บาลีวันละคำ

อภิธาน (บาลีวันละคำ 3,262)

อภิธาน

แปลว่าชื่อ

บาลีอ่านว่า อะ-พิ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, จำเพาะ, ข้างหน้า) + ธา (ธาตุ = กล่าว, พูด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อภิ + ธา = อภิธา + ยุ > อน = อภิธาน แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาใช้เรียก” หมายถึง ชื่อ (name)

บาลี “อภิธาน” สันสกฤตก็เป็น “อภิธาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

“อภิธาน : (คำนาม) ชื่อ; ภาษา; การพูด; ศัพท์แปล; a name; speech; speaking; a vocabulary or dictionary.”

คำว่า “อภิธาน” ในชื่อหนังสือ “สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน” ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นหนังสืออ้างอิงอยู่เป็นประจำนี้ ก็มาจาก “อภิธาน” คำนี้

อภิธาน” ภาษาไทยอ่านว่า อะ-พิ-ทาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

อภิธาน : (คำนาม) หนังสืออธิบายศัพท์เฉพาะเรื่อง เช่น อภิธานประวัติศาสตร์ไทย. (ป., ส.).”

จะเห็นได้ว่า ตามพจนานุกรมฯ คำว่า “อภิธาน” ในภาษาไทยมีความหมายเฉพาะเจาะจงลงไป คือหมายถึง “หนังสือ” และเป็น “หนังสืออธิบายศัพท์เฉพาะเรื่อง” เท่านั้น ไม่ใช่หนังสือทั่วไป

คำบาลีที่ใช้ในความหมายว่า “ชื่อ” (name) มีอีกหลายคำ เช่น –

(1) อวฺหา (เอา-หา) = “คำเป็นเครื่องใช้เรียก

(2) อวฺหย (เอา-หะ-ยะ) = “คำอันเขาเรียก

(3) อาขฺยา (อา-เขีย) = “คำเป็นเครื่องเรียกกัน

(4) สมญฺญา (สะ-มัน-ยา) = “คำเป็นเครื่องรู้กันด้วยดี

(5) สญฺญา (สัน-ยา) = “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ

(6) นาม (นา-มะ) = “คำเป็นที่น้อมวัตถุเข้ามา” “คำอันเขาน้อมไปในความหมาย

(7) นามเธยฺย (นา-มะ-เทย-ยะ) = “คำเป็นที่ตั้งแห่งเนื้อความคือชื่อ

(8 ) อธิวจน (อะ-ทิ-วะ-จะ-นะ) = “คำที่เป็นใหญ่โดยใจความ

ตัวอย่าง :

ในคาถาพาหุงบทที่ 8 มีข้อความเป็นคำบาลีและคำแปลดังนี้ –

…………..

ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ  สุทัฏฐะหัตถัง

พ๎รัห๎มัง  วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง

ญาณาคะเทนะ  วิธินา  ชิตะวา  มุนินโท

ตันเตชะสา  ภะวะตุ  เต  ชะยะมังคะลานิ.

พระจอมมุนีได้ชนะพรหมผู้มีนามว่าพกะ ผู้มีฤทธิ์

สำคัญตนว่ารุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์

มีมืออันท้าวภุชงค์คือทิฐิที่ตนถือผิดรัดรึงไว้แน่นแฟ้นแล้ว

ด้วยวิธีวางยาอันพิเศษ คือเทศนาญาณ

ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่านเทอญ.

…………..

“-พะกาภิธานัง” ในวรรคที่ 2 ก็คือ พก + อภิธาน = พกาภิธาน (พะ-กา-พิ-ทา-นะ) พกาภิธานํ > พะกาภิธานัง แปลว่า “พรหมผู้มีนามว่าพกะ

แถม :

The Pali Text Society’s Pali-English Dictionary ที่นักเรียนบาลีเรียกกันว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ของ ริส เดวิดส์ หรือที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นหนังสืออ้างอิงอยู่เป็นประจำในชื่อ “พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ” เป็นพจนานุกรมบาลีที่ได้รับยกย่องว่าสมบูรณ์ดีมากฉบับหนึ่ง

แต่เชื่อหรือไม่ แปลกแต่จริง พจนานุกรมบาลี-อังกฤษฉบับนี้ไม่ได้เก็บคำว่า Abhidhāna (อภิธาน) ไว้!!

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่มีใครสมบูรณ์ไปหมดทุกอย่าง

: แต่ก็ไม่มีใครบกพร่องไปเสียทุกอย่างเช่นกัน

: ในขณะที่ท่านชื่นชมความสามารถของเพื่อนมนุษย์บางคน

: โปรดอย่าลืมให้อภัยในความอ่อนด้อยของเพื่อนมนุษย์อีกหลายคนด้วย

#บาลีวันละคำ (3,262)

18-5-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *