บาลีวันละคำ

ปฐมนิเทศ – ปัจฉิมนิเทศ (บาลีวันละคำ 182)

ปฐมนิเทศ – ปัจฉิมนิเทศ

(บาลีไทย – ศัพท์บัญญัติ)

ปฐมนิเทศ” อ่านตามหลักภาษาไทยว่า ปะ-ถม-มะ-นิ-เทด

ปัจฉิมนิเทศ” อ่านตามหลักภาษาไทยว่า ปัด-ฉิม-มะ-นิ-เทด

ปฐม + นิเทศ = ปฐมนิเทศ

ปัจฉิม + นิเทศ = ปัจฉิมนิเทศ

ปฐม” บาลี (ฐ ฐาน ไม่มีเชิง) อ่านว่า ปะ-ถะ-มะ แปลว่า ที่หนึ่ง, ขึ้นหน้าที่สุด, ก่อน, ชั้นต้น, เบื้องต้น, ครั้งแรก, เร็วๆ นี้, ใหม่ๆ, เพิ่งจะ

ปัจฉิม” บาลีเขียน “ปจฺฉิม” อ่านว่า ปัด-ฉิ-มะ แปลว่า หลังที่สุด, อยู่ข้างหลัง, สุดท้าย, รั้งท้าย, ทางตะวันตก, (ในแง่คุณภาพ) ต่ำที่สุด, เลวที่สุด

นิเทศ” บาลีเขียน “นิทฺเทส” อ่านว่า นิด-เท-สะ แปลว่า คำแสดง, คำจำแนกอธิบาย, คำไขความ, ชี้แจง, อธิบาย, ระบุ, กำหนด, แสดงออก

ปฐม, ปจฺฉิม, นิทฺเทส เป็นบาลีทุกคำ แต่ ปฐมนิเทศปัจฉิมนิเทศ ไม่มีใช้ในภาษาบาลี จึงเป็นบาลีไทย คือเอาคำบาลีมาบัญญัติใช้ในภาษาไทย

ปฐมนิเทศ” บัญญัติเทียบภาษาอังกฤษว่า orientation = การอบรมเพื่อชี้แนะแนวทางการปฏิบัติเบื้องต้นในการศึกษาหรือการทำงาน

ปัจฉิมนิเทศ” บัญญัติเทียบภาษาอังกฤษว่า post training = การให้คำแนะนำเมื่อจบการศึกษา

สำหรับชาวพุทธ : การรับไตรสรณคมน์และรับศีลห้า พอเทียบได้กับ “ปฐมนิเทศ

แต่สำหรับชาวโลก : พระดำรัสสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพานว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ – สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

นี่คือ “ปัจฉิมนิเทศ

บาลีวันละคำ (182)

6-11-55

ปฐม = ปฐม, ก่อน, เบื้องต้น, ครั้งแรก (ปุพฺพ อคฺค อาทิ) (ศัพท์วิเคราะห์)

– อาทิมฺหิ ปฐียเต อุจฺจารียเตติ ปฐมํ สิ่งอันเขาพูดขึ้นในเบื้องต้น

ปฐฺ ธาตุ ในความหมายว่าพูด, กล่าว อม ปัจจัย

– อุตฺตมภาเวน ปฐียเต อุจฺจารียเตติ ปฐมํ บทอันเขาสวดโดยเป็นบทที่สูงสุด

ปฐฺ ธาตุ ในความหมายว่าสวด อม ปัจจัย

– อาทิมฺหิ ปถียเต สงฺขฺยียเตติ ปฐมํ สิ่งอันเขานับในเบื้องต้น

ปถฺ ธาตุ ในความหมายว่านับ อม ปัจจัย, แปลง ถ เป็น ฐ

ปฐม (บาลี-อังกฤษ)

(คุณ.) [เวท. ปฺรถม, เทียบ Av. fratama; เวท. ปฺรตรํ ต่อไปข้างหน้า, Gr. การสร้างรูป คุณ. ชั้นอติวิเสส จาก บุรพบท *pro, สัน. ปฺร ฯลฯ ดู ป- Ved. prathama, cp. Av. fratəma; also Ved. prataraŋ further, Gr. pro/teros superl. formation fr. prep. *pro, Sk. pra etc. see pa-]

ปูรณ. “ที่หนึ่ง”, ในความหมายดังต่อไปนี้ num. ord. “the first,” in foll. meanings:

– (1) ที่หนึ่ง, ขึ้นหน้าที่สุด, ก่อน the first, foremost, formerสุตฺ.นิ.93,436,1031; ชา.2/110; ขุ.อ.1/192; ธ.อ.3/5,196 (-วย, แตกต่างกันกับ มชฺฌิม และ ปจฺฉิม -vaya, contrasted with majjhima & pacchima); เปต.อ.5,13,56.

นปุ. กรรม.กา. ปฐม- ชั้นต้น, เป็นครั้งแรก nt. acc. paṭhamaŋ at first, for the first time วิ.1/16; ที.2/14; ธ.158; ชา.1/222; 2/103,153; มีบ่อยในฐานเป็นส่วนแรกของสมาส –, หมายถึง “ครั้งแรก” หรือ “เร็ว ๆนี้, ใหม่ ๆ, เพิ่ง” often as first part of cpd. ˚ — , meaning either “first” or “recently, newly, just”  วิ.1/1 (-อาภิสมฺพุทฺธ เพิ่งบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า -âbhisambuddha having just attained Buddhaship); ที.3/253 (-อาภินิพฺพตฺต -âbhinibbatta), สุตฺ.นิ.420 (-อุปฺปตฺติก “ในความเป็นหนุ่มครั้งแรกของเขา” -uppattika “in his first youth”); ชา.3/394 (-อุคฺคต เกิดขึ้นใหม่ ๆ -uggata newly sprung up).

– การสร้างรูปคุณ. ชั้นวิเสส ขั้นที่สอง คือ ปฐมตร, เฉพาะที่เป็น ก.วิ. -ตรํ โดยเร็วที่สุด, ก่อนอื่นทั้งหมด, เร็วเท่าที่เป็นไปได้ A second compar. formation is paṭhamatara, only as adv. ˚ŋ at the (very) first, as early as possible, first of all วิ.1/30; ชา.6/510; ธ.อ.1/138; วิมาน.อ.230; เปต.อ.93.

ปจฺฉิม (บาลี-อังกฤษ)

หลังที่สุด, อยู่ข้างหลัง, หลัง, สุดท้าย (ตรงข้าม ปุริม), รั้งท้าย

ทางตะวันตก (ตรงข้าม ปุริม หรือ ปุรตฺถิม)

ต่ำที่สุด, เลวที่สุด (ในแง่คุณภาพ)

นิทฺเทส ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

การชี้แจ้ง, การแสดงออก, การจำแนกออกพรรณนา, การแนะนำ.

นิทฺเทส (จาก นิทฺทิสติ) (บาลี-อังกฤษ)

แสดงให้เห็นความแตกต่าง, ชี้แจง, อธิบาย, ระบุ, กำหนด, แสดงออก, หมายถึง

ปฐม (ประมวลศัพท์)

ที่หนึ่ง, ทีแรก, เบื้องต้น

นิทเทส (ประมวลศัพท์)

คำแสดง, คำจำแนกอธิบาย, คำไขความ (พจนานุกรม เขียน นิเทศ)

นิเทศ

  (แบบ) น. คําแสดง, คําจําแนกออก.ก. ชี้แจง, แสดง, จําแนก. (ป. นิทฺเทส; ส. นิรฺเทศ).

ปฐมนิเทศ

  [ปะถมมะ-, ปะถม-] น. การแนะนําชี้แนวเพื่อการศึกษาและการทํางานในเบื้องต้น.

ปัจฉิม, ปัจฉิม-

  [ปัดฉิม, ปัดฉิมมะ-] ว. ตะวันตก; ภายหลัง, ทีหลัง, ข้างหลังสุด. (ป. ปจฺฉิม).

ปัจฉิมโอวาท (ประมวลศัพท์)

คำสอนครั้งสุดท้าย หมายถึง ปัจฉิมวาจา คือ พระดำรัสสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพานว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย