บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ด่าแบบสร้างสรรค์

ด่าแบบสร้างสรรค์

——————-

ภาพประกอบเรื่องนี้เก็บมาจากสื่อที่เผยแพร่กันทั่วไป ผมไม่ได้มีเจตนาจะสนับสนุนหรือคัดค้านใคร แต่มีเจตนาจะชวนให้คิด-ตามแบบของผม

กิริยาท่าทางของบุคคลในภาพที่กำมือแล้วชูนิ้วกลางขึ้นมานิ้วเดียวเป็นที่เข้าใจกันทั่วโลกว่าเป็นการด่า มีผู้อธิบายว่า ตรงกับที่คนไทยพูดกันว่า “ให้อวัยวะเพศ” 

ท่านที่รู้ธรรมเนียมการด่าของคนไทยคงเข้าใจตรงกันนะครับว่า “ให้อวัยวะเพศ” -เช่นคำว่าอะไรบ้าง 

ประเด็นที่ผมอยากชวนให้คิดก็คือ เรามักเข้าใจกันว่า “ด่า” ก็คือต้องพูดคำนั้นออกมาเป็นเสียง หรือเขียนเป็นตัวหนังสือที่อ่านได้ว่าเป็นคำนั้น

แต่นักภาษาก็บอกเราว่า “ภาษา” ไม่ใช่มีแต่เสียงที่เปล่งออกมา หรือลายลักษณ์อักษรที่เขียนลงไปเท่านั้น แม้แต่กิริยาท่าทางและการใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายทำสัญลักษณ์ต่างๆ ก็นับว่าเป็น “ภาษา” ด้วยเช่นกัน เรียกกันว่า “ภาษาท่าทาง” (body language) 

ดังนั้น แม้ใคร-เช่นบุคคลในภาพนั้นเป็นต้น-จะอ้างว่า ฉันไม่ได้พูดฉันไม่เขียนด่าใครเลย —

แต่เมื่อใครก็ตามได้เห็นภาพนั้น ก็จะมีผลเท่ากับได้ยินเสียงด่า “ให้อวัยวะเพศ” หรือได้เห็นตัวหนังสือที่เขียนคำด่า “ให้อวัยวะเพศ” ด้วยทุกครั้งไป 

ถามว่า บุคคลในภาพต้องการจะด่าใคร? 

แม้จะมีข้อความบนแผ่นกระดาษที่ปิดบังใบหน้าอ่านได้ว่า “ราชภัฏฯ อยากงัดกับสลิ่ม” ซึ่งอาจอ้างได้ว่าเขาด่าเฉพาะ “สลิ่ม” เขาไม่ได้ด่าคนทั่วไป ใครที่ไม่ใช่ “สลิ่ม” อย่ามาเดือดร้อน 

ก็ควรจะต้องถามกันต่อไปอยู่นั่นเองว่า – ก็แล้วทำไมไม่เอากิริยาท่าทางนี้ชี้ใส่เฉพาะ “สลิ่ม”?

เอากิริยาแบบนี้มาชี้ให้สาธารณชนดูทำไม? 

เห็นสาธารณชนคือคนทั่วไปเป็น “สลิ่ม” อย่างนั้นหรือ?

แล้วถ้าเกิดมีคนตอบว่า – ใครอยากออกรับแทนก็ช่วยไม่ได้

ทีนี้ก็จะเกิด “วิวาทะ” ยืดยาวต่อไปอีก ซึ่งล้วนแต่ไม่สร้างสรรค์อันใดเลย

นี่เป็นมุมที่ผมขอชวนให้ช่วยกันมอง 

ช่วยกันมอง-เท่านั้นนะครับ 

อย่าไปปรุงเป็นชอบเป็นชังตัวบุคคล

………………

ถ้าใครยังคิดว่า การทำกิริยาท่าทางแบบนี้ไม่มีผลเป็นคำด่าและไม่มีผลเป็นการเขียนด่า ก็ขอให้ไปที่สังคมฝรั่ง แล้วจงไปทำกิริยาท่าทางแบบนี้ใส่ผู้คนที่พบเห็น-เหมือนกับที่ทำตามภาพนี้ 

ประเดี๋ยวท่านก็จะเห็นผลได้ด้วยตัวเอง

ถ้าผู้ทำกิริยาท่าทางแบบนี้คิดว่า เรื่องอะไรฉันจะต้องไปทำที่สังคมฝรั่ง ที่นี่เมืองไทย ฉันทำให้คนไทยดู ไม่ได้ทำให้ฝรั่งดู ฉันเอากิริยาด่าของฝรั่งมาด่าคนไทย 

ผู้ทำกิริยาท่าทางแบบนี้คิดว่าคนไทยโง่เง่าเต่าตุ่น ไม่รู้อรรถรสการด่าแบบฝรั่ง-กระนั้นหรือ? 

คงคล้ายๆ วิธีคิดอย่างหนึ่งของคนที่รู้ภาษาฝรั่ง นั่นคือ พอพูดอะไรที่เป็นคำหยาบคำด่า ก็เอาคำฝรั่งมาใส่แทนตรงนั้น นัยว่าเป็นการลดความเข้มข้นของอารมณ์หยาบได้วิธีหนึ่ง 

เดี๋ยวนี้นิยมวิธีใช้คำไทยเสียงไทยนั่นแหละ แต่เขียนเป็นอักษรฝรั่ง เช่น 

ไอ้ yet แม่ 

ใครอ่านก็รู้ว่าเจตนาจะด่าว่าอะไร แต่ใช้อักษรฝรั่งกรองความหยาบคายออกไปได้บ้าง

ใช้กิริยาด่าแบบฝรั่งมาด่าคนไทยด้วยกัน-ก็อุปมาคล้ายๆ แบบนี้ 

………………

ขอให้สังเกตด้วยว่า บุคคลในภาพใช้กระดาษเขียนข้อความที่ต้องการด่าปิดบังใบหน้าไว้ 

บอกถึงอะไร? 

ก็บอกว่า เขายังรู้จักอายหน้าอยู่บ้าง นั่นหมายถึงยังมีธาตุดีอยู่ในตัว

ถามว่า ถ้าบุคคลในภาพกำลังยกมือไหว้พระหรือไหว้ครูบาอาจารย์ กำลังใส่บาตร หรือกำลังพาคนชราข้ามถนน 

เขาจะปิดหน้าหรือไม่?

ไม่ปิดแน่นอน มีแต่จะยิ่งเปิดเผย ยิ่งอยากจะบอกชื่อเสียงเรียงนาม ลูกเต้าเหล่าใคร เดินไปข้างไหนให้มีคนชี้ชวนสะกิดกันดูด้วยซ้ำไป 

การที่ปิดหน้า ก็แปลได้ว่าเจ้าตัวเองก็รู้อยู่เต็มอกว่า การทำกิริยาท่าทางแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดี เขาจึงปิดบังเพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าเขาทำ 

แต่ถ้าคิดให้ลึกสักนิดก็จะเห็นว่า การปิดบังใบหน้าไม่ได้ช่วยอะไรเลย 

การด่ากันด้วยกิริยาท่าทางแบบนี้ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่-ใครทำ 

แต่อยู่ที่-ทำอะไร 

จะรู้ว่าใครเป็นคนทำหรือไม่รู้ ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะตัวการกระทำนั่นเองได้เปิดเผยตัวตนของผู้ทำอยู่แล้วในตัว 

วิธีปิดที่ถูกจึงไม่ใช่ปิดแค่ใบหน้า แต่ต้องปิดที่การกระทำ คืออย่าทำให้ใครเห็น 

แต่ไม่ให้ใครเห็น ก็ผิดเจตนาอีก เจตนาคือต้องการให้คนเห็นการกระทำ แต่คนทำอายหน้า

จึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง

ถ้าจะอาย ไม่ใช่อายแค่ใบหน้า 

แต่ต้องอายที่การกระทำทั้งหมดนั่น

ถ้าไม่มีการกระทำ-ที่ผู้ทำก็รู้เต็มๆ ว่าไม่ดี-ก็ไม่ต้องอายหน้า และไม่ต้องปิดหน้า เพราะไม่ได้ทำอะไรที่จะต้องอาย

ถ้าทำอย่าอาย

ถ้าอายอย่าทำ 

ง่ายๆ สั้นๆ ตรงไปตรงมา

………………

แต่ถ้า-ไม่ทำก็ไม่ได้ อัดอั้นตันใจ อยากจะด่า 

ผมขอเสนอวิธีด่าแบบชาวอริยกะ 

เป็นการด่าแบบสร้างสรรค์

ด่าแบบชาวอริยกะ ด่าอย่างไร ขอยกตัวอย่างมาเสนอให้ฟังกันเลย ฟังแล้วค่อยอธิบาย

…………………

อาหารนิทฺทา  ภยเมถุนญฺจ

สามญฺญเมตปฺปสุภี  นรานํ

ธมฺโมว  เตสํ  อธิโก  วิเสโส

ธมฺเมน  หีนา  ปสุภี  สมานา.

(อาหาระนิททา  ภะยะเมถุนัญจะ

สามัญญะเมตัปปะสุภี  นะรานัง

ธัมโมวะ  เตสัง  อะธิโก  วิเสโส

ธัมเมนะ  หีนา  ปะสุภี  สะมานา.)

กิน นอน กลัว สืบพันธุ์

มีเสมอกันทั้งคนและสัตว์

ธรรมะทำให้คนประเสริฐเหนือสัตว์

เสื่อมจากธรรม คนก็ต่ำเท่ากับสัตว์

…………………

คำบาลีสี่บรรทัด หรือคาถาบทนี้ ผมได้รับมาจากท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง ยอดอนุศาสนาจารย์กองทัพอากาศ สมัยที่ผมไปเรียนบาลีที่วัดสามพระยา กรุงเทพฯ ระหว่างปี ๒๕๑๓-๒๕๑๔

ท่านอาจารย์แย้มเป็นอาจารย์สอนวิชาแต่งฉันท์ประโยค ป.ธ.๘ 

วันหนึ่งท่านยกคาถาบทนี้มาประกอบการสอน ผมก็จำเอามาตั้งแต่บัดนั้น

ท่านอาจารย์ไม่ได้บอกหรอกว่านี่เป็นคำด่าแบบชาวอริยกะ ผมมาต่อยอดเอาเองตามแนวคิดของผม 

ไม่ใช่เห็นต่าง

แต่เห็นต่อ

อาจมีปัญหาอยู่บ้าง นั่นคือคนที่ไม่รู้เรื่องจะรู้หรือว่านี่เป็นคำด่า 

เพราะฉะนั้น ก็ต้องอธิบาย

อธิบายให้คนที่เราด่าฟังว่า –

คนกับสัตว์นี่มันเหมือนกันอยู่ ๔ อย่างนะเว้ยเฮ้ย 

คำของชาวอริยกะแปลเป็นไทยว่า “กิน นอน กลัว สืบพันธุ์”

ใกล้เคียงกับคำคะนองของนักเลงไทยที่พูดกันว่า “กิน ขี้ ปี้ นอน”

กิน-ตรงกับ-อาหาร = กิน 

ขี้-ไม่มีคำตรง

ปี้-ตรงกับ-เมถุน = สืบพันธุ์

นอน-ตรงกับ-นิทฺทา = นอน

สิ่งที่ทำให้คนประเสริฐเหนือสัตว์ก็คือ “ธรรม” 

คือความรู้จักผิดชอบชั่วดีถี่ห่างคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้ว่านี่พ่อแม่ นี่ครูบาอาจารย์ นี่ลูกหลาน นี่ผู้ใหญ่ผู้น้อย นี่ที่สูงนี่ที่ต่ำ รู้เว้นการควรเว้น รู้ประพฤติการควรประพฤติ ฯลฯ

ถ้าคนเสื่อมจากธรรมดังกล่าวมานี้ คนก็ต่ำเท่ากับสัตว์ 

คือรู้จักแต่จะกินขี้ปี้นอน-เหมือนกับที่สัตว์มันก็รู้จักเท่านั้น 

อื่นใดจากนี้ไม่รับรู้ทั้งสิ้น 

นึกออกหรือยังครับว่า-ความที่อธิบายมานี้ถอดเป็นคำด่าว่ากระไร

ผมว่าคำไทยที่ตรงที่สุด คือ “ไอ้สัตว์”

คำที่ตรงหนักเข้าไปอีก – “ไอ้เดรัจฉาน”

ขอย้ำว่า ไม่ได้บอกให้ใครไปด่าใครเป็นคำไทยแบบนี้นะครับ 

แต่แนะนำให้พูดเป็นคำบาลีข้างต้น-ซึ่งมีความหมายตรงกับคำด่าแบบไทย

แล้วก็-อย่าลืมเงื่อนไขสำคัญด้วยนะครับ 

ด่าแบบชาวอริยกะ ไม่ใช่ด่ากราดไปหมด

ใครเสื่อมจากธรรม โดน

ใครไม่เสื่อมจากธรรม ไม่โดน 

แต่ไม่ว่าจะโดนหรือไม่โดน ล้วนแต่ได้คติธรรม

เป็นการด่าแบบสร้างสรรค์โดยแท้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๒:๒๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *