บาลีวันละคำ

มัธยัสถ์ (บาลีวันละคำ 174)

มัธยัสถ์

อ่านว่า มัด-ทะ-ยัด

มัธยัสถ์” เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “มชฺฌฏฺฐ” (มัด-ชัด-ถะ)

ประกอบด้วยคำว่า มชฺฌ (= ท่ามกลาง, ปานกลาง, พอดีๆ) + ฐา (= ตั้งอยู่, ยืนอยู่, ดำรงอยู่)

ฐา” เป็นธาตุ (รากศัพท์) มีความหมายว่า ตั้ง, ยืน, ดำรงอยู่. เมื่อมีคำอื่นมาประสมอยู่ข้างหน้า เปลี่ยนรูปตามกฎไวยากรณ์เป็น “-ฏฺฐ

มชฺฌ + ฐา จึง = มชฺฌฏฺฐ (รูปบาลีที่นิยมใช้บ่อยกว่า คือ “มชฺฌตฺต”) แปลว่า “ตั้งอยู่ในท่ามกลาง” = ไม่มากไม่น้อย “มีอารมณ์เป็นกลาง” = ไม่ชอบไม่ชัง

มชฺฌ” ในบาลี เป็น “มธฺย” ในสันสกฤต

ฏฐ” ในบาลี เป็น “สฺถ” ในสันสกฤต (เทียบ คห [= บ้าน, เรือน] + ฐา = คหฏฺฐ แปลว่า “ผู้ดำรงอยู่ในเรือน” = ผู้ครองเรือน เขียนตามรูปสันสกฤตเป็น “คฺฤหสฺถ” เขียนแบบไทยเป็น “คฤหัสถ์”)

ดังนั้น “มชฺฌฏฺฐ” เขียนตามรูปสันสกฤตจึงเป็น “มธฺยสฺถ” เขียนแบบไทยเป็น “มัธยัสถ์” ในภาษาไทยมีความหมายว่า ใช้จ่ายอย่างประหยัด

มัธยัสถ์” = ประหยัด เสียงใกล้กับ “มัจฉริยะ” = ตระหนี่

การปฏิบัติก็ใกล้กันจนชวนให้เข้าใจผิดได้ง่ายที่สุด

มัจฉริยะ (จำเป็นก็ไม่ยอมจ่าย) เข้าใจไปว่า “ประหยัด

มัธยัสถ์ (จ่ายเท่าที่จำเป็น) ถูกมองว่า “ตระหนี่

แยกให้ดี ระวัง – จะหลงทาง

บาลีวันละคำ (174)

29-10-55

มธฺยสฺถ (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)

ค. “มัธยัสถ์” อันตั้งอยู่กลาง, กลาง centrical, middle

น. คนกลาง an umpire, a mediator

มัธยัสถ์

  [มัดทะยัด] ก. ใช้จ่ายอย่างประหยัด. (ส. มธฺยสฺถ ว่า ปานกลาง, ตั้งอยู่ในท่ามกลาง).

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อ