กฎกรรมกับกฎหมาย
กฎไหนใหญ่กว่ากัน
มีพุทธภาษิตที่นิยมยกไปอ้างกันอยู่เสมอว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม (นิพเพธิกสูตร ฉักนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๓๓๔)
หมายความว่า ตั้งจิตเจตนาอย่างไร กรรมก็สำเร็จเป็นอย่างนั้น คือกรรมสำเร็จตามเจตนา หรือเจตนาเป็นตัวตัดสินว่ากรรมนั้นสำเร็จเป็นกรรมแล้ว
กล่าวโดยนัยตรงกันข้าม ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่สำเร็จเป็นกรรม
มีคำถามชวนคิดว่า กฎกรรมกับกฎหมาย กฎไหนใหญ่กว่ากัน?
มีเรื่องตัวอย่างมาประกอบ ๒ เรื่อง
……………………..
เรื่องแรก: สตรีใจบุญคนหนึ่งมีศรัทธาถวายที่ดินให้วัด ทางวัดประชุมสงฆ์ มีญาติโยมชาวบ้านมาร่วมเป็นพยาน สตรีใจบุญเอาโฉนดที่ดินแปลงนั้นใส่พานถวายประธานสงฆ์ พระสงฆ์ทั้งนั้นเจริญชัยมงคลคาถาแล้วอนุโมทนา เป็นที่ชื่นชมยินดีโดยทั่วกัน
กรรมคือเจตนาสำเร็จแล้ว ใช่หรือไม่
ที่ดินแปลงนั้นตกเป็นของสงฆ์คือของวัดเรียบร้อยแล้วตามเจตนาอันเป็นตัวกรรม ใช่หรือไม่
ต่อมาสตรีผู้นั้นสิ้นชีวิตลง ลูกสาวเป็นผู้รับมรดกตามกฎหมาย มรดกก็รวมทั้งที่ดินแปลงที่ถวายวัดนั้นด้วย ทั้งนี้เพราะถวายโฉนดให้วัดก็จริง แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้วัดตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นตามกฎหมายที่นั้นแปลงนั้นยังคงเป็นของสตรีผู้เป็นแม่ เมื่อแม่ตาย มรดกตกแก่ลูกสาว ที่ดินแปลงนั้นก็จึงเป็นมรดกตกแก่ลูกสาว
ลูกสาวมาขอยืมโฉนดที่ดินแปลงนั้นจากวัดอ้างว่าจะขอเอาไปตรวจสอบอะไรบางอย่าง พระที่เก็บรักษาโฉนดก็ให้ไป ได้โฉนดไปแล้วก็ไม่คืนให้วัด ในที่สุดเกิดการฟ้องร้องอ้างสิทธิ์กัน
ศาลตัดสินว่า ที่ดินยังเป็นของสตรีผู้เป็นแม่เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนโอน พิพากษาให้ที่ดินตกเป็นของลูกสาวในฐานะผู้รับมรดก
สู้กัน ๓ ศาล ปรากฏว่าวัดแพ้ทั้ง ๓ ศาล
……………………..
ตามกฎกรรม เจ้าของที่ดินถวายที่ดินให้วัดไปเรียบร้อยแล้ว ที่ดินเป็นของวัดแล้วตามเจตนาอันเป็นกฎกรรม
แต่กฎหมายตัดสินว่าที่ดินยังคงเป็นของผู้ถวาย-ตามเกณฑ์ของกฎหมาย
นี่คือกฎหมายใหญ่กว่ากฎกรรม
ถ้าใครจะวิจารณ์ว่า-นี่ถ้าจดทะเบียนโอนให้วัดเสียตั้งแต่ตอนนั้นก็จะไม่มีปัญหา-ก็เท่ากับยืนยันว่ากฎหมายใหญ่กว่ากฎกรรม (คือเจตนา) เพราะเกณฑ์ที่ว่าที่ดินจะเป็นของใครก็ต่อเมื่อจดทะเบียน-นั้น เป็นเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดขึ้นโดยกฎหมายไม่ได้คำนึงถึงผลที่สำเร็จแล้วตามเจตนาแห่งการให้ นั่นคือถ้าอ้างอย่างนี้ก็คือยืนยันว่ากฎหมายใหญ่กว่าเจตนานั่นเอง
……………………..
เรื่องที่สอง: ชายคนหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงคนผู้หนึ่งถึงแก่ความตายโดยเจตนา
เมื่อมีการฟ้องร้องในศาล เขาสามารถแสดงพยานหลักฐานให้ศาลเชื่อได้ว่า เขาไม่ได้ยิง เขาไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ในที่สุดศาลตัดสินว่าเขาไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง
ข้อเท็จจริงก็คือ ชายคนนี้มีเจตนาฆ่าคนจริง ตายจริง กรรมคือการฆ่าสำเร็จเป็นความจริงไปเรียบร้อยแล้ว
แต่กฎหมายตัดสินว่า เขาไม่มีความผิด
คำอธิบายที่นิยมพูดกันก็ว่า การฆ่าเป็นเรื่องจริง เป็นบาปตามหลักศาสนา เขาจะต้องได้รับผลบาป ก็เป็นเรื่องจริง ไม่ปฏิเสธ แต่ต้องแยกไว้ส่วนหนึ่ง
ส่วนการมีความผิดที่จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายนั้น ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ศาลตัดสินตามพยานหลักฐาน ไม่ได้ตัดสินตามข้อเท็จจริง เพราะศาลไม่สามารถตามไปดูข้อเท็จจริงได้ทุกเรื่อง
เพราะฉะนั้น จะบอกว่ากฎไหนใหญ่กว่ากฎไหนไม่ได้ ต้องบอกว่าต่างกฎต่างใหญ่ไปคนละทาง
อธิบายอย่างนี้ก็เลยมองได้ว่า กฎหมายก็มีเกณฑ์ของตัวเอง และเกณฑ์ของกฎหมายนั้นไม่แคร์กฎกรรม คือพยานหลักฐานหรือเกณฑ์ของกฎหมายสำคัญกว่ากรรมที่ทำสำเร็จแล้วจริงๆ
ตัวอย่างขำเครียดก็เช่น – แม้ผู้พิพากษาจะเห็นมากับตาตัวเองในขณะที่จำเลยกำลังทำความผิด แต่ถ้าพยานหลักฐานที่จำเลยนำมาแสดงพิสูจน์ได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำ ผู้พิพากษาคนนั้นแหละก็ต้องตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิด
ต่างกฎต่างใหญ่ไปคนละทางก็จริง แต่กฎไหนล่ะที่ใหญ่กว่า
……………………..
เรื่องที่เขียนมานี้เป็นเพียงชวนคิดดังๆ ญาติมิตรทั้งปวงอ่านแล้วโปรดเอาไปคิดเงียบๆ นะครับ อย่าคิดดัง
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔
๑๖:๕๗