มหิจฺโฉ ปาปิจฺโฉ อิจฺฉาปกโต (บาลีวันละคำ 3,254)
มหิจฺโฉ ปาปิจฺโฉ อิจฺฉาปกโต
Paññādīpo Wattana
11 ชม. ·
๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔
-หิวแสง-
………
………
อธิบายความศัพท์
คำว่า มหิจฺโฉ ผู้ปราถนามาก หรือ มหิจฺฉตา ความปราถนามาก คนที่ไม่ได้ศึกษาบาลี อาจฟังดูแล้วธรรมดา ไม่เห็นจะมีอะไร แต่เมื่อดูคำบาลีแล้ว จะพบว่า ท่านอธิบายความหมายนี้ลึกซึ้งมาก ท่านอธิบายว่า ผู้มักมากนั้น คือ พระภิกษุผู้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา แล้วอยากให้คนรู้จัก ประกาศตัวเองด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้มีชื่อเสียง….
หมายความว่า พระดีจริง แล้วอยากให้คนรู้จัก เบื้องหลังความคิด คือความปราถนามาก มักมาก นั่นเอง มีกิเลสอยู่เบื้องหลัง เช่น กรณีพระภิกษุถือธุดงค์ ออกเดินตามท้องถนน เพื่อให้คนรู้จัก เพื่อบริวาร ตั้งความปราถนาอย่างนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงท่านก็เป็นพระสุปฏิปันโน แต่การกระทำนี้ เพื่อให้คนรู้จัก มีความปราถนามากอยุ่เบื้องหลัง
คนแบบนี้ บางครั้งไม่มีคนทัก ก็พูดขึ้นมาเองลอย เพื่อสร้างภาพ ให้คนเห็นว่ามีความสำคัญ เช่น ไปพบคนมีชื่อเสียงมา รู้จักคนโน้นคนนี้ เรียนจบระดับโน้น…ลักษณะคำพูดนี้ พระพุทธเจ้าเรียกว่า “มหิจฺโฉ” คนมักมาก
ปาปิจฺโฉ มีความปราถนาลามก หมายถึง พระภิกษุทุศีล แต่ต้องการให้คนรู้จักว่าเป็นผู้มีศีล ผู้ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ก็ต้องการให้เขารู้ว่าตนมีสมาธิ มีปัญญา ต่างกับข้อแรก ตรงที่ ไม่มีคุณเช่นนั้น แต่หลอกว่าเป็นเช่นนั้น คนประเภทนี้ เลวกว่าจำพวกแรก
อิจฺฉาปกโต ผู้มีปกติอยาก มีความอยากเป็นปกติ คือ อยากได้ อยากดัง มีความอยากเป็นพื้นฐานของจิต คนแบบนี้อาการหนักกว่า สองพวกแรก
สรุป อาการหิวแสง คำบาลี มีคำศัพท์ใช้สื่อ ดังที่กล่าวมาทั้ง ๓ ศัพท์ เป็นลักษณะของภิกษุที่พระพุทธเจ้าตำหนิอย่างมาก มิใช่ทางพ้นทุกข์ ก่อการทะเลาะวิวาท
มหิจฺโฉ ปาปิจฺโฉ อิจฺฉาปกโต
ศัพท์พวงที่น่ารู้
“มหิจฺโฉ” อ่านว่า มะ-หิดโฉ
“ปาปิจฺโฉ” อ่านว่า ปา-ปิด-โฉ
“อิจฺฉาปกโต” อ่านว่า อิด-ฉา-ปะ-กะ-โต
(๑) “มหิจฺโฉ”
แยกศัพท์เป็น มหา + อิจฺโฉ
(ก) “มหา” (มะ-หา)
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ “มหนฺต” เปลี่ยนรูปเป็น “มห-”
(ข) “อิจฺโฉ”
รูปคำเดิมเป็น “อิจฺฉา” (มีจุดใต้ จฺ) อ่านว่า อิด-ฉา รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา, อยาก) + ณฺย ปัจจัย (ปัจจัยตัวนี้ลงในคำใด ทำให้คำนั้นเป็นภาวนามหรืออาการนาม มักขึ้นต้นคำแปลว่า “ความ-,” หรือ “การ-”), ลบ ณฺ (ณฺย > ย), แปลง ย กับ สฺ ที่สุดธาตุเป็น จฺฉ (อิสฺ + ย = อิสฺย > อิจฺฉ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อิสฺ + ณฺย = อิสฺณฺย > อิสฺย > อิจฺฉ + อา = อิจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่อยากได้” หรือ “ความอยากได้” หมายถึง ความปรารถนา, ความประสงค์, ความต้องการ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิจฺฉา” ว่า wish, longing, desire (ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้)
มหา > มห + อิจฺฉา = มหิจฺฉา แปลว่า “ความอยากมากมาย” ใช้เป็นคุณศัพท์ของคำนามที่เป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “มหิจฺโฉ”
(๒) “ปาปิจฺโฉ”
แยกศัพท์เป็น ปาป + อิจฺโฉ
(ก) “ปาป” อ่านว่า ปา-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปา (ธาตุ = รักษา) + อ (อะ) ปัจจัย, ลง ป อาคม
: ปา + อ + ป = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมเป็นแดนรักษาตนแห่งเหล่าคนดี” คือคนดีจะป้องกันตนโดยออกห่างแดนชนิดนี้
(2) ปา (ธาตุ = รักษา) + ป ปัจจัย
: ปา + ป = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่รักษาอบายภูมิไว้” คือเพราะมีคนทำกรรมชนิดนี้ อบายภูมิจึงยังคงมีอยู่
(3) ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + อป (ธาตุ = ให้ถึง) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระหน้า (คือ อ ที่ ป) ทีฆะสระหลัง (คือ อ ที่ อป เป็น อา-)
: ป + อป > อาป = ปาป + อ = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่ยังผู้ทำให้ถึงทุคติ”
(4) ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + เป (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ทีฆะ อ (ที่ ป) เป็น อา, ลบ เอ ที่ เป
: ป > ปา + เป > ป = ปาป + ณ = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมเป็นเหตุไปสู่อบาย”
“ปาป” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความชั่ว, ความเลวร้าย, การทำผิด, (evil, sin, wrong doing); เลวร้าย, เป็นอกุศล, ชั่ว, เลวทราม, บาป (evil, bad, wicked, sinful)
ในภาษาไทยใช้ว่า “บาป” (ปา– เป็น บา-) อ่านว่า บาบ ถ้ามีคำอื่นมาสมาส อ่านว่า บาบ-ปะ- พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บาป, บาป– : (คำนาม) การกระทําผิดหลักคําสอนหรือข้อห้ามในศาสนา; ความชั่ว, ความมัวหมอง.(คำวิเศษณ์) ชั่ว, มัวหมอง, เช่น คนใจบาป. (ป., ส. ปาป).”
(ข) “อิจฺโฉ” (ดูข้างต้น)
ปาป + อิจฺฉา = ปาปิจฺฉา แปลว่า “ความอยากที่เป็นบาป” คือความอยากในทางชั่วร้าย นักเรียนบาลีมักแปลตามกันมาว่า “ความปรารถนาลามก”
คำว่า “ลามก” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศ เมื่อแปลว่า “ความปรารถนาลามก” จึงชวนให้เข้าใจไปว่า ปรารถนาในทางเพศ คืออยากเสพกาม พึงทราบว่า “ปาปิจฺฉา” ไม่ได้เล็งไปที่ความหมายเช่นนั้นโดยเฉพาะแต่ประการใด
“ปาปิจฺฉา” ใช้เป็นคุณศัพท์ของคำนามที่เป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปาปิจฺโฉ”
(๓) “อิจฺฉาปกโต”
แยกศัพท์เป็น อิจฺฉา + ปกโต
(ก) “อิจฺฉา” (ดูข้างต้น)
(ข) “ปกโต”
รูปคำเดิมเป็น “ปกต” อ่านว่า ปะ-กะ-ตะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้าวหน้า, ก่อน, ออก) + กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ต ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (กรฺ > ก)
: ป + กรฺ = ปกรฺ + ต = ปกรต > ปกต แปลตามศัพท์ว่า “ถูกกระทำทั่วถึง” หมายถึง อันทำแล้ว, อันสร้างแล้ว (done, made) ถ้าใช้เป็นกริยาวิเศษณ์ หมายความว่า -ตามธรรมชาติ (by nature)
อิจฺฉา + ปกต = อิจฺฉาปกต แปลตามศัพท์ว่า “ถูกความอยากกระทำทั่วถึง” ความหมายว่า พอใจในความอยากได้, หยั่งลงสู่ความอยาก; อยากได้โดยธรรมชาติ (affected with desire, overcome by covetousness; covetous by nature)
แต่ในการอธิบายทั่วไป ท่านไขความว่า “อิจฺฉาย อุปทฺทุต” (อิด-ฉา-ยะ อุ-ปัด-ทุ-ตะ) แปลว่า “ถูกความอยากกระทำย่ำยี” มักแปลกันว่า “ถูกความอยากครอบงำ”
“อิจฺฉาปกต” ใช้เป็นคุณศัพท์ของคำนามที่เป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “อิจฺฉาปกโต”
ขยายความ :
“มหิจฺโฉ ปาปิจฺโฉ อิจฺฉาปกโต” เป็นคำแสดงลักษณะของคนที่ตกอยู่ในอำนาจความอยาก ถูกความอยากได้ครอบงำจนควบคุมตัวเองไม่ได้ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการโดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด
ศัพท์ทั้ง 3 คือ “มหิจฺโฉ ปาปิจฺโฉ อิจฺฉาปกโต” นิยมพูดควบกันทั้ง 3 คำ เรียกว่า “ศัพท์พวง” คือศัพท์ที่ใช้พูดเป็นกลุ่มคำ ในสำนวนบาลีมีคำที่ใช้เป็น “ศัพท์พวง” อยู่มาก ควรศึกษาต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
อิจฺฉา นรํ ปริกสฺสติ.
ที่มา: ปัชโชตสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 216
: ถ้าไม่ไสหัวความอยากออกจากใจให้บางเบา
: ความอยากก็จะไสหัวเราจนหัวซุกหัวซุน
#บาลีวันละคำ (3,254)
10-5-64