ปวารณา (บาลีวันละคำ 175)
ปวารณา
อ่านว่า ปะ-วา-ระ-นา
เป็นคำบาลีที่แม้จะไม่ค่อยคุ้น แต่ก็ไม่ถึงกับแปลกหน้า
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า “ปวารณา” มีความหมายดังนี้ –
1- ยอมให้ภิกษุสามเณรขอหรือเรียกร้องเอาได้ เช่น ขอของจากผู้ปวารณา, ใบปวารณา
2- บอกยอมให้ใช้ได้ด้วยความเต็มใจ เช่น ขอปวารณาจะใช้อะไรก็บอก
3- พิธีกรรมทางศาสนายอมให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนได้ ทําในวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา, เรียกวันออกพรรษาว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา
ในทางไวยากรณ์ “ปวารณา” มาจาก ป + วรฺ + ยุ = ปวารณา
“ป” (คำอุปสรรค) = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก
“วรฺ” (รากศัพท์ แปลง “ว” เป็น “วา” ด้วยอำนาจ “ยุ” ปัจจัย) = ขอ, ต้องการ, ห้าม
“ยุ” (ปัจจัย แปลงเป็น “อน” แล้วแปลง น เป็น ณ) = การ-, ความ-
“ปวารณา” จึงมีความหมายว่า –
1. การยอมให้ขอ (ขอสิ่งของ, ขอแรง, ขอความร่วมมือ)
2. ความต้องการให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือน
3. การห้าม (= ไม่มีความประสงค์จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง)
ความหมายของ “ปวารณา” ถอดออกมาเป็นแนวคิดก็คือ
“เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ – แก้ไขข้อผิดพลาด – ฉลาดที่จะปฏิเสธ”
วันนี้ (30 ตุลาคม 2555, ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) เป็นวันมหาปวารณา
: “ปวารณา” เป็นเรื่องของพระ
: แต่ถ้าเห็นแนวคิดในธรรมะ ก็ปวารณากันได้ทุกคน
บาลีวันละคำ (175)
30-10-55
ปวารณา (ศัพท์วิเคราะห์)
1. การยอมให้ขอ
ปวาเรติ ปจฺจเย อิจฺฉาเปติ เอตายาติ ปวารณา (อุปนิมนฺตนา) กิริยาเป็นเหตุให้ปรารถนาปัจจัย
ป บทหน้า วร ธาตุ ในความหมายว่าห้าม, ปรารถนา ยุ ปัจจัย
2. การยอมให้ว่ากล่าว
ปกาเรหิ ทิฏฺฐาทีหิ วาเรติ สงฺฆาทิเก ยาจาเปติ เอตายาติ ปวารณา (อาปตฺติวิโสธนาย โอกาสทานํ) กิริยาเป็นเหตุให้ขอร้องสงฆ์เป็นต้น ด้วยเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องที่ได้เห็นเป็นต้น
ป บทหน้า วร ธาตุ ในความหมายว่าขอ ยุ ปัจจัย
3. การห้ามภัตร
ปการยุตฺตา วารณาติ ปวารณา (โภชนปฏิกฺเขโป) การห้ามที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ (ป + วารณา)
ปวารณา อิต. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ปวารณา, (การยอมให้ใช้ ยอมให้ขอ ยอมให้ว่ากล่าว ยอมให้ตักเตือน)
ปวารณา
[ปะวาระนา] ก. ยอมให้ภิกษุสามเณรขอหรือเรียกร้องเอาได้ เช่น ขอของจากผู้ปวารณา ใบปวารณา; บอกยอมให้ใช้ได้ด้วยความเต็มใจ เช่น ขอปวารณาจะใช้อะไรก็บอก; พิธีกรรมทางศาสนายอมให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนได้ ทําในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา, เรียกวันออกพรรษาว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา. (ป.).
ปวารณา (บาลี-อังกฤษ)
ความพอใจ satisfaction
ปวาเรติ (บาลี-อังกฤษ)
เชื้อเชิญ, ให้, พอใจ
satisfaction (สอ เสถบุตร)
1. ดีถึงขนาดที่ต้องการ, ปฏิบัติให้เป็นที่พอใจ, ความพอใจ, ทำให้พอ (ความต้องการ, ความขาดแคลน)
2. ระงับ (ความหิว), ทำให้อิ่ม
3. พอลบล้าง (ข้อขัดข้อง)
4. ปฏิบัติตาม (ข้อผูกพัน, หนี้)
5. เป็นไปตาม (ความคิด)
6. แก้แค้น
ปวารณา (ประมวลศัพท์)
1. ยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ขอ
2. ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน, ชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า วันมหาปวารณา โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือนได้ดังนี้
“สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ, ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกายวา; วทนฺตุ มํ, อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย; ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ. ทุติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ, … ตติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ, …”
แปลว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณากะสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ยินก็ตาม ด้วยน่าระแวงสงสัยก็ตาม, ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงว่ากล่าวกะข้าพเจ้าด้วยอาศัยความหวังดีเอ็นดู, เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น จักแก้ไข แม้ครั้งที่สอง … แม้ครั้งที่สาม …” (ภิกษุผู้มีพรรษาสูงสุดในที่ประชุมว่า อาวุโส แทน ภนฺเต)
ปวารณาเป็นสังฆกรรมประเภทญัตติกรรม คือ ทำโดยตั้งญัตติ (คำเผดียงสงฆ์) อย่างเดียว ไม่ต้องสวดอนุสาวนา (คำขอมติ); เป็นกรรมที่ต้องทำโดยสงฆ์ปัญจวรรค คือ มีภิกษุตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป
ปวารณา ถ้าเรียกชื่อตามวันที่ทำแบ่งได้เป็น ๓ อย่าง คือ
๑. ปัณณรสิกา ปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยปกติในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ คือวันออกพรรษา)
๒. จาตุททสิกา ปวารณา (ในกรณีที่มีเหตุสมควร ท่านอนุญาตให้เลื่อนปวารณาออกไปปักษ์หนึ่งหรือเดือนหนี่งโดยประกาศให้สงฆ์ทราบ ถ้าเลื่อนออกไปปักษ์หนึ่งก็ตกในแรม ๑๔ ค่ำ เป็นจาตุททสิกา แต่ถ้าเลื่อนไปเดือนหนึ่งก็เป็นปัณณรสิกาอย่างข้อแรก)
๓. สามัคคีปวารณา (ปวารณาที่ทำในวันสามัคคี คือ ในวันที่สงฆ์ซึ่งแตกกันแล้วกลับปรองดองเข้ากันได้ อันเป็นกรณีพิเศษ)
ถ้าแบ่งโดยการก คือ ผู้ทำปวารณาแบ่งเป็น ๓ อย่าง คือ
๑. สังฆปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยสงฆ์คือ มีภิกษุ ๕ รูปขึ้นไป)
๒. คณปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยคณะคือมีภิกษุ ๒–๔ รูป)
๓. ปุคคลปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยบุคคลคือมีภิกษุรูปเดียว)
และโดยนัยนี้ อาการที่ทำปวารณาจึงมี ๓ อย่าง คือ
๑. ปวารณาต่อที่ชุมนุม (ได้แก่ สังฆปวารณา)
๒. ปวารณากันเอง (ได้แก่ คณปวารณา)
๓. อธิษฐานใจ (ได้แก่ ปุคคลปวารณา)
ในการทำสังฆปวารณา ต้องตั้งญัตติ คือ ประกาศแก่สงฆ์ก่อน แล้วภิกษุทั้งหลายจึงจะกล่าวคำปวารณาอย่างที่แสดงไว้ข้างต้น ตามธรรมเนียมท่านให้ปวารณารูปละ ๓ หน แต่ถ้ามีอันตรายคือเหตุฉุกเฉินขัดข้องจะทำอย่างนั้นไม่ได้ตลอด (เช่น แม้แต่ทายกมาทำบุญ จะปวารณารูปละ ๒ หน หรือ ๑ หน หรือพรรษาเท่ากันว่าพร้อมกันก็ได้ ทั้งนี้ จะปวารณาอย่างไรก็พึงประกาศให้สงฆ์รู้ด้วยญัตติก่อน โดยนัยนี้ การตั้งญัตติในสังฆปวารณาจึงมีต่างๆ กัน ดังมีอนุญาตไว้ดังนี้ ๑. เตวาจิกา ญัตติ คือ จะปวารณา ๓ หน พึงตั้งญัตติว่า: “สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, อชฺช ปวารณา ปณฺณรสี, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ เตวาจิกํ ปวาเรยฺย” แปลว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ปวารณาวันนี้ที่ ๑๕ ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงปวารณาอย่างกล่าววาจา ๓ หน” (ถ้าเป็นวันแรม ๑๔ ค่ำ หรือวันสามัคคีก็พึงเปลี่ยน ปณฺณรสี เป็น จาตุทฺทสี หรือ สามคฺคี ตามลำดับ) ๒. เทฺววาจิกา ญัตติ คือจะปวารณา ๒ หน ตั้งญัตติอย่างเดียวกัน แต่เปลี่ยน เตวาจิกํ เป็น เทฺววาจิกํ ๓. เอกวาจิกา ญัตติ คือ จะปวารณาหนเดียว ตั้งญัตติอย่างเดียวกันนั้น แต่เปลี่ยน เตวาจิกํ เป็น เอกวาจิกํ ๔. สมานวัสสิกา ญัตติ คือ จัดให้ภิกษุที่มีพรรษาเท่ากัน ปวารณาพร้อมกัน ตั้งญัตติก็เหมือน แต่เปลี่ยน เตวาจิกํ เป็น สมานวสฺสิกํ (จะว่า ๓ หน ๒ หน หรือหนเดียวได้ทั้งนั้น) ๕. สัพพสังคาหิกา ญัตติ คือ แบบตั้งครอบทั่วไป ไม่ระบุว่ากี่หน ตั้งญัตติคลุมๆ โดยลงท้ายว่า … สงฺโฆ ปวาเรยฺย (ตัดคำว่า เตวาจิกํ ออกเสีย และไม่ใส่คำใดอื่นแทนลงไป อย่างนี้จะปวารณากี่หนก็ได้); ธรรมเนียมคงนิยมแต่แบบที่ ๑, ๒ และ ๔ และท่านเรียกชื่อปวารณาตามนั้นด้วยว่า เตวาจิกา ปวารณา, เทฺววาจิกา ปวารณา, สมานวัสสิกา ปวารณา ตามลำดับ
ในการทำคณปวารณา ถ้ามีภิกษุ ๓–๔ รูป พึงตั้งญัตติก่อนว่า: “สุณนฺตุ เม อายสฺมนฺโต, อชฺช ปวารณา ปณฺณรสี, ยทายสฺมนฺตานํ ปตฺตกลฺลํ, มยํ อญฺญมญฺญํ ปวาเรยฺยาม” แปลว่า “ท่านเจ้าข้า ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ปวารณาวันนี้ที่ ๑๕ ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว เราทั้งหลายพึงปวารณากันเถิด” (ถ้า ๓ รูปว่า อายสฺมนฺตา แทน อายสฺมนฺโต) จากนั้นแต่ละรูปปวารณา ๓ หน ตามลำดับพรรษาดังนี้: มี ๓ รูปว่า “อหํ อาวุโส อายสฺมนฺเต ปวาเรมิ ฯเปฯ วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺตา อนุกมฺปํอุปาทาย, ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ, ทุติยมฺปิ อาวุโส ฯเปฯ ตติยมฺปิ อาวุโส ฯเปฯ ปฏิกฺกริสฺสามิ” (ถ้ารูปอ่อนกว่าว่า เปลี่ยน อาวุโส เป็น ภนฺเต); มี ๔ รูป เปลี่ยน อายสฺมนฺเต และ อายสฺมนฺตา เป็น อายสฺมนฺโต อย่างเดียว; ถ้ามี ๒ รูป ไม่ต้องตั้งญัตติ คำปวารณาก็เหมือนอย่างนั้น เปลี่ยนแต่ อายสฺมนฺเต เป็น อายสฺมนฺตํ, อายสฺมนฺตา เป็น อายสฺมา และ วทนฺตุ เป็น วทตุ.
ถ้าภิกษุอยู่รูปเดียว เธอพึงตระเตรียมสถานที่ไว้ และคอยภิกษุอื่นจนสิ้นเวลา เมื่อเห็นว่าไม่มีใครอื่นแล้ว พึงทำ ปุคคลปวารณา โดยอธิษฐานคือกำหนดใจว่า “อชฺช เม ปวารณา” แปลว่า “ปวารณาของเราวันนี้”
เหตุที่จะอ้างเพื่อเลื่อนวันปวารณาได้ คือจะมีภิกษุจากที่อื่นมาสมทบปวารณาด้วย โดยหมายจะคัดค้านผู้นั้นผู้นี้ให้เกิดอธิกรณ์ขึ้น หรืออยู่ด้วยกันผาสุก ถ้าปวารณาแล้วต่างก็จะจาริกจากกันไปเสีย