อุปเท่ห์เล่ห์กล (บาลีวันละคำ 183)
อุปเท่ห์เล่ห์กล
(คำไทยที่มีนัยแห่งบาลี)
“อุปเทห์” เช่นในคำว่า “เรียนคาถาแล้วต้องเรียนอุปเทห์ด้วย” หมายถึงเรียนวิธีใช้คาถานั้นด้วยเพื่อให้ขลังหรือได้ผลชะงัด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า
– อุปเท่ห์ (อุปะเท่, อุบปะเท่) (คำนาม) = อุบายดําเนินการ, วิธีดําเนินการ. (สันสกฤต อุปเทศ, บาลี อุปเทส)
– เล่ห์ (คำนาม) = กลอุบายหรือเงื่อนงําอันอาจทําให้คนอื่นหลงผิด เข้าใจผิด (ไม่บอกว่าเป็นภาษาอะไร)
– เล่ห์กล (คำนาม) = การลวงหรือล่อลวงให้หลงผิดหรือเพื่อให้เข้าใจผิด (ไม่บอกว่าเป็นภาษาอะไร)
อุปเท่ห์ เล่ห์ กล ตามความหมายข้างต้น ไม่มีในภาษาบาลี
“อุปเท่ห์” เข้าใจกันว่าเลือนมาจากบาลีว่า “อุปเทส” (อุ-ปะ-เท-สะ อ่านแบบไทยว่า อุ-ปะ-เทด) = คำแนะนำ, คำสั่งสอน, การชี้แจง, การบ่งชี้
พจน.สันสกฤตให้ความหมายคำว่า “อุปเทศ” ว่า คำแนะนำ, คำบอกหรือชี้แจง, คำสั่ง, คำสั่งสอน, มายา, การเริ่มแนะนำสั่งสอน, การบอกมนตร์หรือสูตรเบื้องต้น
คำว่า “เท่ห์” เป็นเสียงโทเท่ากับ “เทส” ส กลายเป็น ห การันต์ในภาษาไทย เหมือนคำว่า “เลส” ในบาลี ถ้า ส กลายเป็น ห การันต์ ก็ตรงกับ “เล่ห์”
“เลส” ในบาลี = การลวง, ข้ออ้างแก้ตัว, กลอุบาย, การแสร้งทำ
“เล่ห์” ในภาษาไทย = กลอุบายหรือเงื่อนงําอันอาจทําให้คนอื่นหลงผิด เข้าใจผิด
ส่วน “กล” (กะ-ละ อ่านแบบไทยว่า กน) ในสันสกฤตมีความหมายหลายอย่าง ความหมายหนึ่งว่า มายา, ความโกง (fraud, deceit) ซึ่งตรงกับความหมายในภาษาไทยว่า “กล” คือ การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ
“อุปเทส” เป็น อุปเท่ห์ “เลส” เป็น เล่ห์ มีนัยที่สอดคล้องกัน
แต่อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อว่าจริงตามนี้
: คนนามสกุลเหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นญาติอะไรกันเลย ก็มี
บาลีวันละคำ (183)
7-11-55
อุปเทส ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
คำแนะนำ, คำสั่งสอน, การชี้แจง, การแนะนำ.
อุปเทส (บาลี-อังกฤษ)
การชี้แจง, การบ่งชี้, การสั่งสอน
อุปเทศ (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)
คำแนะนำ, คำบอกหรือชี้แจง, คำสั่ง, คำสั่งสอน, มายา, การเริ่มแนะนำสั่งสอน, การบอกมนตร์หรือสูตรเบื้องต้น
อุปเทห (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)
น้ำมันหอม, อนุกาย, ร่างรอง, องค์น้อย
เทห = องค์, ร่าง, กาย
เทห ป., นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
กาย, ร่างกาย.
อุปเท่ห์
[อุปะเท่, อุบปะเท่] น. อุบายดําเนินการ, วิธีดําเนินการ. (ส. อุปเทศ; ป. อุปเทส).
