บาลีวันละคำ

อนิจฺจา วต สงฺขารา (บาลีวันละคำ 171)

อนิจฺจา วต สงฺขารา

อ่านว่า อะ-นิด-จา วะ-ตะ สัง-ขา-รา

เป็นคำบาลีที่คุ้นหูคนไทยมากอีกคำหนึ่ง เป็นข้อความบาทหนึ่งหรือวรรคหนึ่งในคาถา (= คำประพันธ์) 4 วรรค หรือ 1 บท จะได้ยินเวลาไปร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผู้ตาย เช่น สวดพระอภิธรรม ตอนพระทำพิธีบังสุกุล

คาถาบทนี้มีข้อความเต็มๆ ว่า

อนิจฺจา  วต  สงฺขารา

อุปฺปาทวยธมฺมิโน

อุปฺปชฺชิตฺวา  นิรุชฺฌนฺติ

เตสํ  วูปสโม  สุโข.

(สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ

มีการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา

เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

การเข้าไประงับดับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นความสุข)

อนิจฺจา  วต  สงฺขารา

ประกอบด้วยคำ 3 คำ คือ –

1- “อนิจฺจา” แปลว่า ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไม่คงที่ ไม่ถาวร ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน

2- “วต” นักบาลีไทยแปลว่า “หนอ” ฝรั่งแปลว่า surely, certainly, indeed, alas ! (part of exclamation) ไทยแปลจากฝรั่งว่า แน่ละ, แน่นอน, จริงๆ, โธ่ !

3- “สงฺขารา” แปลว่า สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง, สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย, ร่างกายและจิตใจ

คำแปลที่นิยมพูดกันคือ “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ” (รู้คำแปลแต่ละคำแล้ว สามารถนำมาปรับแต่งได้ตามความเหมาะสม)

คำนี้มักมีผู้เขียนคลาดเคลื่อน เช่น

– อนิจจัง วัฏสังขารา

– อนิจจา วัฏสังสารา

โปรดสังเกต :

– “อนิจจา” ไม่ใช่ “อนิจจัง

– “วต” ไม่ใช่ “วัฏ” (และต้องแยกเป็นคนละคำ)

– “สังขารา” ไม่ใช่ “สังสารา

คำที่ถูกต้อง : อนิจฺจา  วต  สงฺขารา

: คุ้นหูอย่างเดียวอาจเข้าใจผิด

: คุ้นตาอีกสักนิดช่วยให้มั่นใจ

บาลีวันละคำ (171)

26-10-55

นิจฺจ (บาลี-อังกฤษ)

(คุณ.) (เวท. นิตฺย การสร้างรูปคุณ. จาก นิ, หมายถึง “ลงไปข้างล่าง” ต่อไป, เรื่อยไปไม่รู้จักจบ ตามมติ ว่า แต่เดิมหมายถึง “ภายใน, ไม่หรูหราโอ่อ่า”) [Vedic nitya, adj. — formation fr. ni, meaning “downward”=onward, on and on; according to Grassmann (Wtb. z. Rig Veda) originally “inwardly, homely”]

เป็นนิตย์, ต่อเนื่องกันไป, ถาวร constant, continuous, permanent

คำที่เป็นไวพจน์ นิจฺจ ธุว สสฺสต อวิปริณามธมฺม

(นปุง.,ก.วิ.) นิจฺจํ ชั่วนิรันดร, เสมอ, เป็นนิตย์, เสมอๆ (เป็นไวพจน์กับ สทา) perpetually, constantly, always (syn. sadā)

อนิจฺจ (คุณ; อนิจฺจํ นปุง.,นาม.) ไม่ถาวร, ไม่คงที่, ความไม่ถาวร unstable, impermanent, inconstant; (นปุง.) ความไม่ยั่งยืน, ความไม่คงทน, ความไม่ถาวร evanescence, inconstancy, impermanence

อนิจฺจ ค. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

(ธรรมหรือขันธ์ ๕) ไม่เที่ยง, ไม่ยั่งยืน

วต (บาลี-อังกฤษ)

แน่ละ, แน่นอน, จริงๆ, โธ่ !

part of exclamation : surely, certainly, indeed, alas !

วฏฺฏ ค. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

กลม, เป็นวงกลม.

วฏฺฏ นป.

วงกลม, การหมุนเวียน.

สังขาร (ประมวลศัพท์)

1. สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง, สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นรูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม ได้แก่ขันธ์ ๕ ทั้งหมด, ตรงกับคำว่า สังขตะ หรือ สังขตธรรม ได้ในคำว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง” ดังนี้เป็นต้น

2. สภาพที่ปรุงแต่งใจให้ดีหรือชั่ว, ธรรมมีเจตนาเป็นประธานที่ปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำ มีทั้งที่ดีเป็นกุศล ที่ชั่วเป็นอกุศล ที่กลางๆ เป็นอัพยากฤต ได้แก่เจตสิก ๕๐ อย่าง (คือ เจตสิกทั้งปวงเว้นเวทนาและสัญญา) เป็นนามธรรมอย่างเดียว, ตรงกับสังขารขันธ์ ในขันธ์ ๕ ได้ในคำว่า “รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง” ดังนี้เป็นต้น;

        อธิบายอีกปริยายหนึ่ง สังขารตามความหมายนี้ยกเอาเจตนาขึ้นเป็นตัวนำหน้า ได้แก่สัญเจตนา คือเจตนาที่แต่งกรรมหรือปรุงแต่งการกระทำ มี ๓ อย่างคือ

        ๑. กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย คือ กายสัญเจตนา

        ๒. วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา คือ วจีสัญเจตนา

        ๓. จิตตสังขาร หรือ มโนสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ คือ มโนสัญเจตนา

3. สภาพที่ปรุงแต่งชีวิตมี ๓ คือ ๑. กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกาย ได้แก่ อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ๒. วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งวาจา ได้แก่วิตกและวิจาร ๓. จิตตสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งใจ ได้แก่สัญญาและเวทนา

สงฺขาร ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

การปรับปรุง, การตกแต่ง; ร่างกายและจิตใจ.

สํสาร ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

การท่องเที่ยว, การเวียนว่ายตายเกิด.

สํสาร (บาลี-อังกฤษ)

1. วัฏสงสาร, (ตามตัว) การเดินทาง transmigration, lit. faring on

2 .การเคลื่อนไป, การหมุนเวียน moving on, circulation

สังสารวัฏ (ประมวลศัพท์)

ภพที่เวียนเกิดเวียนตาย, การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก; สังสารวัฏฏ์ หรือ สงสารวัฏ ก็เขียน

วฏฺฏํ สํสาโร วิวฏฺฏํ นิพฺพานํ (เนตติปกรณ์ อ้างในบาลี-อังกฤษ)

สังสารวัฏ

  [-สาระ-] น. การเวียนว่ายตายเกิด, สงสารวัฏ หรือ วัฏสงสาร ก็ว่า. (ป. สํสารวฏฺฏ).

อนิจจัง วัฏสังขารา

(Ohm Pavaphon อนิจจัง วัฏสังขารา อยู่ไปอยู่มามันก็เลยดับสูญไปทั้งป้ายทั้งตึกให้ได้ปลง – ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๕)

อนิจฺจา วต สงฺขารา

เป็นคำของใครในพระไตรปิฎก ?

๑. ในมหาปรินิพพานสูตร ที.มหา. ๑๐/๑๔๗ เป็นคำของท้าวสักกะ

๒. ในมหาสุทัสสนสูตร ที.มหา. ๑๐/๑๘๖ เป็นพระพุทธพจน์

๓. ในนันทสูตร สํ.สคาถ. ๑๕/๒๕ เป็นพระพุทธพจน์

๔. ในสูตรที่ ๑๐ วรรคที่ ๒ อนมตัคคสังยุต สํ.นิทาน. ๑๖/๔๖๑ เป็นพระพุทธพจน์

๕ .ในเถรคาถา ๒๖/๓๐๐ เป็นคำของพระมหาโมคคัลลานเถระ

๖. ในมหาสุทัสสนชาดก เอกนิบาต ๒๗/๙๕ เป็นพระพุทธพจน์

๗. ในอปทาน ภาค ๑ ๓๑/๒๑ เป็นคำของพระโสปากเถระ

๘ .ในอปทาน ภาค ๑ ๓๑/๓๔๑ เป็นคำของพระธัมมสวนิยเถระ

๙. ในอปทาน ภาค ๒ ๓๒/๑๗ เป็นคำของพระเอกธัมมสวนิยเถระ

สรุปว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา เป็นพระพุทธพจน์ และมีผู้นำไปกล่าวในโอกาสต่างๆ

—————

สำนวนที่เขียนไว้เดิม

อนิจฺจา วต สงฺขารา

อ่านว่า อะ-นิด-จา วะ-ตะ สัง-ขา-รา

เป็นคำบาลีที่คุ้นหูคนไทยมากอีกคำหนึ่ง (เวลาไปร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผู้ตาย เช่น สวดพระอภิธรรม) เป็นข้อความวรรคหนึ่งในคำประพันธ์ 4 วรรค ประกอบด้วยคำ 3 คำ คือ –

1- “อนิจฺจา” แปลว่า ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไม่คงที่ ไม่ถาวร ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน

2- “วต” นักบาลีไทยแปลว่า “หนอ” ฝรั่งแปลว่า  surely, certainly, indeed, alas ! (part of exclamation) ไทยแปลจากฝรั่งว่า แน่ละ, แน่นอน, จริงๆ, โธ่ !

3- “สงฺขารา” แปลว่า สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง, สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย, ร่างกายและจิตใจ

คำแปลที่นิยมพูดกันคือ “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ” (รู้คำแปลแต่ละคำแล้ว สามารถนำมาปรับแต่งได้ตามความเหมาะสม)

คำนี้มักมีผู้เขียนคลาดเคลื่อน เช่น

– อนิจจัง วัฏสังขารา

– อนิจจา วัฏสังสารา

โปรดสังเกต :

– “อนิจจา” ไม่ใช่ “อนิจจัง

– “วต” ไม่ใช่ “วัฏ” (และต้องแยกเป็นคนละคำ)

– “สังขารา” ไม่ใช่ “สังสารา

: คุ้นหูอย่างเดียวอาจเข้าใจผิด คุ้นตาอีกสักนิดช่วยให้มั่นใจ

บาลีวันละคำ (171)

26-10-55

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย