บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จับหลักได้ก็ปล่อยตัวบุคคลได้

ในการศึกษาพระศาสนา สิ่งที่เราพลาดกันอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือยึดตัวบุคคล

คำว่า “ยึดตัวบุคคล” หมายถึงว่า ฟังคำสอนคำอธิบายหรือคำตอบของครูท่านนั้นอาจารย์ท่านนี้ แล้วก็ยึดเอาว่านั่นแหละคือหลักคำสอนในพระศาสนา

คำสอนในพระศาสนาคือคำสอนของหลวงปู่นั่น 

คือคำสอนของหลวงตานี่ 

คือคำสอนของอาจารย์โน่น 

เราจึงมีคำสอนของตัวบุคคลหลายหลากมากมาย สุดแต่ว่าจะเลื่อมใสชอบใจคำสอนของใคร แล้วเราก็ยึดว่านี่แหละคือคำสอนในพระพุทธศาสนา

และถ้ามีกรณีใดๆ ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้น เราก็จะเอาปัญหานั้นไปถามอาจารย์ต่างๆ แล้วก็เอาคำตอบของอาจารย์นั้นๆ มาอ้างอิง 

อาจารย์นั้นท่านว่าอย่างนี้ 

อาจารย์นี้ท่านว่าอย่างนั้น

แล้วพระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างไร – แทบจะไม่มีใครนึกถึง ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับพระศาสนาของท่านแท้ๆ

คำสอนในพระพุทธศาสนามีคำสอนเดียว คือคำสอนของพระพุทธเจ้า

เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับพระศาสนา ก็ต้องไปถามพระพุทธเจ้า ไปหาคำตอบจากพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว จะไปถามท่านได้อย่างไร 

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไป พระธรรมวินัยที่ทรงแสดงทรงบัญญัติไว้จะเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ – พระพุทธพจน์นี้เป็นที่รู้กันดีทั่วไปแล้ว (มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๔๑)

พระธรรมวินัยท่านรวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่เปิดเผย ไม่ใช่ของหวงห้าม ไม่ใช่ของลึกลับ ภาษาที่ใช้บันทึกพระไตรปิฎก-คือภาษาบาลี-เป็นภาษาที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้

ทุกวันนี้ไฮเทคช่วยให้อ่านพระไตรปิฎกได้ง่ายมาก ยิ่งถ้ารู้บาลีด้วยแล้วจะช่วยให้อ่านพระไตรปิฎกได้อย่างปลอดภัย

อ่านพระไตรปิฎกได้อย่างปลอดภัย – หมายความว่า อ่านแล้วเข้าใจสาระที่ถูกต้องแท้จริงตามเจตนารมณ์ของพระไตรปิฎก ไม่ใช่เข้าใจไปตามที่คนแปลพระไตรปิฎกแปลให้เราฟัง 

ก็เข้าใจตามที่เขาแปลมานั่นแหละ แต่ตรงไหนผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็สามารถรู้ทันได้ด้วย ทั้งเข้าถึงอรรถรสของภาษาตรงตามเจตนาของคำสอนนั้นๆ ด้วย

ที่ว่าอ่านพระไตรปิฎกได้อย่างปลอดภัย หมายความอย่างนี้

และที่อ้างพระไตรปิฎกนั้น โปรดเข้าใจว่าไม่ได้ให้หลับตาเชื่อพระไตรปิฎก เพียงแต่ขอให้ปฏิบัติตามขั้นตอนการศึกษาที่อารยชนพึงปฏิบัติ — 

๑ ศึกษาหลักเดิมที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกให้เข้าใจทั่วถึงก่อน

๒ ต่อจากนั้น ศึกษาคำอธิบายที่นำสืบๆ กันมาเป็นเครื่องประกอบ ทั้งนี้เพราะหลักเดิมที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกนั้นเราไม่ใช่เป็นคนแรกที่รู้ที่เห็น มีคนรู้เห็นมาก่อนเรามากมาย คนที่รู้เห็นมาก่อนเราเขาเข้าใจอย่างไรเขาคิดอย่างไร ศึกษาดูไว้บ้าง ไม่เสียหายอะไร

๓ แล้วจึงถึงการตัดสินใจของตัวเราเอง – ใช่หรือมิใช่ เชื่อหรือไม่เชื่อ เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของเรา ไม่มีใครมาห้ามมาสั่ง

แต่ทุกวันนี้ดูไปแล้ว ไม่ได้ใช้หลักการขั้นตอนแบบนี้

พระไตรปิฎกว่าอย่างไรก็ช่างพระไตรปิฎกปะไร แต่ฉันจะว่าของฉันอย่างนี้ ใครจะทำไม

พระไตรปิฎกว่าอย่างไรก็ช่างพระไตรปิฎกปะไร แต่อาจารย์ของฉันว่าอย่างนี้

เพราะฉะนั้น เราก็ไปไม่ถึงพระไตรปิฎก คือไปไม่ถึงหลักของพระพุทธเจ้า แต่พากันติดอยู่ที่คำสอนคำบอกของตัวบุคคล

…………………

ขอประทานโทษที่ต้องขออนุญาตพูดถึงตัวผมเองนิดหน่อย คือเวลานี้มีคนชอบเอาปัญหามากองไว้ที่หน้าบ้านผม ขอให้ผมวินิจฉัยว่าถูกผิดเป็นอย่างไร

ขอเรียนว่า ผมไม่ได้รังเกียจเลย ตรงกันข้าม ยินดีอย่างยิ่ง เพราะทำให้ผมมีงานทำไม่ขาดมือ จะว่าไปแล้วผมต้องเป็นฝ่ายขอบพระคุณ

แต่ก็ขอได้โปรดทราบว่า วิธีตอบของผมก็คือ-ผมก็ต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อนทุกเรื่องไป 

ผมโชคดีหน่อยก็ตรงที่ผมเรียนบาลีแล้วมุ่งหน้าไปที่พระไตรปิฎก ศึกษาหาความรู้รายทางเรื่อยไป ที่ไม่รู้มีมากกว่าที่รู้หลายหมื่นหลายพันเท่า จึงต้องเป็นนักศึกษาตลอดเวลา 

ท่านที่เอาปัญหามาให้ตอบ ผมเคยอุปมาว่าเหมือนเข้าร้านอาหาร สั่ง แล้วก็นั่งรอกิน

ถ้าจะกรุณาทำความรู้สึกใหม่ก็จะดีไม่น้อย คือทำความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ร้านอาหาร แต่เป็นครัวที่เราทำกินกันเอง อยากกินอะไร เมื่อสั่งแล้วก็ลองเข้าไปเยี่ยมๆ มองๆ ในครัว —

เขาปอกหอมปอกกระเทียมยังไง 

หั่นตะไคร้ยังไง 

ขอดเกล็ดปลายังไง 

ขูดมะพร้าวยังไง 

โขลกน้ำพริกยังไง 

ติดไฟยังไง 

ซาวข้าวยังไง 

ฯลฯ

เดี๋ยวก็จะมองเห็นได้เองว่า อ๊ะ งานนี้เราช่วยทำได้นี่หว่า

คนนั้นช่วยนั่น คนนี้ช่วยนี่ ก็จะได้กินเร็วขึ้น

วิธีการเช่นนี้ ท่านที่เอาปัญหามากองให้ผมวินิจฉัยก็ย่อมสามารถทำได้ด้วยตัวท่านเอง ขอเพียงมีอุตสาหะ รักเรียนรักรู้

เวลานี้ที่อ้างกันและมีผู้สนับสนุนให้อ้างเช่นนั้น ก็คืออ้างว่า พระไตรปิฎกอ่านไม่รู้เรื่อง พระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วนั่นแหละอ่านไม่รู้เรื่อง

นึกออกไหมครับ กรณีคนไปฟังพระสวดพระอภิธรรมแล้วบ่นว่าพระสวดเป็นภาษาบาลีฟังไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่สวดเป็นภาษาไทยจะได้ฟังรู้เรื่อง

พระไตรปิฎกนี่อ่านทบไปทวนมากี่เที่ยวก็ได้ ยังบ่นว่าอ่านไม่รู้เรื่อง แล้วฟังพระสวด พระท่านสวดเที่ยวเดียวผ่านไปเลย ยังหวังว่าจะฟังรู้เรื่องอีกหรือ

ตกลงว่า ที่ไม่รู้เรื่องนั้นเพราะไม่สวดหรือไม่แปลเป็นภาษาไทย หรือไม่รู้เรื่องเพราะไม่มีอุตสาหะในการศึกษาให้รู้เรื่องกันแน่

แต่อย่างไรก็ตาม การทำพระไตรปิฎกให้อ่านรู้เรื่องง่ายต้องถือว่าเป็นภาระหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง-โดยตรงก็คือนักเรียนบาลี-จะต้องช่วยกันทำ อุปมาเหมือนพระไตรปิฎกอยู่สูง คนทั่วไปปีนขึ้นไม่ถึง ก็ต้องช่วยกันทำบันไดหย่อนลงไปหรือทำทางให้คนขึ้นไปได้สะดวก 

ใครทำได้ก็ควรทำ อย่าคิดว่าทำไม่ได้ หรือทำได้ก็ไม่ใช่หน้าที่ ตรงนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราพลาดกันมาก-คือคิดว่าไม่ใช่หน้าที่

และนี่เป็นงานอีกอย่างหนึ่งที่ควรจะบอกกล่าวป่าวร้องให้รู้และให้หมายตาหมายใจไปตั้งแต่เริ่มเรียนบาลี-เรียนบาลีเพื่อไปทำพระไตรปิฎกให้อ่านง่ายเข้าใจง่าย ผมเชื่อว่าคนที่ตั้งกุศลจิตไปตั้งแต่ต้นทางแบบนี้จะต้องมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว

………………..

ย้อนมาที่-มีปัญหาอะไร สงสัยอะไร ถ้าอาศัยครูบาอาจารย์หรือคนที่เราเชื่อใจว่าพอรู้ทางเป็นผู้ชี้ทางให้เราไปหาคำตอบจากพระพุทธเจ้า ต่อจากนั้นเราก็เดินไปเอง เดินไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปให้ถึงต้นน้ำ ไปให้ถึงหลักคำสอน จับหลักให้ได้ จับหลักได้แล้วก็ไม่ต้องเกาะติดอยู่กับครูบาอาจารย์อีกต่อไป เกาะหลักคือคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว

ด้วยวิธีการเช่นนี้ ทุกคนก็จะเข้าถึงหลักเดียวกัน เป็นหลักที่เข้าใจตรงกัน หน้าที่ที่จะพึงทำต่อกันก็เพียงช่วยกันและกันให้เข้าถึงเข้าใจอย่างถูกต้องต่อหลักนั้น ที่ท่านเรียกว่าเป็นกัลยาณมิตรให้กันและกัน

เป็นกัลยาณมิตรเพื่อประโยชน์ของเขาเอง ไม่ใช่เพื่อให้เขาหยิบยื่นผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ มาให้เรา

ด้วยวิธีการเช่นนี้ ผู้ชี้ทางก็เป็นอิสระจากผู้เดินทาง ผู้เดินทางก็เป็นอิสระจากผู้ชี้ทาง ไม่ต้องขึ้นแก่กันและกัน

และด้วยวิธีการเช่นนี้ เราก็ยังคงนับถือบูชาครูบาอาจารย์และคนที่เราเคารพนับถือได้เหมือนเดิมเท่าเดิม ไม่มีเหตุขัดข้องที่จะทำให้ต้องนับถือน้อยลงไปกว่าเดิม เพียงแต่ไม่ต้องให้ท่านจูงมือเราไปตลอดทาง เพราะเราเดินไปเอง-ตามทางที่ท่านบอก

ตัวบุคคลนั้นแตกดับได้ มีแล้วก็ไม่มีได้ ไม่ใช่สิ่งยั่งยืน 

ส่วนหลักคำสอนนั้นอยู่ได้ยืนนานตราบเท่าที่ยังมีคนเรียนรู้เข้าใจถูกต้อง

จับหลักได้ก็ปล่อยตัวบุคคลได้ มีความหมายอย่างนี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๕:๔๙

…………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *