บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำปลอบใจผู้สอบตก

มีญาติมิตรท่านหนึ่งสอบบาลีไม่ผ่าน ก็คือสอบตกนั่นแหละ ท่านรำพึงรำพันถึงการสอบตกหลายอย่าง แต่ลงท้ายก็คือจะสอบต่อไป ไม่ท้อ ไม่เลิก

น่าชมน้ำใจ ขอปรบมือให้ดังๆ 

ผมแนะนำไปว่า ตอนนี้พักผ่อนสักเดือนหนึ่ง เข้ากรรมฐานดีที่สุด หลังจากนั้นให้ลงมือ “ดูหนังสือสะสม” ทันที และให้ทำเป็นกิจวัตร อย่าทำเป็นกิ้งก่าวิ่ง กำหนดเวลาดูหนังสือให้แน่นอน รักษากติกาให้เคร่งครัด ไม่ต้องหักโหม สบายๆ กิจวัตรในชีวิตประจำวันก็ให้ทำไปตามปกติ อย่าละเลย ทำอย่างนี้ตลอดปีจนถึงวันสอบในปีหน้า

ผมยังบอกต่อไปอีกว่า – ผมก็เคยสอบตก คนเคยสอบตกจะเข้าใจสภาพจิตของคนสอบตกได้ดี เพื่อนผมท่านหนึ่งสอบตก ป.ธ.๙ ชั้นเดียว ๒๒ ปี ปีที่ ๒๓ สอบได้ สุดยอดของผู้มีความเพียร

ผมอยากชวนให้พวกเราตั้งอารมณ์ในการเรียนบาลีกันใหม่ คือเรียนโดยมุ่งเอาความรู้ไปใช้งาน เป้าหมายอยู่ที่ศึกษาพระไตรปิฎก เรียนโดยตั้งอารมณ์แบบนี้สอบได้หรือสอบตกไม่มีผลอะไร เพราะวัดผลกันที่มีความรู้พอใช้งานได้หรือยัง เรียนนานวันความรู้ก็เพิ่มขึ้นไม่ตกหล่นหายไปไหน วันหนึ่งก็จะถึงระดับที่สามารถใช้งานได้จริง

เวลานี้เราพลาดกันตรงนี้ ตรงที่เรียนเพื่อสอบได้ แต่ไม่ได้เอาไปใช้งานจริง เราจึงมีพระเณรที่สอบได้จำนวนมากพอสมควร แต่พระเณรที่เอาความรู้บาลีไปใช้งานจริง-คือศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก-มีน้อยอย่างยิ่งจนแทบจะพูดได้ว่าไม่มีเลย เหมือนคนเรียนจบหมอ แต่ไม่เคยรักษาคนป่วย

เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้ไปศึกษาพระไตรปิฎก เป็นการเรียนบาลีเพื่อรักษาพระศาสนา ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ถูกต้องของการเรียนบาลี 

เรียนเพื่อสอบได้ก็ยังคงเรียนกันต่อไปเหมือนเดิม เพียงแต่ขอให้เพิ่ม-เรียนเพื่อเอาความรู้ไปศึกษาพระธรรมวินัยคือพระไตรปิฎก-ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง

ฝรั่งเขาเรียนบาลีทีหลังเรา ไม่มีใครสอบเหมือนเราได้สักประโยค แต่เขาสามารถแปลพระไตรปิฎกให้คนทั้งโลกอ่านได้ 

ของเราสอบได้กันคนละหลายๆ ประโยค แต่ไปไม่ถึงพระไตรปิฎก

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๙ เมษายน ๒๕๖๔

๑๑:๓๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *