บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ธัมมวิตก

คนส่วนมากไม่ได้เตรียมฝึกใจให้พร้อมยอมรับความจริง

และ-ไม่อยากให้ใครมาติติงการกระทำของตน

คำว่า “ธัมมวิตก” ไม่ได้แปลว่าเป็นห่วงธรรมนะครับ “วิตก” หรือ “วิตกฺก” ในภาษาบาลีแปลว่า ความตรึกนึกคิด (reflection, thought, thinking) แต่ในภาษาไทยเราเข้าใจกันว่า “วิตก” คือห่วงใยหรือกังวล (worry) 

คำว่า “ธัมมวิตก” ที่เราน่าจะพอคุ้นอยู่บ้างน่าจะเป็นนามฉายาของพระเถระรูปหนึ่ง คือ พระธัมมวิตักโกภิกขุ หรือพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต ที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “เจ้าคุณนอ” ฉายาของท่านแปลว่า “พระผู้ตรองตรึกนึกถึงธรรม” ไม่ได้แปลว่าพระผู้เป็นห่วงกังวลถึงธรรม

การนึกถึงธรรมก็คือนึกถึงความเป็นจริง และ “ธัมมวิตก” คือการนึกถึงความจริงนั้นก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกโอกาส และไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องหรือโยงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ เห็นเรื่องนี้ แต่นึกไปถึงเรื่องโน้นก็ได้ แต่อาจมองให้เป็นเหตุเป็นผลกันได้ เช่น เพราะเห็นเรื่องนี้จึงเป็นปัจจัยให้นึกถึงเรื่องนั้น

เมื่อคืน (คือรุ่งขึ้นเป็นวันนี้ – ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔) แถวบ้านผมลมแรงมาก ตื่นเช้ามาเห็นใบไม้เต็มลานบ้าน ปกติผมตื่นเช้าก็ออกไปเดินออกกำลัง แต่เช้านี้ต้องเก็บกวาดใบไม้ก่อน พอสะอาดตาดีแล้วจึงได้ออกไป

ขณะกวาดใบไม้ผมก็เกิด “ธัมมวิตก” ๒ ข้อดังที่จั่วหัวไว้ข้างต้น ไม่เกี่ยวกับเมื่อคืนลมแรง ไม่เกี่ยวกับใบไม้เต็มลานบ้านใดๆ ทั้งสิ้น

อันที่จริง ขึ้นต้นมาผมเขียนเรื่องที่คิดนั้นเลย ไม่ต้องอารัมภบทไปถึงเรื่อง “ธัมมวิตก” ให้เสียเวลาก็ได้ แต่ก็อยากให้ญาติมิตรที่อ่านได้รู้ภูมิหลังของเรื่องไปด้วย-เหมือนนั่งคุยกัน

………………..

เรื่องที่หนึ่ง – คนส่วนมากไม่ได้เตรียมฝึกใจให้พร้อมยอมรับความจริง

“ความจริง” ในที่นี้คือความจริงของชีวิต ที่เป็นหลักเป็นประธานก็คือกฎไตรลักษณ์

(๑) ทุกอย่างไม่ยั่งยืน

(๒) ทุกอย่างคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้

(๓) ทุกอย่างไม่มีตัวแท้ มีแต่ส่วนประสม สิ่งที่เราเห็นถ้าแยกส่วนประสมออก ตัวจริงของสิ่งนั้นก็ไม่มี

พูดอย่างนี้พอเข้าใจง่ายหน่อย

แต่ถ้าพูดว่า-อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ชักมึน บางที-และอาจเป็นส่วนมากด้วย-ก็เข้าใจความหมายผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความหมายจริงๆ ของหลักธรรมะ

ที่ว่า-คนส่วนมากไม่ได้เตรียมฝึกใจให้พร้อมยอมรับความจริง สมควรขยายความนิดหน่อย เพราะคำว่า “ยอมรับความจริง” มีหลายชั้น

ชั้นตื้นที่สุด 

คือการรับรู้ความจริง ทำไม่ยาก แค่ฟังหรืออ่านก็รู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พูดได้ จำได้ รู้ได้ว่านี่คือไตรลักษณ์ อธิบายได้ ทำข้อสอบได้ สอบผ่าน 

ชั้นลึกลงไปหน่อย 

คือขั้นการยอมรับความจริง คนส่วนมากได้แต่รับรู้ แต่มักไม่ยอมรับว่าชีวิตเป็นเช่นนั้นจริง บางคนอาจมีเหตุผลโต้แย้งเอาด้วยซ้ำ และส่วนมากยอมรับแต่ปาก แต่ลึกๆ แล้วยังรับไม่ได้

ชั้นลึกสุด 

คือการยอมรับความจริงได้จริงๆ รับรู้ด้วย ยอมรับด้วย ทำได้จริงๆ ด้วย ขั้นนี้ใครทำได้ถือว่าสุดยอด 

………………..

อาจารย์นักแสดงธรรมท่านหนึ่ง-ถ้าเอ่ยชื่อจะเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในหมู่นักเทศน์นักธรรมรุ่นเก่า สำนวนแต่งพระธรรมเทศนาของท่านหยดย้อยยอดเยี่ยม คัมภีร์เทศน์ที่ท่านแต่งวัดต่างๆ ใช้เทศน์กันทั่วประเทศ เฉพาะกัณฑ์ว่าด้วยไตรลักษณ์พรรณนาลึกซึ้งดีนักหนา

เล่ากันว่า-พอเมียท่านตาย ท่านร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร 

………………..

การยอมรับความจริงในระดับทำได้จริงนี้ น่าจะประมวลลงในพุทธภาษิตบทนี้ –

…………………………………….

สุเขน ผุฏฺฐา อถวา ทุกฺเขน

น อุจฺจาวจํ ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺติ.

ถูกสุขหรือทุกข์กระทบ

บัณฑิตไม่แสดงอาการขึ้นๆ ลงๆ

ที่มา:

ปัณฑิตวรรค ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๖

ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ (ปญฺจสตภิกฺขุวตฺถุ) 

…………………………………….

อาการขึ้นๆ ลงๆ หรือคำบาลีว่า อุจฺจาวจํ ก็คือ มีสุขก็ฟู มีทุกข์ก็แฟบ วาดเป็นภาพก็คือเดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวก็ร้องไห้ เหมือนคนบ้า 

แต่ถ้าเข้าถึงขั้นทำใจได้จริง สุขทุกข์มากระทบก็ไม่กระเทือน มีสติรู้เท่าทัน และมีปัญญารู้ว่าควรปฏิบัติจัดการกับกรณีนั้นๆ อย่างไร

………………..

เรื่องที่สอง -คนส่วนมากไม่อยากให้ใครมาติติงการกระทำของตน

ข้อนี้เกี่ยวไปถึงการจับผิด-ชี้โทษ ซึ่งผมเคยเขียนไว้แล้วหลายครั้ง

จับผิด-คือเขาปกปิดไม่ต้องการให้ใครรู้ แต่ชอบไปขุดคุ้ยเอามาเปิดเผย 

ท่านว่าอย่าทำ

ชี้โทษ-คือเขาทำเห็นๆ แต่มีประเด็นบกพร่อง จึงต้องบอกให้เขารู้เพื่อแก้ไข 

ท่านว่าควรทำ และพึงทำด้วยไมตรีจิต

การชี้โทษนี้ท่านสอนว่า พึงเห็นผู้ชี้โทษเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ สมดังพุทธภาษิตว่า – 

…………………………………….

นิธีนํว  ปวตฺตารํ

ยํ  ปสฺเส  วชฺชทสฺสินํ

นิคฺคยฺหวาทึ  เมธาวึ

ตาทิสํ  ปณฺฑิตํ  ภเช

ตาทิสํ  ภชมานสฺส

เสยฺโย  โหติ  น  ปาปิโย.

พึงเห็นผู้มักชี้โทษเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ 

พึงคบหาท่านผู้กล่าวข่มขี่ มีปัญญา 

เป็นบัณฑิตเช่นนั้นเถิด 

เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น 

ย่อมมีแต่คุณอันประเสริฐ 

หามีโทษที่เลวทรามไม่

ที่มา: 

ปัณฑิตวรรค ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๖

ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ (ราธตฺเถรวตฺถุ) 

…………………………………….

คนส่วนมากมองไม่เห็นเป็นไม่ได้ แต่มักมองการชี้โทษเป็นการจับผิด ใครทักท้วงติงเตือนอย่างไรมองเป็นการจับผิดหมด สติปัญญาที่จะคิดปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องจึงไม่เกิด

เวลานี้เกิดเป็นค่านิยมอย่างหนึ่ง คือเห็นใครทำอะไรผิดพลาด ก็ไม่ทักท้วง ใครไปทักท้วงเข้าถือว่าเสียมารยาท

คนทำผิดก็ไม่รู้ว่าตัวทำอะไรผิด มิหนำซ้ำมักอ้างว่า-ถ้าผิดก็ต้องมีใครทักท้วงแล้วสิ นี่ไม่เห็นมีใครว่าอะไร เรื่องที่ผิดก็ถูกปล่อยให้ผิดอยู่อย่างนั้น นานเข้ามากเข้าก็กลายเป็นข้ออ้างให้คนอื่นๆ เอาไปทำผิดต่อไปอีก

เราควรกล้าที่จะช่วยกันสร้างค่านิยมใหม่ นั่นคือ เห็นใครทำอะไรผิด อย่านิ่งดูดาย แต่จงช่วยกันทักท้วงติงเตือน-ด้วยความสุภาพ ด้วยน้ำใจไมตรี หวังดีหวังเจริญต่อกัน

ฝ่ายผู้ถูกทักท้วงติงเตือนก็ขอให้มีใจกว้าง ทำความรู้สึกว่า นั่นคือเพื่อนรักผู้หวังดีชี้บอกขุมทรัพย์ให้เรา

คนส่วนมากทำใจยาก ที่ยากเพราะไม่พยายามทำ ทั้งนี้เพราะท่านว่า –

…………………………………….

สุทสฺสํ วชฺชมญฺเญสํ

อตฺตโน ปน ทุทฺทสํ

ปเรสํ หิ โส วชฺชานิ

โอปุนาติ ยถา ภุสํ

อตฺตโน ปน ฉาเทติ

กลึว กิตวา สโฐ.

โทษคนอื่นเห็นได้ง่าย

โทษตนเห็นได้ยาก

คนเรามักเปิดเผยโทษคนอื่น

เหมือนโปรยแกลบ

แต่ปิดบังโทษของตน

เหมือนนักเลงเต๋าโกงซ่อนลูกเต๋า

ที่มา:

มลวรรค ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๘

ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๗ (เมณฺฑกเสฏฺฐิวตฺถุ) 

คำแปล: พุทธวจนะในธรรมบท สำนวนอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก

…………………………………….

คิดดูเถิด เรามีแค่สองตา สองหู สองมือ ซึ่งมีข้อจำกัดอย่างยิ่ง 

ถ้าเราใจกว้างเปิดใจยอมรับคำทักท้วง —

เราจะมีตามาช่วยดูอีกเป็นสิบเป็นร้อยคู่

เราจะมีหูมาช่วยฟังอีกเป็นพันเป็นหมื่น

เราจะมีมีมือยื่นเข้ามาช่วยทำอีกเป็นแสนเป็นล้าน

ความบกพร่องของคนหนึ่งจะถูกแก้ไขด้วยความสมบูรณ์ของอีกหลายๆ คน การกระทำ คำพูด และความคิดที่ช่วยกันปรับแต่งแก้ไขด้วยเจตนาดีก็จะมีข้อบกพร่องน้อยที่สุดหรือแทบไม่มีเลย ประโยชน์ก็จะตกอยู่แก่ส่วนรวมซึ่งก็หมายถึงเราทุกคนนั่นเอง

………………..

การไม่ได้เตรียมใจไว้ยอมรับความจริงและการไม่ชอบให้ใครมาติติงการกระทำของตน ทั้ง ๒ ประการนี้ เราแต่ละคนสามารถปรับแก้ได้ ด้วยการลงมือฝึก ฝึกทำความเห็นให้ตรงกับความเป็นจริง ดังหลักที่ว่า –

………………..

ยถาภูตํ ปชานาติ 

กำหนดรู้ตามความเป็นจริง

………………..

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึกจึงจะประเสริฐ ถ้าไม่ฝึกก็จะไม่มีอะไรดีไปกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ แต่ถ้าฝึกจนถึงระดับก็จะประเสริฐที่สุด ดังพุทธภาษิตว่า –

………………..

ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ 

ในหมู่มนุษย์ ผู้ฝึกตนได้แล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด

………………..

เมื่อฝึกตนจนถึงระดับ ก็จะสามารถทำใจยอมรับความจริงได้จริงๆ ไม่ใช่ทำได้เพียงขั้นรับรู้ แต่สามารถทำทะลุไปถึงขั้นปรับแก้ข้อบกพร่องได้จริงๆ มีนัยดังแสดงมา ด้วยประการฉะนี้

………………..

วันนี้ตั้งใจเขียนให้เหมือนเรียงความแก้กระทู้ธรรม ยกสุภาษิตเป็นกระทู้สวมแพรวพราวไปหมด 

สมัยเรียนนักธรรมชั้นเอกสำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี กระทู้สำนวนของสามเณรทองย้อยเคยได้รับรางวัลชนะเลิศสนามวัดนะครับ จะบอกให้ (คุย!!)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๖:๑๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *