ถวายสัตย์ปฏิญาณ (บาลีวันละคำ 1,283)
ถวายสัตย์ปฏิญาณ
ประกอบด้วย ถวาย + สัตย์ + ปฏิญาณ
(๑) “ถวาย”
เป็นคำไทย ดูพจนานุกรมเป็นการประดับความรู้ :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ถวาย : (คำกริยา) ให้, มอบให้, เช่น ถวายของ (ใช้แก่พระสงฆ์หรือเจ้านาย); ให้ดู, ให้ชม, เช่น รําถวายมือ เล่นถวายตัว, แผลงเป็น ดงวาย หรือ ตังวาย ก็ได้.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็น –
“ถวาย : (คำกริยา) ให้, มอบให้, เช่น ถวายของ (ใช้แก่ พระสงฆ์); ให้ดู, ให้ชม, เช่น รำถวายมือ เล่นถวายตัว, แผลงเป็น ดงวาย หรือ ตังวาย ก็ได้; (ราชาศัพท์) ให้, มอบให้, (ใช้แก่สมเด็จเจ้าฟ้าลงมาจนถึงหม่อมเจ้า), ให้สิ่งที่เป็นนามธรรมแก่พระมหากษัตริย์และเจ้านาย เช่น ถวายพระพร ถวายชีวิต.”
(๒) “สัตย์”
บาลีเป็น “สจฺจ” (สัด-จะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ส (แทนศัพท์ สนฺต = คนดี) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลบ อู ที่ ภู (ภู > ภ, สูตรไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”) แปลง ภฺย เป็น จฺจ
: ส + ภู + ณฺย = สภูณฺย >สภณฺย > สภฺย > สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีในคนดีทั้งหลาย” (สัจจะจึงต้องเป็นไปในทางดี)
(2) สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + จ ปัจจัย, ลบ รฺ ซ้อน จฺ
: สรฺ > ส + จฺ + จ = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนทุกข์” (สัจจะจึงต้องใช้เพื่อแก้ทุกข์ คือแก้ปัญหา)
“สจฺจ” เป็นคำนาม แปลว่า ความจริง (the truth), การยืนยันแน่นอน (a solemn asseveration), เป็นคุณศัพท์ แปลว่า จริง, แท้ (real, true), เป็นคำขยายกริยา แปลว่า โดยจริง, จริง ๆ, อย่างแน่นอนหรือแน่แท้ (truly, verily, certainly)
สจฺจ สันสกฤตเป็น “สตฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(1) สตฺย : (คำนาม) ‘สัตย์’ ความจริง; ประติชญาหรือคำสบถ; การกล่าวความจริง; ความวิศุทธิหรือความจริงใจ true; an oath; speaking the truth; sincerely, or veracity.
(2) สตฺย : (คุณศัพท์) ‘สัตย์’ จริง, มีสัตย์; วิศุทธ์, สุจริต, ศุทธมติ, หรือกล่าวความจริง; true; sincere, honest, speaking the truth.
สจฺจ > สตฺย ในภาษาไทยออกเสียงว่า สัด เขียนเป็น “สัตย์”
(๓) “ปฏิญาณ”
บาลีเป็น “ปฏิญฺญาณ” (ปะ-ติน-ยา-นะ) รากศัพท์มาจาก ปฏิ (เฉพาะ, ตอบ) + ญา (ธาตุ = รู้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ, ซ้อน ญฺ
: ปฏิ + ญฺ + ญา = ปฏิญฺญา + ยุ > อน = ปฏิญฺญาน > ปฏิญฺญาณ แปลตามศัพท์ว่า “การรู้เฉพาะ” หมายถึง การรับรู้, การเห็นด้วย, การสัญญา, การปฏิญาณ, การยินยอม, การอนุญาต (acknowledgment, agreement, promise, vow, consent, permission)
หมายเหตุ : คำนี้ในบาลีทั่วไปใช้ในรูป “ปฏิญฺญา” (ปะ-ติน-ยา)
ปฏิญฺญาณ ในภาษาไทยใช้ว่า “ปฏิญาณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิญาณ : (คำกริยา) ให้คำมั่นสัญญา โดยมากมักเป็นไปตามแบบพิธี เช่น พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของข้าราชการเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา. (ส. ปฺรติชฺญาน).”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ปฺรติชฺญาน : (คำนาม) ‘ประติชญาน, ประติญาน,’ สัญญา, คำมั่นสัญญา, ความยินยอม; promise, agreement, assent.”
“ถวายสัตย์ปฏิญาณ” เป็นการเอาคำว่า ถวาย + สัตย์ + ปฏิญาณ มาเรียงกันในภาษาไทย มีความหมายว่า “ให้คำมั่นสัญญา” หรือแปลให้เป็นคำสมาสว่า “ให้คำสัญญาที่เป็นความสัตย์จริง” หรือ “การกล่าวแสดงความสัตย์จริงและคำมั่นสัญญา” (ว่าจะ-อย่างนั้นอย่างนี้)
: ความสัตย์ที่ออกมาจากปาก
: หาไม่ยากเท่ากับที่ออกมาจากหัวใจ
3-12-58