ชักบังสุกุล (บาลีวันละคำ 3,240)
ชักบังสุกุล
ไม่ใช่ “พิจารณาผ้า”
อ่านว่า ชัก-บัง-สุ-กุน
ประกอบด้วยคำว่า ชัก + บังสุกุล
(๑) “ชัก”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชัก ๑ : (คำกริยา) [1] ดึงสายเชือกเป็นต้นที่ผูกอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้สิ่งนั้นเคลื่อนไหวไปตามต้องการ เช่น ชักธงขึ้นเสา; [2] ดึง, ดึงออกมา, เช่น ชักดาบออกจากฝัก ชักลิ้นชักโต๊ะ; [3] ดึงเอามา เช่น ชักผ้าป่า ชักผ้าบังสุกุล; [4] ดึงออกแล้วดันเข้า เช่น ชักสูบ; [5] นำเอามาอ้าง, ยกเอามาอ้าง, เช่น ชักตัวอย่าง; [6] เอาออก, หักออก, เช่น ชักค่าอาหาร ชักค่านายหน้า; [7] ขยายแนวให้ยาวออกไป เช่น ชักปีกกา ชักกำแพง ชักแนวค่าย; [8] สี เช่น ชักซอ; [9] กระตุก เช่น ชักจ้องหน่อง. [10] (คำวิเศษณ์) ค่อนข้าง, เกือบ, เริ่ม, เช่น ชักโกรธ ชักหิว.”
(๒) “บังสุกุล”
บาลีเป็น “ปํสุกูล” อ่านว่า ปัง-สุ-กู-ละ
(1) “ปํสุ” รากศัพท์มาจาก ปํสฺ (ธาตุ = พินาศ, เสียหาย) + อุ ปัจจัย
: ปํสฺ + อุ = ปํสุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังของสวยงามให้เสียไป” หมายถึง ฝุ่น, ขยะ, สิ่งสกปรก, ดินร่วน (dust, dirt, soil)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “ปำสุ” บอกไว้ว่า –
“ปำสุ : (คำนาม) ‘ปางสุ,’ ธุลี, ละอองผง ปุ๋ย; dust; manure.”
(2) “ปํสุกูล” รากศัพท์มาจาก ปํสุ (ฝุน, ขยะ) + กุ (เลว, น่าเกลียด) + อุลฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ อุ ที่ กุ (กุ > ก) ทีฆะ อุ ที่ อุ-(ลฺ) เป็น อู (อุลฺ > อูล)
: ปํสุ + กุ = ปํสุกุ > ปํสุก + อุลฺ = ปํสุกุล > ปํสุกูล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่ถึงภาวะที่น่าเกลียดเหมือนฝุ่นละออง” หมายถึง ผ้าเปื้อนฝุ่น, ผ้าจากกองขยะ (rags from a dust heap)
“ปํสุกูล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บังสุกุล”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“บังสุกุล : (คำนาม) เรียกผ้าที่พระภิกษุชักจากศพ หรือที่ทอดไว้หน้าศพ หรือที่ทอดบนด้ายสายสิญจน์หรือผ้าภูษาโยงที่ต่อจากศพด้วยการปลงกรรมฐานว่า ผ้าบังสุกุล, เรียกกิริยาที่พระภิกษุชักผ้าเช่นนั้นว่า ชักบังสุกุล, (ปาก) บังสกุล ก็ว่า. (ป. ปํสุกูล ว่า ฝั่งแห่งฝุ่น, กองฝุ่น, คลุกฝุ่น; ส. ปําสุกูล).”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเล็กน้อย เป็น –
“บังสุกุล : (คำนาม) เรียกผ้าที่พระภิกษุชักจากศพ หรือที่ทอดไว้หน้าศพ หรือที่ทอดบนด้ายสายสิญจน์หรือผ้าโยงที่ต่อจากศพด้วยการปลงกรรมฐาน ว่า ผ้าบังสุกุล, เรียกกิริยาที่พระภิกษุชักผ้าเช่นนั้น ว่า ชักบังสุกุล. (ป. ปํสุกูล ว่า ฝั่งแห่งฝุ่น, กองฝุ่น, คลุกฝุ่น; ส. ปําสุกูล).”
ข้อสังเกต :
โปรดสังเกตว่า ในพจนานุกรมฯ ฉบับ 54 ตัดคำว่า “(ปาก) บังสกุล ก็ว่า” ในคำนิยามของพจนานุกรมฯ ฉบับ 42 ออกไป
นั่นแปลว่า พจนานุกรมฯ ไม่ยอมรับอีกต่อไปว่า คำว่า “บังสุกุล” นี้ใช้ว่า “บังสกุล” ก็ได้ โดยอยู่ในฐานะเป็น “ภาษาปาก”
เท่ากับยืนยันว่า คำนี้ต้องใช้อิงรูปคำเดิมในบาลีว่า “บังสุกุล” เท่านั้น ไม่ใช่ “บังสกุล” (บังสุ– ไม่ใช่ บังส-)
คำว่า “ชักบังสุกุล” ที่เอามาเขียนเป็นบาลีวันละคำยกมาจากคำในบทนิยามของพจนานุกรมฯ ที่คำว่า “บังสุกุล”
แต่ที่คำว่า “ชัก” ที่ยกมาอ้างข้างต้น ในข้อ [3] พจนานุกรมฯ ใช้คำว่า “ชักผ้าบังสุกุล” (มีคำว่า “ผ้า” ด้วย)
ชัก + บังสุกุล = ชักบังสุกุล แปลว่า “ดึงผ้าบังสุกุลเอามา”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “ชักบังสุกุล” มีความเป็นมาอย่างไร?
ควรทราบก่อนว่า คำว่า “ชักบังสุกุล” หรือ “ชักผ้าบังสุกุล” นี้ คนเก่าเรียกกันสั้นๆ ว่า “ชักผ้า”
สมัยก่อน พอมีงานเผาศพ เจ้าภาพจะนิมนต์พระบางรูปที่คุ้นเคยไป “ชักผ้า” คือระบุตรงๆ ว่างานนี้ขอนิมนต์ท่านไปชักผ้า (เหมือนกับที่ในบัดนี้เจ้าภาพบางรายก็นิยมนิมนต์พระเถระผู้ใหญ่บางรูปไปในงานศพเพื่อไป “พิจารณาผ้า” โดยเฉพาะ)
พระรุ่นเก่าท่านก็จะพูดกันว่า “โยมนิมนต์ไปชักผ้า”
ไม่มีใครพูดว่า “โยมนิมนต์ไปพิจารณาผ้า”
เรื่องนี้ต้องสาวไปหาเหตุจึงจะเข้าใจความหมายของคำ
เดิมที เครื่องนุ่งห่มของภิกษุในพระพุทธศาสนาได้มาจากผ้าที่คนทิ้งแล้ว เรียกว่า “ผ้าบังสุกุล” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “ผ้าคลุกฝุ่น” ก็คือผ้าที่เขาทิ้งไว้กับดิน
ภิกษุต้องเที่ยวเลือกเก็บผ้าเช่นนั้นเลือกเอาแต่ส่วนที่ยังพอใช้ได้มาซักย้อมเย็บเข้าเป็นผืนพอเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม
ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อลดละความต้องการเสื้อผ้าที่งดงามหรูหราเป็นการฝึกหัดขัดเกลาตัวเองในชีวิตประจำวัน
ชาวบ้านที่มีศรัทธา รู้กฎกติกาของพระ ประสงค์จะสงเคราะห์พระให้ได้ความสะดวกบ้างตามควรแก่เหตุ ก็จึงทำอุบายเอาผ้าไปทอดหรือพาดวางไว้ตามกิ่งไม้ตามทางที่รู้ว่า-หรือคาดว่า-พระท่านจะผ่าน เป็นทีว่าเป็นผ้าทิ้งแล้ว
เวลาพระไปพบผ้าเช่นนี้ ท่านก็จะ “ชัก” คือดึงออกมาจากที่ที่วางหรือพาดไว้นั้น ก่อนชักก็จะพูดดังๆ ว่า “อิมัง วัตถัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ” พูดดังๆ อย่างนี้ ๓ เที่ยว เมื่อเห็นว่าไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของแน่แล้วท่านจึงจะ “ชัก” เอาไป
คำที่พระท่านพูดนั้นแปลเป็นไทยว่า “ผ้าผืนนี้ไม่มีเจ้าของ ตกเป็นของข้าพเจ้า” หรือแปลให้ชัดกว่านี้ ผ้าไม่มีเจ้าของ ฉันเอานะ
เวลาชักผ้าป่า พระรุ่นเก่าท่านจะว่าคำที่ว่านี้ เพราะผ้าป่าก็คือผ้าที่ทอดทิ้งไว้ตามทาง ต้นกำเนิดมาจากผ้าบังสุกุลดังกล่าวแล้ว
แต่เวลานี้ ชักผ้าป่าได้ยินพระท่านใช้บท “อนิจจา วะตะ สังขารา …” อันเป็นบทพิจารณาสังขาร
ตรงนี้ก็มีเรื่องที่งอกออกมาจากผ้าบังสุกุล นั่นคือ ในบรรดาแหล่งที่พระท่านจะหาผ้าได้ นอกจากกองขยะแล้วก็ยังมีตามป่าช้าอีกแหล่งหนึ่ง คือผ้าที่ห่อศพซึ่งไม่มีใครต้องการแล้ว ประกอบกับพระที่เจริญอสุภกรรมฐานท่านก็มักจะหาโอกาสไปพิจารณาซากศพตามป่าช้าด้วย ถ้ามีผ้าอยู่กับศพท่านก็จะหาวิธี “ชัก” เอาไปพร้อมไปกับพิจารณาซากศพเป็นการเจริญพระกรรมฐานไปด้วย
ญาติของผู้ตายที่รู้กฎกติกาของพระก็จะถือโอกาสเอาผ้าไปคลุมหรือพาดไว้ที่ศพ แล้วนิมนต์พระไป “พิจารณา” ศพ เพื่อให้พระได้ชักเอาผ้านั้นไปทำจีวรต่อไป ได้ประโยชน์ ๒ ทาง คือได้เจริญอสุภกรรมฐานด้วย ได้ผ้าไปทำจีวรด้วย
ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา (อรรถกถาธรรมบท) มีเรื่อง-เวลามีคนเอาศพมาทิ้งที่ป่าช้า คนเฝ้าป่าช้าจะนิมนต์พระที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าช้าไปพิจารณาศพ และเรื่องนางสิริมาหญิงงามเมือง (น้องสาวหมอชีวก) ถึงแก่กรรม พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ภิกษุไปพิจารณาศพ – เป็นพยานเรื่องที่ว่านี้
การทอดผ้าในงานศพมีปฐมเหตุมาจากเรื่องดังที่ว่ามานี้
จะเห็นได้ว่า เดิมทีนั้นพระไป “พิจารณาศพ” แล้ว “ชักผ้า”
ปัจจุบันการจัดการศพทำด้วยวิธีมิดชิด มองไม่เห็นศพ เวลาทอดผ้าก็ไม่ได้ทอดที่ตัวศพ (เมื่อก่อนยังเคยเห็นทอดผ้าที่โลงศพซึ่งยังพอนึกภาพออกว่ามีศพอยู่ในนั้น) พระไปพิจารณาก็เห็นแต่ผ้า ไม่ได้เห็นศพ
คำว่า “พิจารณาศพ” ก็เลยถูกเปลี่ยนเป็น “พิจารณาผ้า” ซึ่งคลาดเคลื่อนจากความมุ่งหมายเดิม เพราะสิ่งที่จะต้องพิจารณาคือ “ศพ” ส่วน “ผ้า” นั้นไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องพิจารณา
และถ้าอธิบายแก้ว่า คำว่า “พิจารณาผ้า” ใช้ได้ เพราะมีหลักอยู่ว่าให้ภิกษุ “พิจารณา” ขณะรับปัจจัย ขณะใช้สอยปัจจัย และแม้เมื่อใช้สอยปัจจัยนั้นๆ แล้วท่านก็ให้พิจารณา
“พิจารณาผ้า” ขณะทำพิธีทอดผ้าเป็นการพิจารณาในขณะรับปัจจัย ถูกต้องตามหลัก จึงใช้ได้ ไม่ผิด
ถ้าอ้างหลักนี้ คำ “พิจารณาผ้า” ก็ต้องใช้ว่า —
ปฏิสังขา โยนิโส จีวะรัง ปะฏิเสวามิ …
หรือ – ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง …
หรือ – อัชชะ มะยา อะปัจจะเวกขิต๎วา ยัง …
ไม่ใช่ – อะนิจจา วะตะ สังขารา …
กลายเป็นว่า จะต้องปรับแก้อะไรต่อมิอะไรยุ่งเหยิงต่อไปอีก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่ศึกษาสืบทอดของเก่า
: ก็จะคลาดเคลื่อนจากโคตรเค้าของตนไปทุกทีๆ
#บาลีวันละคำ (3,240)
26-4-64