มูลภาษา (บาลีวันละคำ 3,259)
มูลภาษา
ภาษาอะไร
อ่านว่า มู-ละ-พา-สา
ประกอบด้วยคำว่า มูล + ภาษา
(๑) “มูล”
บาลีอ่านว่า มู-ละ รากศัพท์มาจาก มูลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่, งอกขึ้น) + อ (อะ) ปัจจัย
: มูลฺ + อ = มูล แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้ง” “ที่งอกขึ้น”
“มูล” (นปุงสกลิงค์) ในภาษาลีมีความหมายหลายหลาก ดังนี้ –
(1) รากไม้ (root)
(2) โคน, ก้น (foot, bottom)
(3) หลักฐาน, เหตุผล, สาเหตุ, เงื่อนไข (ground for, reason, cause, condition)
(4) กำเนิด, บ่อเกิด, พื้นฐาน, รากฐาน (origin, source, foundation, root)
(5) ปฐม, เริ่มแรก, ฐาน, เค้าความเดิม, เรื่องเดิม (beginning, base)
(6) แก่นสาร, มูลฐาน, ค่า, เงิน, ต้นทุน, ราคา, สินจ้าง (substance, foundation, worth, money, capital, price, remuneration)
ในที่นี้ “มูล” มีความหมายนัยแห่งข้อ (4) และข้อ (5)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มูล” ไว้ 4 คำ ที่มีความหมายตามนัยที่ประสงค์ในที่นี้คือ มูล ๑ บอกไว้ดังนี้ –
“มูล ๑, มูล– : (คำนาม) โคน เช่น รุกขมูล; ราก, รากเหง้า, เช่น มีโทสะเป็นมูล, เค้า เช่น คดีมีมูล, ต้น เช่น ชั้นมูล. (ป. มูล; ส. มูลฺย).”
(๒) “ภาษา”
บาลีเป็น “ภาสา” (-สา ส เสือ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ภาสฺ (ธาตุ = พูด) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิง์
: ภาสฺ + อ = ภาส + อา = ภาสา แปลตามศัพท์ว่า “การพูด” “วาจาอันคนพูด”
(2) ภา (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + ส ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิง์
: ภา + ส = ภาส + อา = ภาสา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ส่องสว่าง” “สิ่งที่รุ่งเรือง”
“ภาสา” ความหมายที่เข้าใจกันคือ คำพูด, ถ้อยคำ, วาจา (speech, language)
บาลี “ภาสา” สันสกฤตเป็น “ภาษา” (ษ ฤๅษี) เราเขียนตามสันสกฤตเป็น “ภาษา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ภาษา” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(1) ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาธรรม
(2) เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษามือ
(3) (คำเก่า) คนหรือชาติที่พูดภาษานั้น ๆ เช่น มอญ ลาว ทะวาย นุ่งห่มและแต่งตัวตามภาษา (พงศ. ร. ๓)
(4) (ศัพท์คอมพิวเตอร์) กลุ่มของชุดอักขระ สัญนิยม และกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์ เช่น ภาษาซี ภาษาจาวา
(5) โดยปริยายหมายความว่าสาระ, เรื่องราว, เนื้อความที่เข้าใจกัน, เช่น ตกใจจนพูดไม่เป็นภาษา เขียนไม่เป็นภาษา ทำงานไม่เป็นภาษา
มูล + ภาสา = มูลภาสา > มูลภาษา แปลว่า “ภาษาดั้งเดิม” ใช้ทับศัพท์ว่า “มูลภาษา”
ขยายความ :
“มูลภาษา” คือภาษาอะไร?
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 3 หน้า 8 ขันธนิเทศ ไขความไว้ดังนี้ –
…………..
เอวํ ตสฺสา ธมฺมนิรุตฺติสญฺญิตาย สภาวนิรุตฺติยา มาคธิกาย สพฺพสตฺตานํ มูลภาสาย ปเภทคตํ ญาณํ นิรุตฺติปฏิสมฺภิทา.
ความรู้อันถึงซึ่งความแตกฉานในมูลภาษาของสรรพสัตว์ทั้งหลายคือภาษามคธ อันเป็นสภาวนิรุตติ (ภาษาแท้) ซึ่งได้ชื่อว่าธรรมนิรุตติ (ภาษาดี) นั้น เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทา
…………..
“มาคธิกาย สพฺพสตฺตานํ มูลภาสาย” = มูลภาษาของสรรพสัตว์ทั้งหลายคือภาษามาคธี
เป็นที่เข้าใจกันในหมู่นักเรียนบาลีว่า “มูลภาษา” คือมาคธิกภาสา หรือมาคธี คือภาษามคธ
คัมภีร์สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ภาค 1 หน้า 8 บอกไว้ว่า –
…………..
แม้ทารกใดเกิดในป่าใหญ่ ไม่มีบ้าน คนอื่นที่จะพูดด้วยก็ไม่มีในที่นั้น ทารกนั้นเมื่อจะเริ่มพูดตามธรรมดาของตน ก็จักพูดภาษามาคธีนั้นแล ภาษามาคธีมีมากในที่ทั้งปวง คือ ในนรก ในกำเนิดดิรัจฉาน ในเปตติวิสัย ในมนุษยโลก ในเทวโลก
…………..
อย่างไรก็ตาม ท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก เมฆ อำไพจริต ผู้แปลคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นภาษาไทย ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ที่ว่าภาษามคธเป็นมูลภาษานั้นต้องหมายเฉพาะในชมพูทวีป ไม่ใช่ทั้งโลก” (เชิงอรรถวิสุทธิมรรคแปล ภาค 3 ตอน 1 หน้า 15)
นักเรียนบาลีพึงพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการเถิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ว่ามูลภาษาจะเป็นภาษาอะไร
: แต่ภาษาไทยคือรากเหง้าของเรา
————-
(ตามคำเสนอแนะของ ธนบดี วรุณศรี)
#บาลีวันละคำ (3,259)
15-5-64