือ อำนาจ (วโส) กับ ศีล (สีลํ) มาไขว้กัน เป็น “ศีลเป็นใหญ่ในโลก” และ “อำนาจเป็นเครื่องประดับอย่างประเสริฐสุด” จะเป็นอย่างไร?

ก็จะได้แนวคิดว่า คนมีศีลจะมาโอดครวญไม่ได้เลยว่า ถือศีลมาตั้งนานไม่เห็นได้เป็นใหญ่สักที เพราะท่านไม่ได้บอกว่า “ศีลเป็นใหญ่ในโลก” แต่ท่านบอกว่า “อำนาจเป็นใหญ่ในโลก” อยากเป็นใหญ่ในโลกก็ต้องแสวงหาอำนาจ ไม่ใช่ถือศีล

และเวลาเห็นคนมีอำนาจประพฤติตัวเลอะเทอะ ไม่งาม ดูราวกับคนสวมเครื่องประดับที่น่าเกลียด เราก็ไม่ต้องอึดอัดขัดใจ เพราะท่านไม่ได้บอกว่า “อำนาจเป็นเครื่องประดับอย่างประเสริฐสุด” แต่ท่านบอกว่า “ศีลเป็นเครื่องประดับอย่างประเสริฐสุด” อยากมีเครื่องประดับอย่างประเสริฐสุดก็ต้องถือศีล ไม่ใช่แสวงหาอำนาจ

แต่ถ้าเมื่อใดเราสามารถทำให้คนมีอำนาจถือศีลได้ และทำให้คนถือศีลมีอำนาจได้ เมื่อนั้นแหละศีลก็จะเป็นใหญ่ในโลกและอำนาจก็จะเป็นเครื่องประดับอย่างประเสริฐสุด-เฉพาะกรณีที่ศีลและอำนาจมีอยู่ในคนคนเดียวกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำคนมีอำนาจให้ถือศีล

: ยากพอๆ กับทำคนถือศีลให้มีอำนาจ

#บาลีวันละคำ (3,248)

4-5-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *