ป.ธ.๙ กิตติมศักดิ์
คนไทยรอได้ครับ
ผมขออนุญาตเสนอให้คณะสงฆ์ โดยกองบาลีสนามหลวง กำหนดให้มี “เปรียญธรรม ๙ ประโยคกิตติมศักดิ์” หรือ “ป.ธ.๙ กิตติมศักดิ์” ครับ
คำว่า “กิตติมศักดิ์” อ่านว่า กิด-ติ-มะ-สัก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานบอกความหมายว่า “ยกย่องเพื่อเป็นเกียรติยศ เช่น ปริญญากิตติมศักดิ์ สมาชิกกิตติมศักดิ์”
พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๖๒ มาตรา ๒๔ บัญญัติว่า – ให้ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง ชั้นเปรียญธรรมเก้าประโยค มีวิทยฐานะระดับปริญญาตรี เรียกว่า “เปรียญธรรมเก้าประโยค” ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.๙”
พูดชัดๆ ว่า เปรียญธรรมเก้าประโยคเป็นวิทยฐานะระดับปริญญาตรี ไม่ใช่ “เทียบเท่าปริญญาตรี” อย่างที่เคยพูดกันมา
เพราะฉะนั้น “เปรียญธรรม ๙ ประโยคกิตติมศักดิ์” ที่ผมเสนอนี้จึงเป็น “ปริญญากิตติมศักดิ์” ตามความหมายที่พจนานุกรมฯ ว่าไว้
พูดกันให้ชัดๆ ก่อน เผื่อจะมีคนช่างคิดออกมาถามว่า เปรียญธรรม ๙ ประโยคกิตติมศักดิ์นี่เป็นอะไร-กิตติมศักดิ์
เปรียญธรรม ๙ ประโยคกิตติมศักดิ์เป็นปริญญากิตติมศักดิ์ครับ
ทีนี้ก็มาว่ากันถึงเหตุผล ทำไมผมจึงเสนอให้มีเปรียญธรรม ๙ ประโยคกิตติมศักดิ์
เหตุผลก็คือ เวลานี้ผู้ที่ไม่ได้จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค แต่เรียนบาลี รู้บาลี ทำงานศึกษาค้นคว้าวิชาการเกี่ยวกับภาษาบาลี ซึ่งก็คือศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก แล้วเผยแผ่-เผยแพร่สู่สาธารณชนจนเป็นที่เห็นประจักษ์ มีอยู่
คนเหล่านี้ทำงานเพื่อพระศาสนาด้วยกุศลจิต ใครจะเห็นหรือไม่เห็นรู้หรือไม่รู้ท่านก็ทำ ทำเป็นกิจวัตร และไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจ แต่ทำเพื่อบุญบริสุทธิ์ จึงเป็นบุคคลที่สังคม-โดยเฉพาะคณะสงฆ์ สมควรยกย่อง
แต่ที่สำคัญที่สุด คนเหล่านี้ทำงานศึกษาค้นคว้าเผยแผ่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนาด้วย ไม่ใช่มีภูมิ แต่อยู่เงียบๆ ไม่ทำอะไร
ที่พึงตระหนักก็คือ ปริญญากิตติมศักดิ์สาขาอื่นๆ บางทีอาจจะให้กันด้วยเหตุผลพิเศษบางประการ
แต่ปริญญาเปรียญธรรม ๙ ประโยคกิตติมศักดิ์ที่เสนอนี้ต้องให้กันด้วยเหตุผลทางวิชาการบริสุทธิ์
คือมีผลงานวิชาการภาษาบาลีเป็นที่ประจักษ์ ภูมิรู้ด้านบาลีของท่านเหล่านี้ พูดอย่างไม่ต้องเกรงใจก็คือเกินภูมิประโยค ๙ หรืออย่างขี้เหร่ ๆ ก็ประชันภูมิประโยค ๙ ได้สบายๆ เพียงแต่ว่าท่านไม่ได้เข้าสอบประโยค ๙ จะด้วยสาเหตุหรือเหตุผลใดๆ ก็ตาม ซึ่งถ้าท่านเข้าสอบ ท่านก็ต้องสอบได้แน่นอน
ผมหวังว่าญาติมิตรจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของผม
แต่ก็ไม่แน่ บางท่านอาจะมองไปอีกมุมหนึ่ง – ก็ไหนว่าทำงานพระศาสนาด้วยจิตเป็นมหากุศล แล้วนี่จะมาหวังผลให้คนยกย่องอะไรกันอีกเล่า
ตัวท่านเหล่านั้นไม่ได้หวังผลหรอกครับ
แต่เราๆ ท่านๆ ที่เห็นคนทำความดีนี่ต่างหากที่ไม่ควรมองเมิน
………………..
ผลพลอยได้อย่างสำคัญที่จะเกิดจากการที่คณะสงฆ์ให้ปริญญาเปรียญธรรม ๙ ประโยคกิตติมศักดิ์แก่บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวก็คือ จะทำให้ผู้ที่สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้จริง แต่อยู่นิ่งๆ ไม่ทำงานบาลี เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบ
ท่านผู้โน้นได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคกิตติมศักดิ์เพราะท่านทำงานบาลีจริงๆ แล้วเราที่สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้จริงๆ เล่า ทำอะไรกันอยู่
ถ้าผู้สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ ชวนกันคิดอย่างนี้โดยทั่วกัน จะเกิดแรงกระเพื่อมอย่างมหาศาลในวงการบาลี คือจะมีคนลุกขึ้นมาทำงานศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกกันอย่างคึกคัก นิ่งอยู่ไม่ได้เพราะกระดากใจ
ผู้สอบได้แล้วเสวยวิมุตติสุขอยู่นิ่งๆ “เป็นไปตามอัธยาศัย” – ดังที่เคยอ้างกันมา ก็จะค่อยๆ หมดไป
จะเกิดค่านิยมใหม่-อันเป็นค่านิยมที่ถูกทิศถูกทาง-นั่นคือ –
เรียนบาลี-เพื่อทำงานบาลี
ทำงานบาลี-เพื่อพระธรรมวินัย
พระธรรมวินัย-เพื่อพระศาสนา
พระศาสนา-เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก
ผมหวังว่าจะมีท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งที่อยู่ในคณะสงฆ์เห็นข้อเสนอนี้
ส่วนที่ว่าอีกกี่ปีหรืออีกกี่ร้อยปีท่านจึงจะทำ ก็ไม่เป็นไร
ที่ตายก็ตายไป
ที่อยู่ก็รอกันไป
คนไทยรอได้ครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔
๑๑:๒๕
…………………………….
ป.ธ.๙ กิตติมศักดิ์