เลส ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ของเล็ก ๆ น้อย ๆ; ข้ออ้าง, เลศนัย, เล่ห์เหลี่ยม.
เลส ค.
น้อย
เลศ (ประมวลศัพท์)
1. อาการ ลักษณะ หรือข้อเทียบเคียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่พอจะยกขึ้นอ้าง เพื่อผูกเรื่องใส่ความ
2. ในภาษาไทย โดยทั่วไป หมายถึงอาการที่แสดงอย่างมีความหมายซ่อนเร้นให้รู้กันในที มักใช้ควบคู่กับ “นัย” ว่า เลศนัย
เลส (บาลี-อังกฤษ)
การลวง, ข้ออ้างแก้ตัว, กลอุบาย, การแสร้งทำ
เลศ
[เลด] น. การแสดงอาการเป็นชั้นเชิงให้รู้ในที, มักใช้เข้าคู่กับคํา นัย เป็น เลศนัย. (ส.; ป. เลส).
เลศนัย
[เลดไน] น. การพูดหรือแสดงอาการเป็นชั้นเชิงให้รู้ในที เช่น พูดเป็นเลศนัย ขยิบตาให้รู้เป็นเลศนัยว่าให้หยุดพูด.
เลห (จาก ลิหติ) (บาลี-อังกฤษ)
เลีย, ลิ้มรส
เลห, เล่ห์
น. กลอุบายหรือเงื่อนงําอันอาจทําให้คนอื่นหลงผิด เข้าใจผิด, ใช้ว่า เล่ห์กล ก็มี.ว. คล้าย, เปรียบ, เช่น, เหมือน.
เล่ห์กระเท่ห์
น. กลอุบาย, กลมารยา, อุบายล่อลวง.
เล่ห์กล ๑
น. การลวงหรือล่อลวงให้หลงผิดหรือเพื่อให้เข้าใจผิด.
เล่ห์กล ๒, เล่ห์เหลี่ยม
น. ชั้นเชิง, อุบาย.
กล ค. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
อ่อน, ไม่ชัดเจน.
กล ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
เสียงแผ่วเบา
กล (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)
ค. อันไม่ย่อย; อันเปลี้ย; undigested or crude; weak; – ‘นีจศัพท์, ธีรนาท,’ เสียงขับร้องเบาๆ; ต้นสาลหรือสาลพฤกษ์; (คำใช้ในกวิตา) จังหวะอันเท่ากับสี่มาตร์; กามศุจิแห่งชาย; พุดซา; ส่วนย่อยของวัตถุต่างๆ; เลขาหรือเศษหนึ่งส่วนสิบหกพยาสหรือเส้นสกัดดวงจันทร์; ภาคเวลา (เท่ากับ ๑๐ กัษถะหรือประมาณ ๘ วินาฑี); นาฑีแห่งองศา; ดอกเบี้ย; อาจารวิทยาอย่างใดอย่างหนึ่ง; ฤดูประจำเดือนของสตรี; เรือ; มายา; ความโกง; a low or soft tone, humming; the Sāl tree; (in poetry) time equal to four Mātras or instants; semen virile; the jujube; a small part of anything; a digit or one sixteenth of the moon’s diameter; a division of time (equal to thirty Kashthas or about eight seconds); a minute of a degree; interest on a capital; any practical art; the menstrual discharge; a boat; fraud, deceit.
อุปเทห (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)
น. น้ำมันหอม; อนุกาย, ร่างรอง, องค์น้อย; an ointment; a secondary body, a minor body.
เทห (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)
น. องค์, ร่าง, กาย; the body.
กล, กล-
[กน, กนละ-] น. การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ เช่น เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม เช่น กลโกง; เรียกการเล่นที่ลวงตาให้เห็นเป็นจริงว่า เล่นกล; เครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์, เช่น ช่างกล.ว. เช่น, อย่าง, เหมือน, เช่น เหตุผลกลใด; เคลือบแฝง เช่น ถ้าจําเลยให้การเป็นกลความ. (กฎหมาย).