บาลีวันละคำ

ผลผลิต (บาลีวันละคำ 3,261)

ผลผลิต

คือ “ผลิตผล”

อ่านว่า ผน-ผะ-หฺลิด

ประกอบด้วยคำว่า ผล + ผลิต

(๑) “ผล

บาลีอ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + (อะ) ปัจจัย

: ผลฺ + = ผล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร

ผล” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)

(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)

(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)

ในที่นี้ “ผล” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

บาลี “ผล” สันสกฤตก็เป็น “ผล

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ผล : (คำนาม) ‘ผล,’ ผลทั่วไป; ผล, อวสาน; บุณโยทัย, สมบัทหรือความรุ่งเรือง; ลาภ, กำไร; รางวัล; โล่; ใบพร้า; หัวลูกศร; ผลจันทน์เทศ; ฤดูของสตรี; ทาน, การให้; ผาล; คุณย์; ผลที่ได้จากการหาร; เนื้อที่ในวงก์กลม, เกษตรผลหรือเนื้อนา, ฯลฯ; สมีกรณ์, สามยะ, หรือบัญญัติตราชู; fruit in general; fruit, result or consequence; prosperity; gain, profit; reward; a shield; the blade of a knife; the head of an arrow; a nutmeg; the menstrual discharge; gift, giving; a ploughshare; the quotient of a sum; the area of a circle, the area of the field, &c.; an equation.”

ผล” ในภาษาไทยอ่านว่า ผน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(๑) ส่วนของพืชที่เจริญมาจากรังไข่ เช่น ผลมะม่วง ผลมะปราง.

(๒) สิ่งที่เกิดจากการกระทำ เช่น ผลแห่งการทำดี ผลแห่งการทำชั่ว.

(๓) ประโยชน์ที่ได้รับ เช่น ทำนาได้ผล เรียนได้ผล.

(๔) ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล, คู่กับ มรรค.

(๕) ลักษณนามเรียกผลไม้ เช่น มะม่วง ๒ ผล มะปราง ๓ ผล.

(๖) จำนวนที่ได้จากการคำนวณ เช่น ๕ กับ ๗ บวกกัน ได้ผลเท่ากับ ๑๒, ผลลัพธ์ ก็ว่า.

(๒) “ผลิต

ภาษาไทยอ่านว่า ผะ-หฺลิด บาลีอ่านว่า ผะ-ลิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, ทำลาย, ผ่า, แตก, บาน, แผ่ไป) + อิ อาคม + ปัจจัย

: ผลฺ + อิ + = ผลิต แปลตามศัพท์ว่า “ถูกทำให้สำเร็จ” “ถูกทำให้แตกออกไป

ผลิต” ในบาลีเป็นคำกริยาและเป็นคุณศัพท์ ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) แตก (broken) เช่น หทยํ  ผลิตํ = อกแตก (his heart broke) หทเยน  ผลิเตน = มีหทัยแตกสลาย (with broken heart)

(2) ออกผล, มีผล, เต็มไปด้วยผล (เกี่ยวกับต้นไม้) (fruit bearing, having fruit, covered with fruit [of trees])

(3) ออกดอก, (ดอกไม้) บาน (blossoming, in blossom)

(4) ผมหงอก (grey-haired) (“ผลิต” ที่หมายถึงผมหงอกนี้ นักภาษาว่าเพี้ยนมาจาก “ปลิต” เป็นไปตามธรรมชาติการออกเสียง ป ผ พ ที่เสียงกลายแทนกันได้)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ผลิต : (คำกริยา) ทําให้เกิดมีขึ้นตามที่ต้องการด้วยอาศัยแรงงานหรือเครื่องจักรเป็นต้น เช่น ผลิตข้าว ผลิตรถยนต์ ผลิตครู ผลิตบัณฑิต. (ป.).”

ในภาษาไทย คำว่า “ผลิต” ถ้ามีคำมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า ผะ-หฺลิด-ตะ- (ต่อด้วยคำนั้นๆ)

ผล + ผลิต = ผลผลิต

ขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ผลผลิต” ไว้ แต่มีคำว่า “ผลิตผล” บอกความหมายไว้ว่า –

ผลิตผล : (คำนาม) ผลที่ทําขึ้น, ผลที่ได้จากการผลิตด้วยอาศัยแรงหรือเครื่องจักรเป็นต้น.”

แล้วคำว่า “ผลผลิต” ควรจะมีความหมายว่าอย่างไร?

เท่าที่อ่านข้อความแวดล้อม คำว่า “ผลผลิต” มักหมายถึงผลของพืชเป็นส่วนใหญ่ ที่หมายถึงผลของการประกอบการอื่นๆ ก็มีบ้าง แต่น้อย

ผลของพืชนั้นพืชมันผลิตของมันเอง ไม่ใช่ “ผลที่ (มีใคร) ทำขึ้น” หากจะมีใครทำก็เป็นการทำโดยอ้อม เช่น ใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดิน กำจัดศัตรูพืช แต่การผลิตผลออกมาเป็นหน้าที่ของพืชมันทำเอง

ผู้เขียนบาลีวันละคำปรารถนาจะเข้าใจว่า คำว่า “ผลผลิต” เป็นคำแปลของคำว่า “ผลิตผล” นั่นเอง

คำว่า “ผลิตผล” อ่านว่า ผะ-หฺลิด-ตะ-ผน เป็นคำสมาส แปลจากหลังมาหน้า คือแปลว่า “ผลที่เกิดขึ้น” หรือที่พจนานุกรมฯ บอกว่า “ผลที่ทําขึ้น” ใช้คำตามคำแปลก็คือ “ผลผลิต

ผลที่เกิดขึ้น” หรือ “ผลที่ทําขึ้น” พูดเป็นศัพท์ก็คือ “ผลผลิต

ผลผลิต” อ่านว่า ผน-ผะ-หฺลิด เป็นคำประสม ไม่ใช่คำสมาส แปลจากหน้าไปหลัง คือแปลว่า “ผล>ที่>ผลิตขึ้น” พูดกลับเป็นคำศัพท์ว่า “ผลิตผล

ถ้าจะเล่นคำ “ผลิตผล” ก็คือ “ผลผลิต” และ “ผลผลิต” ก็คือ “ผลิตผล” วนไปวนมา ความหมายก็คือ “ผลที่เกิดขึ้น” หรือ “ผลที่ทําขึ้น

ถ้าพูดว่า “ผลิตผล” (ผะ-หฺลิด-ตะ-ผน) คือพูดคำศัพท์ แปลว่า “ผลผลิต

ถ้าพูดว่า “ผลผลิต” (ผน-ผะ-หฺลิด) คือพูดคำแปลของคำว่า “ผลิตผล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พืชเผล็ดผลให้ตัวเองเพียงเพื่อสืบพันธุ์

เหลือจากนั้น-เพื่อผู้อื่น

: บัณฑิตบำเพ็ญกรณียกิจเพื่อตัวเองเป็นส่วนน้อย

กิจที่เหลืออีกนับร้อย-เพื่อผู้อื่น

#บาลีวันละคำ (3,261)

17-5-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *