บาลีวันละคำ

อินทขีล (บาลีวันละคำ 3,258)

อินทขีล

คืออะไร

อ่านว่า อิน-ทะ-ขีน

อินทขีล” เขียนแบบบาลีเป็น “อินฺทขีล” (มีจุดใต้ นฺ) อ่านว่า อิน-ทะ-ขี-ละ แยกศัพท์เป็น อินฺท + ขีล

(๑) “อินฺท

อ่านว่า อิน-ทะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ แล้วแปลงเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ (อิทิ + ปัจจัย : อิทิ อยู่หน้า อยู่หลัง) ลบสระ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)

: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง

(2) อินฺทฺ (ธาตุ = ประกอบ) + (อะ) ปัจจัย

: อินฺทฺ + = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่

อินฺท” (ปุงลิงค์) หมายถึง จอม, เจ้า, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นใหญ่, พระอินทร์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อินฺท” ว่า –

(1) lord, chief, king (ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา)

(2) The Vedic god Indra (พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท)

อินฺท” ในบาลีเป็น “อินฺทฺร” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อินฺทฺร : (คำนาม) พระอินทร์, เจ้าสวรรค์, เทพดาประจำทิศตะวันออก; Indra, the supreme deity presiding over Svarga, the regent of the east quarter.”

อินฺท” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อินทร์” แต่ที่คงเป็น “อินท์” ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อินท์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช, พระอินทร์; ผู้เป็นใหญ่. (ป.; ส. อินฺทฺร).”

(๒) “ขีล

อ่านว่า ขี-ละ รากศัพท์มาจาก ขิลฺ (ธาตุ = แข็ง, กระด้าง; ขัดขวาง) + (อะ) ปัจจัย, ทีฆะ อิ ที่ ขิ-(ลฺ) เป็น อี (ขิลฺ > ขีล)

: ขิลฺ + = ขิล > ขีล (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่แข็ง” (2) “สิ่งที่ขัดขวางการเดินของผู้คน” หมายถึง ไม้หลัก, เสา, สลักประตู, หมุด (a stake, post, bolt, peg)

อินฺท + ขีล = อินฺทขีล แปลว่า “สิ่งที่ขัดขวางการเดินทางของพระอินทร์” หมายถึง (1) เสาเขื่อน, หลักเมือง, เสาอินทขีล (2) ธรณีประตู

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความ “อินฺทขีล” ไว้ว่า –

…………..

“Indra’s post”; the post, stake or column of Indra, at or before the city gate; also a large slab of stone let into the ground at the entrance of a house.

อินฺทขีล แปลว่า “เสาของพระอินทร์”; เสาหรือหลักหรือเสาหินของพระอินทร์ที่ประตูเมืองหรือหน้าประตูเมือง; ศิลาแผ่นใหญ่ที่ปักลงบนดินตรงทางเขาบ้าน

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อินทขีล : (คำนาม) เสาหรือหลักหน้าประตูเมือง, หลักเมือง, เสาเขื่อน. (ป.; ส. อินฺทฺร + กีล).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อินทขีล” สันสกฤตเป็น “อินฺทฺร + กีล

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อินฺทฺรกีล” บอกไว้ดังนี้ –

อินฺทฺรกีล : (คำนาม) ชื่อภูเขาในเรื่องนิยาย; name of a fabulous mountain.”

ข้อสังเกต :

คำว่า “อินฺทขีล” ในบาลี เมื่อดูตามคำอธิบายแล้ว น่าจะเป็นเสาที่ปักเรียงกันหน้าประตูเมือง ทำหน้าที่กั้นไม่ให้เดินตรงเข้าประตูเมืองได้สะดวก คล้ายกับเป็นจุดคัดกรองเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยก่อนจะให้ผ่านเข้าประตูเมือง

กับอีกนัยหนึ่ง “อินฺทขีล” หมายถึง ธรณีประตู (threshold) ซึ่งดูตามหน้าที่ก็คือเครื่องกั้นไม่ให้ผ่านประตูเข้าไปโดยผลุนผลัน แต่ให้ยั้งหรือเตรียมระวังตั้งหลักให้ดีก่อน

แต่เสาอินทขีลที่เรียกรู้กันในเมืองไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสาน มีลักษณะเป็นเสาหลักเมือง อยู่ภายในเมือง ไม่ได้อยู่หน้าประตูเมือง

แถม :

รตนสูตรอันเป็น 1 ใน 7 ตำนาน กล่าวถึง “อินฺทขีล” อยู่บทหนึ่ง ข้อความเป็นดังนี้ –

…………..

ยะถินทะขีโล  ปะฐะวิง  สิโต  สิยา

จะตุพภิ  วาเตภิ  อะสัมปะกัมปิโย

ตะถูปะมัง  สัปปุริสัง  วะทามิ

โย  อะริยะสัจจานิ  อะเวจจะ  ปัสสะติ

อิทัมปิ  สังเฆ  ระตะนัง  ปะณีตัง

เอเตนะ  สัจเจนะ  สุวัตถิ  โหตุ.

เสาเขื่อนที่ฝังลงดินแล้ว

ย่อมไม่สั่นสะเทือนด้วยลมพายุจากสี่ทิศ ฉันใด

บุคคลผู้มีปัญญาหยั่งลงเห็นอริยสัจทั้งหลาย

เราตถาคตย่อมเรียกว่าสัตบุรุษผู้ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม มีอุปไมยฉันนั้น

คุณวิเศษแม้อย่างนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์

ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี

…………..

ภาพประกอบ พึงใช้วิจารณญาณในการรับชม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าศัตรูจะจู่เข้า

เพียงแค่เสาฤๅจะกันได้

: ถ้าความเขลาเข้าบังใจ

ต้องใช้ใจแหละเข้าประจัญ

#บาลีวันละคำ (3,258)

14-5-64

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *