บาลีวันละคำ

ยาวกาลิก (บาลีวันละคำ 3,266)

ยาวกาลิก

ไม่ใช่กาลิก “ยาว” อย่างที่เห็น

อ่านว่า ยา-วะ-กา-ลิก

ยาวกาลิก” บาลีอ่านว่า ยา-วะ-กา-ลิ-กะ

ประกอบด้วยคำว่า ยาว + กาลิก

(๑) “ยาว

บาลีอ่านว่า ยา-วะ เป็นคำจำพวก “นิบาต” ประเภทนิบาตบอกปริจเฉท คือบอกกำหนดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นักเรียนบาลีแปลกันว่า “เพียงใด

ยาว” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) จนถึง (จุดหนึ่ง), ไกลถึง, ไกลเพียงไร, ไกลจนกระทั่ง (up to [a point], as far as, how far, so far that)

(2) อย่างไร, เท่าไร, ขนาดไหน หรือขนาดใด, มากเท่าไร (how, how much, to which or what extent, as great or as much as)

(3) ตราบเท่าที่, ในขณะที่, จนกระทั่ง (so long as, whilst, until)

(๒) “กาลิก

บาลีอ่านว่า กา-ลิ-กะ รูปคำเดิมมาจาก กาล + อิก ปัจจัย

(ก) “กาล” บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (กลฺ > กาล)

: กลฺ + = กลณ > กล > กาล (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน

กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :

1 เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)

2 เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)

(ข) กาล + อิก = กาลิก (กา-ลิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยกาล” (คือขึ้นอยู่กับเวลา) หมายถึง เป็นของเวลา, ประกอบด้วยกาล, ทันเวลา, ชั่วกาล (belonging to time, in time)

ยาว + กาลิก = ยาวกาลิก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กำหนดไว้จนถึงเวลา” (สิ่งนั้นกำหนดเวลาไว้เท่าไร พอถึงเวลาหรือพอครบตามกำหนดเวลาก็เป็นอันหมดอายุ) หมายถึง “ชั่วกาลหรือชั่วโอกาส”, บางครั้งบางคราว, ชั่วคราว (“as far as the time or occasion goes,” occasional, temporary)

กำหนดเวลา” ในคำว่า “ยาวกาลิก” นี้ คือเช้าถึงเที่ยงวัน หรือที่ชาววัดนิยมพูดว่า “เช้าชั่วเที่ยง

ยาวกาลิก” เป็นศัพท์ทางวิชาการ หรือคำวัด แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ยังอุตส่าห์เก็บไว้ บอกไว้ดังนี้ –

ยาวกาลิก : (คำนาม) ของที่พระสงฆ์เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ได้แก่ ข้าวปลาอาหาร. (ดู กาลิก). (ป.).”

ตามไปดูที่คำว่า “กาลิก” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

กาลิก : (คำนาม) ของที่พระสงฆ์เก็บไว้ฉันได้ตามเวลาที่กําหนดให้ มี ๓ อย่าง คือ ๑. ยาวกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ได้แก่ข้าวปลาอาหาร ๒. ยามกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ได้แก่นํ้าอัฐบาน ๓. สัตตาหกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียง ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “กาลิก” อธิบายขยายความไว้ดังนี้ –

กาลิก : เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ

๒. ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต

๓. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่เภสัชทั้งห้า

๔. ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น (ความจริง ยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน).”

หมายเหตุ:

บาลีวันละคำแสดงความหมายของศัพท์ให้เข้าใจเป็นพื้นฐานเท่านั้น รายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับ “ยาวกาลิก” พึงศึกษาตามหลักพระธรรมวินัยต่อไป

ดูประกอบ:

ยามกาลิก” บาลีวันละคำ (1,891) 13-8-60

สามปักกะ” บาลีวันละคำ (2,474) 22-3-62

อันโตวุตถะ” บาลีวันละคำ (2,475) 23-3-62

อันโตปักกะ” บาลีวันละคำ (2,476) 24-3-62

อุคคหิตก์” บาลีวันละคำ (3,265) 21-5-64

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อาหารพระมีอายุเช้าชั่วเที่ยงวัน

: ถ้ามีสิทธิ์กินอาหารทิพย์เมืองสวรรค์ ท่านอยากมีอายุเท่าไร

#บาลีวันละคำ (3,266)

22-5-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *