บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๔-

จะไปทางอื่นก็ไม่ว่า แต่ขอให้รักษาพระธรรมวินัยด้วย

—————————-

เท่าที่ได้สัมผัสของจริงในพื้นที่ ผมพบว่า เวลานี้พระภิกษุสามเณรตามวัดทั่วไปไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยในชีวิตประจำวัน 

แต่ละวันผ่านไปโดยไม่มีการอบรมสั่งสอนเรื่องพระธรรมวินัยอย่างเป็นล่ำเป็นสันเป็นชิ้นเป็นอัน

พระภิกษุสามเณรจึงมีความรู้พระธรรมวินัยกระพร่องกระแพร่งอย่างยิ่ง

ความรู้เพียงเพื่อรักษาตัวเองก็แทบจะไม่รอด ไม่ต้องพูดถึงระดับที่จะไปแนะนำสั่งสอนชาวบ้าน

ยกตัวอย่างกิจอันเป็นวิถีชีวิตสงฆ์-การทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็น 

เวลานี้หลายวัดทำมั่งไม่ทำมั่ง เพราะไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญ

รูปไหนลงทำวัตรสวดมนต์ ก็ลงไป 

รูปไหนไม่ลง ก็ไม่มีใครไปว่าอะไรใคร

ที่ตลกที่สุดก็วัดข้างบ้านผม แปดโมงเช้า ห้าโมงเย็น เคาะระฆังทุกวัน แต่พระเณรไม่ได้ลงทำวัตรสวดมนต์จริง (ที่รู้เพราะผมเข้าไปดูหลังจากเคาะระฆัง)

เมื่อวันก่อน พระสังฆาธิการระดับรองเจ้าคณะอำเภอเล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้พระส่วนหนึ่ง-ซึ่งนับวันจะมากขึ้น-ไม่ได้ทำและไม่ได้เห็นความสำคัญของอุโบสถสังฆกรรมกันแล้ว

อุโบสถสังฆกรรม คือการประชุมฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เดี๋ยวนี้หลายวัดไม่ได้ทำแล้ว ด้วยข้ออ้างง่ายๆ-ไม่มีพระที่สวดปาติโมกข์ได้ 

พร้อมกับหาเหตุผลอื่นๆ อีก เช่น ฟังไปก็ไม่รู้เรื่อง เพราะสวดเป็นภาษาบาลี ไม่รู้จะต้องฟังไปทำไม

ถ้าเป็นอย่างนี้กันไปทั่วสังฆมณฑล ก็ไม่ต้องรอให้ผู้มีอำนาจที่ไหนมาทำลาย เพราะการกระทำของตัวเองทำลายตัวเองไปในตัวอยู่แล้ว 

นั่นเป็นส่วนที่ “ไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ”

ยังมีส่วนที่ “ทำสิ่งที่ห้ามทำ” ซ้ำเข้าไปอีก

จนมีเสียงบ่นว่า พระเณรเวลานี้ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้าน

ชาวบ้านเขามีอะไร เขาทำอะไร

พระเณรก็มีอย่างนั้น ทำอย่างนั้น-เหมือนชาวบ้าน

บางอย่าง-หลายอย่างหรูหรากว่าชาวบ้านเสียด้วยซ้ำ

ผมก็ได้แต่บอกว่า พระเณรที่ปฏิบัติดีก็มี ไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด

ก็ถูกตอกกลับมาว่า – ก็ไม่ได้ว่าเป็นทั้งหมด แต่มันชักจะมีมากขึ้น 

ผมก็เถียงแทนว่า ตักน้ำใส่ตุ่มมันก็ต้องหกออกนอกตุ่มบ้างเป็นธรรมดา จะไม่ให้หกเลยหรือไร

เขาตอบว่า-ถ้างั้นฟังเรื่องนี้ —

เป็นที่รู้กันว่า รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ของเรานี้ท่านทำนุบำรุงพระศาสนามาก

มีคำกล่าวว่า – 

รัชกาลที่ ๑ ใครรบทัพจับศึกเก่ง ก็เป็นคนโปรด

รัชกาลที่ ๒ ใครแต่งกาพย์กลอนเก่ง ก็เป็นคนโปรด

รัชกาลที่ ๓ ใครสร้างวัด ก็เป็นคนโปรด

สมัยนั้นพระไปเรียนแปลพระคัมภีร์กันที่ระเบียงโบสถ์วัดพระแก้ว ครูสอนก็มีทั้งพระ มีทั้งราชบัณฑิต บางวันพระไปคอยเรียน แต่ครูยังไม่มา พระท่านก็แอบเตะตะกร้อกันที่หลังโบสถ์

สังฆการี (คือเจ้าหน้าที่ดูแลกิจเกี่ยวกับสงฆ์) ไปฟ้องรัชกาลที่ ๓ ว่าพระเตะตะกร้อ 

รัชกาลที่ ๓ ตรัสว่า เจ้ากูจะเล่นบ้างก็ช่างเจ้ากูเถิด 

สรุปว่าพระเจ้าแผ่นดินเข้าข้างพระ เพราะทรงเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พระท่านก็รู้เพราะท่านแอบทำ ไม่ใช่ทำต่อหน้าสาธารณะ 

เขาตลบท้ายว่า พระท่านตั้งใจไปเรียนพระคัมภีร์ นี่คือตักน้ำใส่ตุ่ม เตะตะกร้อ นั่นคือน้ำหกออกนอกตุ่ม อย่างนี้เขาเข้าใจ ยอมรับได้ 

แต่พระเณรสมัยนี้ ถ้าเทียบกันก็เหมือน-ท่านตั้งใจไปเตะตะกร้อเต็มๆ เรียนพระคัมภีร์เป็นเพียงข้ออ้าง- คือไม่ใช่ตั้งใจตักน้ำใส่ตุ่ม แล้วน้ำมันหก หากแต่ตั้งใจตักน้ำเทออกนอกตุ่มกันเลยทีเดียว-อุปมาว่าอย่างนั้น 

คือบวชเข้ามาแล้วก็ไม่ได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามวิถีชีวิตสงฆ์ หากแต่มุ่งหน้าไปทางอื่นกันเต็มๆ 

แบบนี้ต่างหากที่ชาวบ้านที่รู้หลักของการออกบวชเขารับไม่ได้ 

…………….

หลักของผมคือ เข้าข้างพระทุกกรณี

เมื่อมีใครตำหนิพระ ผมถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องออกรับแทน ผมจะไม่พลอยผสมโรงไปกับเขาด้วยเด็ดขาด

แต่เมื่อเถียงแทนพระนานเข้า ผมก็กลัวว่าตัวเองจะมีเหตุผลแบบข้างๆ คูๆ มากขึ้นทุกวัน

อย่างกรณีพระไปเรียนเอาปริญญา ผมเถียงแทนมาตลอดว่า ก็ดีแล้วไงท่านจะได้มีความรู้ทัดเทียมชาวบ้าน ชาวบ้านจะได้เลิกดูถูกพระว่ารู้แต่เรื่องธรรมะ ไม่รู้เรื่องทางโลก 

แต่ข้อสำคัญ กิจของสงฆ์ท่านก็ไม่เคยบกพร่องมิใช่หรือ 

ท่านต้องออกแรง ๒ เท่า คุณยังจะมาว่าอะไรท่านอีก 

กิจของสงฆ์-วิถีชีวิตสงฆ์ท่านก็ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน 

เรียนเอาปริญญาท่านก็ต้องทำให้ได้ 

จะเอายังไงกับท่านอีก 

เถียงเขาไปแล้ว ผมก็ได้แต่หวังว่าพระที่ไปเรียนแบบนั้นท่านจะยังรักษาวิถีชีวิตสงฆ์เข้มแข็งกันทั่วไป

ใครจะว่าเรียนเดรัจฉานวิชา ก็ให้เขาว่าไป ผมเชื่อว่าที่รัชกาลที่ ๕ ท่านตั้งมหาธาตุวิทยาลัย-ซึ่งแปรสภาพมาเป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทุกวันนี้-แล้วตรัสว่าจะเป็นที่ให้พระ “เล่าเรียนพระไตรปิฎกแลวิชาชั้นสูง” นั้น ก็คือจะให้พระเรียนวิชาที่ชาวบ้านเขาเรียนกันในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้พระมีความรู้ทันชาวบ้าน ชาวบ้านผู้มีการศึกษายอมรับในความรู้ และยอมฟังด้วยดีเมื่อพระสอนธรรมะ 

แต่สิ่งที่พระต้องระวังเป็นที่สุดก็คือ อย่าบกพร่องในกิจของสงฆ์ อย่าให้เสียสมณสารูป และต้องรักษาวิถีชีวิตสงฆ์ไว้อย่างมั่นคง

พูดชัดๆ ก็คือ-เรียนเพื่อจะเป็นพระที่มีความรู้ทันชาวบ้าน

ไม่ใช่เรียนเพื่อเป็นชาวบ้าน 

ในอนาคต จะออกไปเป็นชาวบ้านก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่ในระหว่างที่ยังเป็นพระอยู่ ต้องรักษาวิถีชีวิตสงฆ์อย่าให้บกพร่อง

ชาวบ้านที่เขามองรู้ดูออก เมื่อเห็นพระตั้งใจรักษาวิถีชีวิตสงฆ์อย่างเข้มแข็ง เขาไม่ตำหนิหรอกครับ แต่เขาพร้อมที่จะอุปถัมภ์ค้ำจุนด้วยศรัทธา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๑:๑๓

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *