ยาวชีวิก (บาลีวันละคำ 3,268)
ยาวชีวิก
สิ่งที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วชีวิต
อ่านว่า ยา-วะ-ชี-วิก
“ยาวชีวิก” บาลีอ่านว่า ยา-วะ-ชี-วิ-กะ
ประกอบด้วยคำว่า ยาว + ชีวิก
(๑) “ยาว”
บาลีอ่านว่า ยา-วะ เป็นคำจำพวก “นิบาต” ประเภทนิบาตบอกปริจเฉท คือบอกกำหนดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นักเรียนบาลีแปลกันว่า “เพียงใด”
“ยาว” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) จนถึง (จุดหนึ่ง), ไกลถึง, ไกลเพียงไร, ไกลจนกระทั่ง (up to [a point], as far as, how far, so far that)
(2) อย่างไร, เท่าไร, ขนาดไหน หรือขนาดใด, มากเท่าไร (how, how much, to which or what extent, as great or as much as)
(3) ตราบเท่าที่, ในขณะที่, จนกระทั่ง (so long as, whilst, until)
(๒) “ชีวิก”
บาลีอ่านว่า ชี-วิ-กะ รูปคำเดิมมาจาก ชีว + อิก ปัจจัย
(ก) “ชีว” (ชี-วะ) รากศัพท์มาจาก ชีวฺ (ธาตุ = มีชีวิต) + อ (อะ) ปัจจัย
: ชีวฺ + อ = ชีว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีชีวะ” หมายถึง ชีวิต (life)
(ข) ชีว + อิก = ชีวิก แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยชีวะ”
ยาว + ชีวิก = ยาวชีวิก บาลีอ่านว่า ยา-วะ-ชี-วิ-กะ แปลตามศัพท์ว่า “-ที่เก็บไว้ได้ชั่วอายุ” หมายถึง ตลอดชีวิต, ชั่วชีวิต, ระหว่างชีวิตของสิ่งนั้น (as long as life lasts, for life, during [its] lifetime)
ขยายความว่า สิ่งนั้นมีคุณภาพหรือมีสรรพคุณอยู่ได้กี่เดือนกี่ปีจึงจะเสื่อมหรือหมดคุณภาพ ก็เก็บไว้ได้ชั่วอายุของมัน
“ยาวชีวิก” เป็นศัพท์ทางวิชาการ หรือคำวัด แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ยังอุตส่าห์เก็บไว้ บอกไว้ดังนี้ –
“ยาวชีวิก : (คำนาม) ของที่พระสงฆ์เก็บไว้ฉันได้เสมอไป ไม่มีจํากัดกาล, ตามวินัยบัญญัติได้แก่ของที่ใช้ประกอบเป็นยาสงเคราะห์เข้าในคิลานปัจจัย. (ดู กาลิก). (ป.).”
ตามไปดูที่คำว่า “กาลิก” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –
“กาลิก : (คำนาม) ของที่พระสงฆ์เก็บไว้ฉันได้ตามเวลาที่กําหนดให้ มี ๓ อย่าง คือ ๑. ยาวกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ได้แก่ข้าวปลาอาหาร ๒. ยามกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ได้แก่นํ้าอัฐบาน ๓. สัตตาหกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียง ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕. (ป.).”
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ บอก “กาลิก” ไว้ 3 อย่าง คือ ยาวกาลิก, ยามกาลิก, สัตตาหกาลิก ไม่มี “ยาวชีวิก”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “กาลิก” อธิบายขยายความไว้ดังนี้ –
“กาลิก : เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ
๒. ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต
๓. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่เภสัชทั้งห้า
๔. ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น (ความจริง ยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน).”
…………..
หมายเหตุ:
บาลีวันละคำแสดงความหมายของศัพท์ให้เข้าใจเป็นพื้นฐานเท่านั้น รายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับ “ยาวชีวิก” พึงศึกษาตามหลักพระธรรมวินัยต่อไป
ดูประกอบ:
“ยามกาลิก” บาลีวันละคำ (1,891) 13-8-60
“สามปักกะ” บาลีวันละคำ (2,474) 22-3-62
“อันโตวุตถะ” บาลีวันละคำ (2,475) 23-3-62
“อันโตปักกะ” บาลีวันละคำ (2,476) 24-3-62
“อุคคหิตก์” บาลีวันละคำ (3,265) 21-5-64
“ยาวกาลิก” บาลีวันละคำ (3,266) 22-5-64
“สัตตาหกาลิก” บาลีวันละคำ (3,267) 23-5-64
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชีวิตคนมีอายุไม่พ้นร้อยปี
: แต่คุณงามความดีมีอายุไปชั่วกาลนาน
#บาลีวันละคำ (3,268)
24-5-64