กริยา คือ verb (บาลีวันละคำ 3,276)
กริยา คือ verb
ถ้าหมายถึง the doing หรือ action ต้องเป็น “กิริยา”
มีคำ 2 คำในภาษาไทย ที่มีปัญหา คือ “กริยา” และ “กิริยา”
ปัญหาคือ ในที่เช่นไรใช้ “กริยา” และในที่เช่นไรใช้ “กิริยา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำทั้ง 2 ไว้ดังนี้ –
(1) กริยา : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คําที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม. (ส. กฺริยา; ป. กิริยา).
(2) กิริยา : (คำนาม) การกระทํา; อาการที่แสดงออกมาทางกาย, มารยาท เช่น กิริยานอบน้อม กิริยาทราม. (ป.).
สังเกตสักหน่อยก็จะจับหลักได้ นั่นคือ “กริยา” เป็นคำที่ใช้ในไวยากรณ์ ตรงกับคำอังกฤษว่า verb คือคําที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม
ถ้าหมายถึง การกระทํา; อาการที่แสดงออกมาทางกาย ต้องใช้ “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา”
ที่ใช้ผิดกันบ่อยๆ ก็คือ ต้องใช้ “กิริยา” แต่ไปใช้เป็น “กริยา”
“กิริยามารยาท” ไม่ใช่ “กริยามารยาท”
“ปฏิกิริยา” ไม่ใช่ “ปฏิกริยา”
“กิริยาอาการ” ไม่ใช่ “กริยาอาการ”
จับหลักง่ายๆ ว่า “กริยา” หมายถึงคำที่ใช้ในไวยากรณ์ คือ verb อื่นจากนี้ใช้ว่า “กิริยา” ทั้งสิ้น
พจนานุกรมฯ บอกว่า “กริยา” เป็นคำสันสกฤต “กิริยา” เป็นคำบาลี
ในบาลี “กิริยา” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อิ, ลง อิ อาคม ที่ ร, ลบ ณฺ ที่ ญฺย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กรฺ > กิร + อิ = กิริ + ณฺย = กิริณฺย > กิริย + อา = กิริยา แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ”
“กิริยา” ในบาลีมีความหมายว่า การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป, การสัญญา, การสาบาน, การอุทิศ, การตั้งใจ, คำปฏิญาณ; ความยุติธรรม (action, performance, deed; the doing, promise, vow, dedication, intention, pledge; justice)
ส่วน “กริยา” ในสันสกฤตเป็น “กฺริยา” (มีจุดใต้ กฺ)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“กฺริยา : (คำนาม) กริยา, การ, การกระทำ; อุบาย; ต้น, อาทิ, การตั้งขึ้น, การริเริ่มหรือลองทำดูที; การสเดาะเคราะห์หรือบรรเทาโทษ; การศึกษา; การบูชาหรือนมัสยา; วิจาร; กายกรรม; การวางยาบำบัดโรค, การรักษาพยาบาล; เครื่องมือ; อุตตรการย์หรืองารมโหรศพ; ศานติกริยา, เช่นสนานหรือการชำระกาย, ฯลฯ; การไต่สวนของศาล; กริยา (คำแสดงความกระทำ); กริยานาม; a act, action, acting; means; expedient; beginning or undertaking; atonement; expiation; study; worship; disquisition; bodily action; physical treatment, remedying; instrument; implement; obsequies, funeral rites; purificatory rites, as ablution, &c.; judicial investigation; a verb; a noun of action or verbal noun.”
ความจริงในบาลีก็มีรูปศัพท์ “กฺริยา” รากศัพท์เดียวกับ “กิริยา” แต่มีใช้น้อย
ข้อควรทราบ :
(1) “กิริยา” กับ “กริยา” แม้จะมาจากรากศัพท์เดียวกัน แต่ในภาษาไทยใช้ต่างกัน
– กิริยา (ก มีสระ อิ) = การกระทําทั่วไป; อาการที่แสดงออกมาทางกาย
– กริยา (ก ไม่มีสระ อิ) = คำแสดงอาการหรือบอกการกระทำของนามหรือสรรพนามในไวยากรณ์ เช่น “คนกินข้าว” (“คน” เป็น ประธาน, “กิน” เป็น กริยา, “ข้าว” เป็น กรรม)
(2) ถ้าไม่เกี่ยวกับภาษาในไวยากรณ์ดังกล่าวข้างต้น ใช้ว่า “กิริยา” ทั้งหมด ไม่ใช่ “กริยา”
(3) คําแสดงอาการของนามหรือสรรพนามในตำราบาลีไวยากรณ์โดยทั่วไปและที่เรียนกันในเมืองไทย ใช้ “กิริยา” ไม่ใช้ “กริยา” อย่างไวยากรณ์ไทย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เขียนผิดก็ไม่ตกนรก
: แต่ไม่ตกนรกด้วย เขียนถูกด้วย ดีกว่า
—————–
ตามไปอ่านบาลีวันละคำทั้งหมดได้ที่ลิงก์นี้:
#บาลีวันละคำ (3,276)
1-6-64