อาภัพ (บาลีวันละคำ 172)
อาภัพ
อ่านว่า อา-พับ (เขียนและอ่านแบบไทย)
เป็นคำบาลีอีกคำหนึ่งที่นำมาใช้ในภาษาไทย แปลงรูปและความหมายเป็นไทย
คำเดิมในภาษาบาลีเป็น “อภพฺพ” (อะ-พับ-พะ) เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า ไม่ควร, ไม่เหมาะ, เป็นไปไม่ได้ หมายความว่า “ไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้อย่างแน่นอน” ตัวอย่างเช่น
– ดวงอาทิตย์เป็นอภัพพะที่จะขึ้นทางทิศตะวันตก
– คนที่ฆ่าพ่อฆ่าแม่เป็นอภัพพะที่จะได้บรรลุธรรม
“อภพฺพ” ฝรั่งแปลว่า impossible, not likely, unable (ภาษาอังกฤษอาจช่วยให้เข้าใจความหมายได้ชัดขึ้น)
“อภพฺพ” เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทย ยืดเสียง “อ” เป็น “อา” และไม่ออกเสียงพยางค์ท้าย จึงได้รูปเป็น “อาภัพ” มีความหมายว่า ปราศจากโชค, เคราะห์ร้าย, วาสนาน้อย, ตกอับ, ควรจะได้ดีแต่ก็เอาดีไม่ได้
คาถาแก้อาภัพ :
ทำดีไว้ให้พร้อมสรรพ ถึงจะอาภัพ ก็ไม่นาน
มัวท้อแท้เหมือนแพ้ทัพ … อาภัพตลอดกาล
บาลีวันละคำ (172)
27-10-55
อภพฺพ (บาลี-อังกฤษ)
ไม่ควร, ไม่เหมาะ, เป็นไปไม่ได้
impossible, not likely, unable
อาภัพ
[-พับ] ว. ปราศจากโชค, เคราะห์ร้าย, วาสนาน้อย, ตกอับ. (ป. อภพฺพ ว่า ไม่สมควร).
อาภัพเหมือนปูน
(สำ) ทำดีแต่มักถูกมองข้ามไปหรือไม่มีใครมองเห็น คล้ายในการกินหมาก จะต้องมีหมาก พลู ปูน ๓ อย่างประกอบกัน แต่คนมักพูดว่า กินหมากกินพลู โดยมิได้พูดถึงปูนเลย จะพูดถึงบ้างก็เป็นไปในทางที่ไม่ดีว่า ปูนกัดปาก.