บาลีวันละคำ

วิปัตติ – วิปัสสิส (บาลีวันละคำ 3,275)

วิปัตติวิปัสสิส

ภาษาเสียง > ภาษาเขียน

ความผิดเพี้ยนก็ตามมา

มีญาติมิตรถามผู้เขียนบาลีวันละคำว่า ญาติของท่านพระราหูกำลังเสวยอายุ มีผู้รู้แนะนำให้สวด “วิปัตติ” ขอให้ช่วยหาบทสวดที่ถูกต้องให้ด้วย

ผู้เขียนบาลีวันละคำถามย้ำเพื่อความแน่ใจว่าให้สวดบทอะไร ญาติมิตรท่านนั้นก็ตอบย้ำว่า ให้สวด “วิปัตติ

ในสังคมชาววัด คำว่า “วิปัตติ” เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าคือบทอาราธนาพระปริตร เป็นคาถา 3 บท มีข้อความซ้ำกันทั้ง 3 บท แตกต่างกันตรงคำว่า สพฺพทุกฺข สพฺพภย สพฺพโรค แต่มีคำขึ้นต้นว่า “วิปัตติ-” เหมือนกันทั้ง 3 บท จึงมักเรียกกันสั้นๆ ว่าบท “วิปัตติ” (วิ-ปัด-ติ)

คำอาราธนาพระปริตร หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “วิปัตติ” มีข้อความดังนี้ –

…………..

เขียนแบบบาลี:

วิปตฺติปฏิพาหาย

สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา

สพฺพทุกฺขวินาสาย

ปริตฺตํ  พฺรูถ  มงฺคลํ.

วิปตฺติปฏิพาหาย

สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา

สพฺพภยวินาสาย

ปริตฺตํ  พฺรูถ  มงฺคลํ.

วิปตฺติปฏิพาหาย

สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา

สพฺพโรควินาสาย

ปริตฺตํ  พฺรูถ  มงฺคลํ.

เขียนแบบคำอ่าน:

วิปัตติปะฏิพาหายะ

สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะทุกขะวินาสายะ

ปะริตตัง  พ๎รูถะ  มังคะลัง.

วิปัตติปะฏิพาหายะ

สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะภะยะวินาสายะ

ปะริตตัง  พ๎รูถะ  มังคะลัง.

วิปัตติปะฏิพาหายะ

สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะโรคะวินาสายะ

ปะริตตัง  พ๎รูถะ มังคะลัง.

คำแปล:

เพื่อป้องกันความวิบัติ

เพื่อความสำเร็จแห่งสมบัติทั้งปวง

เพื่อความพินาศไปแห่งสรรพทุกข์

ขอพระคุณท่านจงสวดพระปริตรอันเป็นมงคลเถิด.

เพื่อป้องกันความวิบัติ

เพื่อความสำเร็จแห่งสมบัติทั้งปวง

เพื่อความพินาศไปแห่งสรรพภัย

ขอพระคุณท่านจงสวดพระปริตรอันเป็นมงคลเถิด.

เพื่อป้องกันความวิบัติ

เพื่อความสำเร็จแห่งสมบัติทั้งปวง

เพื่อความพินาศไปแห่งสรรพโรค

ขอพระคุณท่านจงสวดพระปริตรอันเป็นมงคลเถิด.

…………..

จะเห็นได้ว่า บท “วิปัตติ” นี้ ไม่ใช่บทสำหรับสวด เพราะไม่มีข้อความที่แสดงหลักธรรมใดๆ เป็นเพียงคำอาราธนาให้พระสงฆ์สวดพระปริตรที่เราเรียกกันว่า “เจริญพระพุทธมนต์”

แต่ในหมู่นักเล่นคาถาอาคม อาจมีผู้หยิบยกขึ้นมานับถือว่าเป็นบทขลังในทางใดทางหนึ่งก็เป็นได้

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนบาลีวันละคำอายุใกล้จะครบ 4 รอบนักษัตร มีพระภิกษุที่รอบรู้ทางโหราศาสตร์ได้เมตตาแนะนำว่า ควรสวดบท “วิปัสสิส” เพื่อรับพระราหูเสวยอายุ

บท “วิปัสสิส” มีชื่อจริงว่า “อาฏานาฏิยปริตร” เป็นบทที่มีเนื้อความนอบน้อมพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ ผู้เขียนบาลีวันละคำพิจารณาเห็นว่าเป็นบทที่มีความหมายเป็นมหาสิริมงคล จึงน้อมรับคำแนะนำ และได้ถือเป็นกิจวัตรสวดบท “วิปัสสิส” ในเวลาสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงบัดนี้

ผู้เขียนบาลีวันละคำแน่ใจว่า คำตอบที่ได้ยินจากญาติมิตรท่านนั้นว่า สวด “วิปัตติ” นั้น ที่ถูกคือ สวด “วิปัสสิส” นี่เอง

อนึ่ง คำว่า “วิปัสสิส” (ส เสือ สะกด) หนังสือส่วนมากสะกดผิดเป็น “วิปัสสิต” (ต เต่า สะกด)

อาฏานาฏิยปริตร หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “วิปัสสิส” มีข้อความเต็มๆ ยืดยาว ตัดมาสวดเฉพาะตอนที่ระบุพระนามพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ มีข้อความดังนี้ –

…………..

เขียนแบบบาลี:

วิปสฺสิสฺส นมตฺถุ

จกฺขุมนฺตสฺส สิรีมโต

สิขิสฺสปิ นมตฺถุ

สพฺพภูตานุกมฺปิโน.

เวสฺสภุสฺส นมตฺถุ

นฺหาตกสฺส ตปสฺสิโน

นมตฺถุ กกุสนฺธสฺส

มารเสนปฺปมทฺทิโน.

โกนาคมนสฺส นมตฺถุ

พฺราหฺมณสฺส วุสีมโต

กสฺสปสฺส นมตฺถุ

วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ.

องฺคีรสสฺส นมตฺถุ

สกฺยปุตฺตสฺส สิรีมโต

โย อิมํ ธมฺมมเทเสสิ

สพฺพทุกฺขาปนูทนํ.

เย จาปิ นิพฺพุตา โลเก

ยถาภูตํ วิปสฺสิสุํ

เต ชนา อปิสุณา

มหนฺตา วีตสารทา.

หิตํ เทวมนุสฺสานํ

ยํ นมสฺสนฺติ โคตมํ

วิชฺชาจรณสมฺปนฺนํ

มหนฺตํ วีตสารทํ

วิชฺชาจรณสมฺปนฺนํ

พุทฺธํ วนฺทาม โคตมนฺติ.

เขียนแบบคำอ่าน พร้อมคำแปล:

วิปัสสิสสะ นะมัตถุ

จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต

สิขิสสะปิ นะมัตถุ

สัพพะภูตานุกัมปิโน.

ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้าจงมีแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า

ผู้มีจักษุ มีสิริ

ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้าจงมีแด่พระสิขีพุทธเจ้า

ผู้มีปกติอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง

เวสสะภุสสะ นะมัตถุ

น๎หาตะกัสสะ ตะปัสสิโน

นะมัตถุ กะกุสันธัสสะ

มาระเสนัปปะมัททิโน.

ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้าจงมีแด่พระเวสสภูพุทธเจ้า

ผู้ล้างกิเลสหมดสิ้นแล้ว ผู้มีตบะ

ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้าจงมีแด่พระกกุสันธพุทธเจ้า

ผู้ย่ำยีเสียซึ่งมารและเสนา

โกนาคะมะนัสสะ นะมัตถุ

พ๎ราห๎มะณัสสะ วุสีมะโต

กัสสะปัสสะ นะมัตถุ

วิปปะมุตตัสสะ สัพพะธิ.

ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้าจงมีแด่พระโกนาคมนพุทธเจ้า

ผู้ลอยบาปหมดสิ้นแล้ว ผู้จบกิจแห่งพรหมจรรย์แล้ว

ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้าจงมีแด่พระกัสสปพุทธเจ้า

ผู้พ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง

อังคีระสัสสะ นะมัตถุ

สัก๎ยะปุตตัสสะ สิรีมะโต

โย อิมัง ธัมมะมะเทเสสิ

สัพพะทุกขาปะนูทะนัง.

ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้าจงมีแด่พระอังคีรสพุทธเจ้า

ผู้เป็นโอรสแห่งศากยราช ผู้มีสิริ

พระองค์ผู้ได้ทรงแสดงแล้วซึ่งธรรมนี้

อันเป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวง

เย จาปิ นิพพุตา โลเก

ยะถาภูตัง วิปัสสิสุง

เต ชะนา อะปิสุณา

มะหันตา วีตะสาระทา.

อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดก็ดี ที่ดับกิเลสแล้วในโลก

เห็นแจ้งธรรมตามเป็นจริง

พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้ไม่มีความส่อเสียด

มีคุณยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม

หิตัง เทวะมะนุสสานัง

ยัง นะมัสสันติ โคตะมัง

วิชชาจะระณะสัมปันนัง

มะหันตัง วีตะสาระทัง.

เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายนอบน้อมอยู่

ซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์ใดผู้เป็นโคตมโคตร

ผู้บำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ

ผู้มีคุณยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม

วิชชาจะระณะสัมปันนัง

พุทธัง วันทามะ โคตะมันติ.

ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนมัสการพระพุทธเจ้าผู้โคตมโคตร

ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะพระองค์นั้น.

…………..

คำว่า “วิปัตติ” เขียนแบบบาลีเป็น “วิปตฺติ” แปลทับศัพท์ว่า ความวิบัติ

คำว่า “วิปัสสิส” ตัดมาจากคำเต็มว่า “วิปัสสิสสะ” เขียนแบบบาลีเป็น “วิปสฺสิสฺส” (วิ-ปัด-สิด-สะ) เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง คือ “พระวิปัสสีพุทธเจ้า”

วิปสฺสี” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “วิปสฺสิสฺส” แปลว่า (ความนอบน้อมจงมี) “แก่พระวิปัสสีพุทธเจ้า”

จะสวด “วิปัตติ” หรือสวด “วิปัสสิส” ขอท่านทั้งปวงพึงพินิจพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

หัวใจของพิธีการ-พิธีกรรม:

: ใช้ศรัทธานำ ทำให้เกิดกำลังใจ

: ใช้ปัญญาหนุนเข้าไป ทำให้ได้สาระจากการทำ

#บาลีวันละคำ (3,275)

31-5-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *