เบื้องหลัง ป.ธ.๙ กิตติมศักดิ์
—————————-
ผมเขียนเรื่อง “ป.ธ.๙ กิตติมศักดิ์” ไปเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔
…………………………….
ป.ธ.๙ กิตติมศักดิ์
https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3959509817476059
…………………………….
มีญาติมิตรเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันมากหน้าหลายตา
ผมมีความสุขอย่างยิ่งที่ได้เห็นคนที่เป็น “เพื่อน” แสดงความซื่อตรงต่อเพื่อน อะไรที่ไม่เห็นด้วยก็บอกเพื่อนไปตรงๆ ว่าไม่เห็นด้วย และผมมีความอุ่นใจว่า ไม่ว่าเราจะไปทำอะไรมา เพื่อนชนิดนี้จะคอยเป็นหูเป็นตาให้เราเสมอ
พูดตามสำนวนที่ผมเคยพูดบ่อยๆ ก็คือ – เพื่อนจะไม่ปล่อยให้เราลืมรูดซิปกางเกงแล้วเดินเป็นนักเลงไปทั่วบ้านทั่วเมือง-อย่างแน่นอน
ขอน้อมคารวะมา ณ ที่นี้
วันหน้าวันไหนเราก็จะไม่ทิ้งกัน
…………….
อันที่จริง ในบทความเรื่องนั้น ผมเขียนไว้ชัดว่า –
……………………………
ที่พึงตระหนักก็คือ ปริญญากิตติมศักดิ์สาขาอื่นๆ บางทีอาจจะให้กันด้วยเหตุผลพิเศษบางประการ
แต่ปริญญาเปรียญธรรม ๙ ประโยคกิตติมศักดิ์ที่เสนอนี้ต้องให้กันด้วยเหตุผลทางวิชาการบริสุทธิ์
คือมีผลงานวิชาการภาษาบาลีเป็นที่ประจักษ์ …
……………………………
แต่เอาเถอะ เขียนไปแล้ว เพื่อนก็คงอ่านผ่านไปหมดแล้ว
ตอนนี้ผมอยากบอกอะไรอย่างหนึ่งว่า ผมคิดอะไรจึงเสนอแนวคิดนั้น
ขออนุญาตพูดเป็นอุปมา
……………….
คนที่เรียนหมอนั้น เป้าหมายอย่างเดียวก็คือเรียนจบแล้วออกไปเป็นหมอรักษาคนป่วย
แต่ถ้าคนที่เรียนจบหมอ ได้ชื่อว่าเป็นหมอถูกต้องตามกฎเกณฑ์ทุกอย่าง หากแต่ไม่รักษาคนป่วย จะทำอย่างไรดี
ไม่ใช่ไม่ว่าง กำลังยุ่ง
ไม่ยุงอะไรเลย กำลังว่างอย่างยิ่ง
สามารถรักษาได้เป็นอย่างดี เพราะเรียนมาทางนั้นอยู่แล้ว
เครื่องมือ ลูกมือ หยูกยามีพร้อมทุกอย่าง
แต่ฉันอยากจะนั่งเป็นหมอเฉยๆ อย่างเดียว ใครจะทำไม
ทีนี้ อีกคนหนึ่ง ไม่ได้จบหมอ แต่มีความสามารถรักษาคนป่วยได้จริง รักษาแล้วคนป่วยหายป่วยได้จริง ทั้งกำลังรักษาคนป่วยอยู่อย่างเต็มมือ ไม่มีเวลาว่างเลย ช่วยชีวิตคนมาเยอะ
แต่ไม่มีใครยอมรับว่าเขาเป็นหมอ คุณสมบัติข้อเดียวที่เขาขาดไปก็คือ ไม่ได้เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยหมอ
ความประสงค์ของผมก็มีเพียงแค่ว่า
๑ ทำอย่างไรคนที่เรียนหมอจบแล้วจึงจะลงมือรักษาคนป่วย ไม่ใช่นั่งให้ใครนับถือว่า “เป็นหมอ” อยู่เฉยๆ อย่างทุกวันนี้
๒ คนที่ไม่ได้จบหมอ แต่มีความสามารถรักษาคนป่วยได้จริง รักษาแล้วคนป่วยหายป่วยได้จริง ทั้งกำลังรักษาคนป่วยอยู่อย่างเต็มมือ ไม่มีเวลาว่างเลย ช่วยชีวิตคนมาเยอะ – ทำอย่างไรสังคมจึงจะยอมรับคนชนิดนี้ว่าเขาก็ “เป็นหมอ” คนหนึ่งเท่าๆ กับคนที่เรียนจบหมอ
……………….
ผมนึกถึงข้อความที่เคยผ่านตา-ที่ว่า คนเราจะ “เป็นอะไร” ก็เพราะเขา “ทำอะไร” คือสิ่งที่เขาทำนั่นเองเป็นเครื่องตัดสินว่าเขาเป็น
ในวาเสฏฐสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๗๐๗ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า –
……………………
โย หิ โกจิ มนุสฺเสสุ
โครกฺขํ อุปชีวติ
เอวํ วาเสฏฺฐ ชานาหิ
กสฺสโก โส น พฺราหฺมโณ.
ดูก่อนวาเสฏฐะ ก็ในหมู่มนุษย์
ผู้ใดอาศัยการทำนาเลี้ยงชีวิต
ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเป็นชาวนา ไม่ใช่พราหมณ์
……………………
แล้วก็ตรัสต่อไปอีกหลายอาชีพ ได้หลักว่า คนเราจะเป็นอะไร ก็ดูกันที่ว่าเขาทำงานอะไรหรือทำหน้าที่อะไร
ถ้าจะกล่าวคล้อยตามพุทธภาษิตก็กล่าวได้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดรักษาคนป่วยให้หายโรค ท่านจงรู้อย่างนี้ว่าผู้นั้นเป็นหมอ
ส่วนผู้ที่เรียนจบหมอ แต่ไม่ทำงานรักษาคนป่วย ท่านจงรู้อย่างนี้ว่าผู้นั้นไม่ใช่หมอ
ถ้าคนที่เรียนจบหมอทำหน้าที่รักษาคนป่วย และคนที่ทำหน้าที่รักษาคนป่วยได้รับการยอมรับว่าเป็นหมอ เรื่องก็จบตามข้อเท็จจริง และจบตามหลักในพระพุทธศาสนา
……………………
เผื่อใครอ่านอุปมาแล้วยังตีความไม่ได้ ขอบอกตรงๆ เลยครับ
ผู้เรียนจบหมอ = ผู้เรียนบาลีจบประโยค ๙
ผู้รักษาคนป่วยได้จริง แต่ไม่ได้เรียนจบหมอ = ผู้มีความรู้สามารถทำงานใช้ภาษาบาลีได้จริง แต่ไม่ได้จบประโยค ๙
เรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้และเราต้องไม่ลืมก็คือ ทุกวันนี้ไม่มีมนุษย์ชาติไหนพูดภาษาบาลี เราจึงไม่ได้เรียนบาลีเพื่อที่จะเป็นล่ามให้ใคร
ไม่มีตำราเทคนิคอะไรที่ชาติบ้านเมืองเราจำเป็นต้องใช้ แต่เขียนไว้เป็นภาษาบาลี เราจึงไม่ได้เรียนบาลีเพื่อที่จะไปศึกษาวิชาการนั้นเอามาพัฒนาบ้านเมือง
แหล่งที่ใช้ภาษาบาลีในโลกนี้มีที่เดียวเท่านั้น คือพระไตรปิฎก
ถ้าเราเรียนบาลี จบบาลี แล้วไม่เอาภาษาบาลีไปใช้ศึกษาพระไตรปิฎก ถามว่ามันจะต่างไปจากคนเรียนหมอ จบหมอ แต่ไม่รักษาคนป่วย ตรงไหน?
เรามักแก้แทนกันว่า เรียนบาลี จบบาลีแล้วท่านก็ไปเป็นพระสังฆาธิการ เป็นเจ้าคณะระดับต่างๆ เป็นผู้บริหารการศึกษา ไปทำประโยชน์ให้พระศาสนาในด้านต่างๆ มากมาย รวมทั้งไปเป็นผู้ผลิตผู้จบประโยค ๙ ออกมา (และไปไม่ถึงพระไตรปิฎกเหมือนเดิม) อีกก็มากมาย ไม่ได้อยู่นิ่งเฉยเลย
มันจะต่างอะไรกับบอกว่า-คนเรียนจบหมอแล้ว เขาก็ไปเป็นนักปกครอง เป็นเกษตรกร เป็นวิศวกร เป็นอาจารย์ ไปทำงานด้านต่างๆ มากมาย ไม่ได้อยู่นิ่งเฉยเลย
ถ้าผู้เรียนบาลีจบประโยค ๙ ชวนกันทำงานบาลีไปถึงพระไตรปิฎกกันทั่วไปหมดทุกหนทุกแห่ง ไม่มีใครนิ่งเฉย เราก็จะมีคนมากมายเหลือเฟือที่สมควรยกย่องว่า-สมกับที่เรียนบาลีจบประโยค ๙ และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่จำเป็นอะไรเลยที่จะต้องไปคิดอ่านยกย่องคนที่ไม่จบประโยค ๙ แม้จะทำงานบาลีได้จริง-ให้ผิดฝาผิดตัว
ถ้าท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งสามารถทำให้ผู้จบประโยค ๙ พากันลุกขึ้นมาขะมักเขม้นใช้ความรู้บาลีศึกษาและเผยแผ่พระไตรปิฎกกันทั่วไปจนเป็นค่านิยมอย่างสูงของคนเรียนบาลีในเมืองไทย เดินเข้าไปในวัดไหนที่มีพระจบประโยค ๙ ก็เห็นท่านทำงานบาลีศึกษาและเผยแผ่พระไตรปิฎกกันทั่วไป —
ถ้าท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งสามารถทำได้ดังว่านี้ จะให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบเท้า ผมก็ยินดีทำ
แล้วถ้าทำได้จริงอย่างนั้น แนวคิดเรื่อง ป.ธ.๙ กิตติมศักดิ์-กิตติมะเส็งเคร็- อะไรนั่น ก็โละทิ้งลงถังขยะไปได้เลย
ก็ในเมื่อเรามีคนจบประโยค ๙ จริง ทำงานบาลีจริง ใช้ความรู้บาลีศึกษาและเผยแผ่พระไตรปิฎกกันทั่วไปจริงๆ อยู่เหลือเฟือแล้ว จะต้องไปห่วงอะไรกับคนที่ไม่ได้จบประโยค ๙ จริงละขอรับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔
๑๖:๐๖